ไม่ต้องไปถึงศิริราช “ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก” ก่อสร้างส่วนขยาย 200 เตียง ดูแล 8 จังหวัด

“ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก” เปิดให้บริการแก่ประชาชนมาตั้งแต่ปี 2549 บริเวณฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยมหิดล ถนนบรมราชชนนี ระหว่างถนนพุทธมณฑล สาย 4 ถึง สาย 5 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

ก่อนหน้านี้แม้จะเป็น 1 ใน 4 โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยมหิดล แต่อยู่ในสังกัดสำนักงานอธิการบดี แตกต่างจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ดูแลโรงพยาบาลศิริราช ส่วนโรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน จะมีคณะที่ดูแลโรงพยาบาลนั้นๆ

โดยบทบาทของโรงพยาบาลศิริราช จะเน้นรักษาอาการรุนแรง ซับซ้อน ให้บริการเขตสุขภาพที่ 5 ครอบคลุม 8 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์

ส่วนศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ให้บริการทางการแพทย์ทั่วไป และการรักษาเฉพาะทางในระดับไม่ซับซ้อน เช่น ด้านทันตกรรม การแพทย์แผนเอเชีย ฯลฯ

กระทั่งวันที่ 1 ต.ค. 2560 สภามหาวิทยาลัยมหิดล มีมติให้ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ย้ายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อเชื่อมต่อการให้บริการ 8 จังหวัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพด้านการเรียนการสอนและการฝึกอบรม รวมถึงพัฒนาระบบการบริหารโรงพยาบาลแบบองค์รวม เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยให้ได้รับบริการอย่างเท่าเทียมและครบวงจร

นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ยังอยู่ระหว่างโรงพยาบาลศิริราช กับโรงพยาบาลในพื้นที่ 8 จังหวัด ของเขตสุขภาพที่ 5 ภาคใต้ตอนบนอีกด้วย

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาศิริราชมีปัญหาผู้เข้ามารับบริการจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นโรคยาก ซับซ้อน อีกทั้งยังมีพื้นที่จำกัด

ขณะที่นักศึกษาแพทย์ ประสบปัญหาเรียนรู้โรคพื้นฐานที่มักพบในชุมชน เพราะรักษาแต่โรคที่ยากและซับซ้อน อีกทั้งชุมชนโดยรอบเป็นชุมชนเมือง มีปัญหาเรื่องการวิจัยส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ที่ต้องวิจัยในพื้นที่ชุมชน

ศิริราชเล็งศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งกลางระหว่างจังหวัดนครปฐม กับศิริราชมานานแล้ว มหาวิทยาลัยมหิดลให้ศิริราชเข้าไปดูแลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ดีขึ้น กระทั่งปีที่แล้วได้เข้ามาดูแลเต็มตัว

โดยได้เพิ่มศักยภาพศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกในการรักษาพยาบาล มุ่งเน้นการบริหารจัดการเชิงรุก โดยมีศิริราชในฐานะรุ่นพี่ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ เชื่อมโยงองค์ความรู้ และฝึกฝนอบรมต่อยอดวิชาชีพแก่กัน

นอกจากประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัด จะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแล้ว ยังขยายพื้นที่ให้นักศึกษาแพทย์และแพทย์ได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติ โดยมีบุคลากรศิริราชให้คำปรึกษาและร่วมวางแผนอีกด้วย

รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ระบุว่า นอกจากจะเพิ่มสถานที่ บุคลากร หรืออุปกรณ์รองรับผู้ป่วยแล้ว จะพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด

“ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง สามารถรับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โดยไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาลศิริราช” รศ.นพ.ธีระ ระบุ

ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มีเตียงเพียง 60 เตียง มีผู้ป่วยรับบริการ 350,000 คนต่อปี เปิดให้บริการ 7 วันทำการ ระหว่างเวลา 08.00-20.00 น.

ขณะนี้ได้พัฒนาอาคารส่วนขยาย เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางที่ไม่ซับซ้อน รวมทั้งดูแลผู้ป่วยในและผู้ป่วยหนักในห้องไอซียูได้มากขึ้น

โดยเพิ่มจำนวนเตียง จาก 60 เตียง เป็น 200 เตียง ห้องผ่าตัดจาก 8 ห้อง เป็น 16 ห้อง และเพิ่มห้องไอซียูเป็น 20 ห้อง หากแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มเป็น 700,000 คนต่อปี

งบประมาณการก่อสร้างและจัดหาครุภัณฑ์ทั้งหมด ต้องใช้ 850 ล้านบาท ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล 500 ล้านบาท ต้องระดมทุนเพิ่มอีก 350 ล้านบาท

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า คาดว่าภายในปี 2562 จะสามารถเปิดให้บริการบางส่วน และจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 ซึ่งจะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เทียบเท่าโรงพยาบาลทั่วไป

ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลศิริราช เฉพาะผู้ป่วยนอกตกวันละ 8,000-10,000 คน บางส่วนมาแค่ตรวจสุขภาพและรับยาเท่านั้น

ต่อไปจะเชื่อมข้อมูลระหว่าง ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกกับศิริราช ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถเข้าไปรับบริการที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกได้ ช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยศิริราชมากขึ้น

นอกจากนี้ จะเชื่อมโยงระบบส่งต่อกับอีก 5 โรงพยาบาล ได้แก่ นครปฐม สามพราน ราชพิพัฒน์ เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) และพุทธมณฑล เป็นโมเดลใหม่ในการทำงานร่วมกันอีกด้วย

ผู้สนใจสามารถสมทบทุนได้ โดยโอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารกรุงเทพ สาขาศิริราช ชื่อบัญชี ศิริราชมูลนิธิ กองทุนศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก เลขที่บัญชี 901-7-00988-8

ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ชื่อบัญชี มูลนิธิศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก เลขที่บัญชี 280-2-00388-2

และ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาศาลายา ชื่อบัญชี งานการคลัง ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก เลขที่บัญชี 316-3-04130-9

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานกิจกรรมพิเศษและสิทธิประโยชน์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โทร. 0 2849 6799 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น.

– กิตตินันท์ นาคทอง –

หมายเหตุ : แก้ไขเพิ่มเติม 4 ธันวาคม 2561 เวลา 10.45 น.

One Reply to “ไม่ต้องไปถึงศิริราช “ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก” ก่อสร้างส่วนขยาย 200 เตียง ดูแล 8 จังหวัด”

  1. เรียนคุณหมอศุภวรรณ ศิริวีฒนกุล
    ดิฉัน นางพวงพร ทับทิมรณยุทธ NH530000749 มีนัดติดตามการรักษา ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 และขอลงทะเบียนรับยาทางไปรษณีย์ค่ะ
    ที่อยู่ นางพวงพร ทับทิมรณยุทธ
    100/61 หมู่บ้าน ช. อมรพันธ์ ซอย 5 42แยก10 ซอยเสนานิคม 1 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กทม. 10230 0814422338 ขอขอบคุณค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *