สมุทรสาครยังไม่ประกาศ “เขตพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ” – หยุดโรงเรียน 160 แห่งทั่วจังหวัดแล้ว

ผวจ.สมุทรสาคร ระดมหลายภาคส่วนหารือแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 สรุปยังไม่ประกาศเขตพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ ด้านกระทรวงศึกษาธิการสั่งให้สถานศึกษา 160 แห่งทั่วจังหวัด หยุดการเรียนการสอนถึง 1 ก.พ. 2562

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 30 ม.ค. ที่ห้องประชุมพันท้ายนรสิงห์ (401) ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการสาธารณสุข หารือการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ของสมุทรสาคร โดยมีภาคส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วมประชุม ในการนี้ได้เชิญผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมอนามัย ร่วมให้ข้อมูล

โดยในที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 25 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่กำลังเกินค่ามาตรฐานอยู่ในขณะนี้ พร้อมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ มาตรการเข้มที่จะดำเนินการเพื่อการลดฝุ่นละออง PM2.5 ที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ได้พิจารณาในการประกาศให้ จ.สมุทรสาคร เป็นเขตควบคุมเหตุรำคาญ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า จากการประชุมดังกล่าว ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอนามัย และภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลพิจารณาถึงความจำเป็นและเหมาะสมที่จะประกาศให้ จ.สมุทรสาคร เป็นเขตพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ตามมาตรา 28/1 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาอย่างหลากหลายมิติตั้งแต่ข้อมูลว่าเป็นไปตามองค์ประกอบของกฎกระทรวง กับ พ.ร.บ.ที่ได้กำหนดไว้หรือไม่

ซึ่งก็มีข้อกังวลกันว่าข้อมูลบางอย่างอาจจะยังไม่ได้บ่งชี้ชัดเจน 100% เนื่องจากว่าข้อมูลทางวิชาการในการสนับสนุนต้นตอสาเหตุหรือว่าแหล่งกำเนิดที่ชัดเจนเกิดในพื้นที่ใด แล้วก็เกิดจากแหล่งใด จึงมีความเห็นว่าการออกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมน่าจะยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากว่าข้อมูลไม่เพียงพอต่อการออกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม อาจจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกมากขึ้น ซึ่งถ้าออกประกาศเขตควบคุมฯ ก็ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 37 แห่ง ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายในการออกประกาศโดยตรงเป็นผู้ออกประกาศ ซึ่งแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีรายละเอียดแตกต่างกัน

ดังนั้น คณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร จึงมีความเห็นว่า ในระยะนี้มาตรการเร่งด่วนประการแรก คือ ใช้มาตรการที่ดำเนินการมาแล้วทั้งหมดอย่างเข้มข้นต่อไป ในเรื่องของการลดผลกระทบหรือบรรเทาผลกระทบด้วยการสเปรย์น้ำ ล้างถนน บวกกับการประชาสัมพันธ์เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบข้อมูล และการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ประการที่สอง คือ เรื่องของการลดแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยจะมีชุดทำงานที่จะคอยตรวจสอบต้นกำเนิดแหล่งมลพิษทุกประเภท เช่น การจราจรและการตรวจควันดำ ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมก็จะมีชุดปฏิบัติการออกไปดำเนินการ ส่วนมาตรการเพิ่มเติมของคณะกรรมการ คือ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น โดยให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะยังไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม แต่ก็ให้ไปดำเนินการในพื้นที่โดยให้ตรวจสอบหาแหล่งที่เป็นต้นกำเนิดฝุ่นพิษทุกประเภท ทั้งในอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเตากับถ่านหินเป็นหลัก หรือการเผาในที่โล่งแจ้ง หากพบว่ากระทำผิด ก็ดำเนินการตามกฎหมายทันที และให้รายงานให้ทางคณะกรรมการทราบ ซึ่งจะมีการประชุมประเมินผลทุกวัน เพื่อดูว่าหากพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับให้ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมฯ ก็ให้พิจารณาเสนอขึ้นมา แล้วทางคณะกรรมการจะพิจารณาในเรื่องของการประกาศต่อไป นอกจากนี้ก็จะเข้มข้นในเรื่องของการให้ความรู้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเกิดความมั่นใจในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการชุดนี้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร แจ้งว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้สถานศึกษาในกรุงเทพมหานครทุกแห่ง และสถานศึกษาในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ปิดสถานศึกษาเนื่องจากเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. เวลา 12.00 น. ถึงวันที่ 1 ก.พ. 2562 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพนักเรียน

โดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร ได้แจ้งให้ทุกสถานศึกษาในจังหวัด ซึ่งมีอยู่จำนวน 160 แห่ง หยุดทำการเรียนการสอนในวันดังกล่าวแล้ว ประกอบด้วย โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา 103 แห่ง โรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา 11 แห่ง สถาบัน​การ​อาชีวศึกษา 3 แห่ง โรงเรียนเอกชน 23 แห่ง รวมทั้งโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 20 แห่ง

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *