“สปสช. เขต 5” ติวเข้มสื่อในพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพประชาสัมพันธ์เชิงรุก “สิทธิบัตรทอง” แก่ ปชช.

สปสช. เขต 5 จัดประชุมเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกในระดับเขตพื้นที่ ติวเข้มสื่อมวลชนรับทราบสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การคุ้มครองสิทธิ และนโยบายต่าง ๆ นำไปเผยแพร่ให้แก่ประชาชน

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 5 ราชบุรี ได้จัดประชุมเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกในระดับเขตพื้นที่  สปสช. เขต 5 ราชบุรี เพื่อให้สื่อมวลชนรับทราบสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การคุ้มครองสิทธิ และนโยบายต่าง ๆ นำไปเผยแพร่ให้แก่ประชาชนผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่ ณ โรงแรมไมด้า แกรนด์ ทวารวดี ต.สนามจันทร์ อ.เมืองฯ จ.นครปฐม

โดยมี นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผู้อำนวยการเขต สปสช.เขต 5 ราชบุรี เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มขับเคลื่อนและกำกับติดตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีสื่อมวลชนและนักสื่อสารประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ สปสช. เขต 5 ทั้งจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วิทยุชุมชน สื่อออนไลน์ และหนังสือพิมพ์ เข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน

สำหรับหัวข้อการประชุม มีการบรรยายเรื่องของบทบาทหน้าที่ สปสช. เขต 5 ราชบุรี ในระบบหลักประกันสุขภาพ โดย นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผู้อำนวยการเขต สปสช.เขต 5 ราชบุรี, การลงทะเบียนบัตรประกันสุขภาพ หน่วยนวัตกรรม และร้านยาคุณภาพฯ และ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดย นางปรางวไล เหล่าชัย นักวิชาการหลักประกันสุขภาพ ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการกลุ่ม และคณะ, การคุ้มครองสิทธิ (สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ / มาตรา 41 / ผู้ให้ได้รับความเสียหาย) โดย นางจันทนา พิณทิพย์ นักวิชาการหลักประกันสุขภาพ ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการกลุ่ม และนางสุกัญญา วงศ์ศิริ นักวิชาการหลักประกันสุขภาพ รวมถึงวางแผนการขับเคลื่อนงานสื่อสารประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพในพื้นที่ ปี 2568

นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผู้อำนวยการเขต สปสช.เขต 5 ราชบุรี เปิดเผยว่า สำหรับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โดย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นเลขาธิการ สปสช. คนแรก และได้ก่อร่างหลักการและแนวคิดจนทำให้องค์กรเติบโต ทั้งจำนวนพนักงาน อาคารสถานที่ และผลงาน โดยเฉพาะด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

ซึ่ง สปสช. เป็นเหมือนผู้ที่สร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับประชาชนที่ไม่ได้ถือสิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม เป็นสัดส่วนใหญ่กว่า 40 ล้านคน โดยหน้าที่หลักของ สปสช. จะดูแลสุขภาพตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้สิทธิประชาชนในการเข้าถึงบริการ

สำหรับวัตถุประสงค์ในการประชุมครั้งนี้ ตนอยากพบปะแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายสื่อมวลชนและนักสื่อสารประชาสัมพันธ์ในพื้นที่เขต 5 เพื่อรับทราบความต้องการสื่อสารอย่างไร ปริมาณเท่าไร ประเภทไหนบ้าง ตามแต่สื่อที่ถืออยู่ โดยทางสำนักงานฯ มีข่าวสารข้อมูลส่งให้เป็นประจำ หรือหากสื่อมวลชนมีเรื่องร้องเรียนก็สามารถส่งมาให้ทางสำนักงานฯ เป็นการสื่อสารแบบสองทาง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรทอง มีองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการได้อย่างถูกต้องและสะดวก เช่น ขณะนี้ตามโรงพยาบาลบอกว่าให้ประชาชนทุกคนที่เข้ารับบริการ ต้องนำบัตรประชาชนมาด้วย เพื่อเข้าร่วมโครงการ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ไปรักษาที่ไหนก็มีข้อมูล เมื่อแพทย์ได้เห็นแล้วจะได้ไม่ต้องรักษาใหม่ เป็นต้น

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *