“สภาพัฒน์” เชื่อเมืองขนาดกลางพยุงเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้า

รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ระบุ โลกกำลังเข้าสู่ยุคของคนเมือง 30 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะกลายเป็นคนเมืองเพิ่มขึ้น 10 ล้านคน อีกทั้งภาคธุรกิจจะมีบริษัทข้ามชาติเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสสร้างเมืองดึงดูดและเป็นฐานการผลิตได้ เชื่อเมืองขนาดกลางจะพยุงให้ประเทศไทยเติบโตไปข้างหน้า

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในการเปิดงานเสวนาเรื่อง “โลกใหม่เมืองแบบใหม่ : ชีวิตความเป็นอยู่คนไทยในโลก 4.0” ที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เป็น Disruptive โดยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ตั้งหลักได้ยาก คนแต่ละรุ่นเข้าถึงได้ต่างกัน ต่อมาโลกแก่ตัวเร็วมาก ถ้าไม่มีเครื่องทุ่นแรงมาช่วยก็จะเดินไปข้างหน้าได้ลำบาก และสิ่งแวดล้อมเสื่อมถอยไปมาก ต้นทุนการดำเนินชีวิต ใช้ชัวิต และดำเนินธุรกิจสูงขึ้น และระมัดระวังมากขึ้น อีกทั้งยังมีความเป็นเมือง คนเมืองขยายตัวอย่างเร็วมาก จึงต้องตั้งหลักและเตรียมพร้อม

ทั้งนี้ โลกกำลังเข้าสู่ยุคของคนเมือง คนอาเซียนและคนไทยคือคนเมืองรุ่นใหม่ในอนาคต วันนี้สัดส่วนของคนที่อยู่ในเมืองมีประมาณ 55% หรือ 4.2 ล้านคน ถ้ามองต่อไปอีก 30 ปีข้างหน้า จนถึงปี ค.ศ. 2050 คนในเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 ล้านคน หรือ 68% เท่ากับมีคนเมืองเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคน โดย 90% ของกระบวนการเติบโตเป็นเมืองอยู่ในแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งเอเชียเป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ โตที่หลัง ขยายตัวที่หลัง ก็จะขยายตัวเร็ว มองไปที่อาเซียนกระแสความเป็นเมืองเร็วขึ้นเช่นกัน ประมาณการณ์ในปี ค.ศ. 2030 ประชากรเมืองของอาเซียนจะเป็น 43% หรือ 280 ล้านคนที่กลายเป็นคนเมือง เศรษฐกิจของเมืองจะเพิ่มขึ้น 76% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในอาเซียน

สำหรับประเทศไทย ขณะนี้คนไทยอยู่ในเมืองมีประมาณ 35 ล้านคน 30 ปีต่อจากนี้ จะกลายเป็นคนเมืองเพิ่มขึ้น 10 ล้านคน หรือ 73% โอกาสของความเป็นเมือง มาจากระบบโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง รูปแบบการดำเนินชีวิ บริการเพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า ในแง่ของเศรษฐกิจอาเซียน ประมาณการณ์ว่าในปี 2030 มูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 9.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 2 เท่าของเศรษฐกิจไทยในวันนี้

ส่วนภาคธุรกิจ ในปี ค.ศ. 2010 มีบริษัทข้ามชาติทั้งหมด 7,941 บริษัท ส่วนใหญ่มากกว่า 70% อยู่ในเมืองใหญ่ ประเทศกำลังพัฒนาแล้ว อีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มอีก 7,000 แห่ง จึงเป็นเป้าหมายของประเทศกำลังพัฒนา ที่จะสามารถสร้างเมืองเป็นที่ดึงดูด เป็นที่เจริญเติบโต เป็นฐานการผลิตของบริษัทเหล่านั้น หัวใจสำคัญของการแข่งขันของเมือง คือ ผลิตภาพการผลิต ในเมื่อโครงสร้างพื้นฐานและโอกาสทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ถ้าเราทำให้ดีผลิตภาพการผลิตจะเกิด ณ วันนี้ประเทศไทยไม่ได้แข่งกับมาเลเซีย แต่ภูเก็ตแข่งกับบาหลี แข่งกันเป็นรายเมืองเลยทีเดียว

ถ้ามองว่าโลกกำลังเข้าสู่ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เทคโนโลยีมักจะเกิดขึ้นและกระจุกตัวในเมือง ความท้าทายก็คือ ความเป็นเมืองจะช่วยพยุงสร้างเมืองรอบข้างให้เติบโตขึ้นได้อย่างไร ถ้ามองไปข้างหน้า สถิติที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เมืองขนาดกลางเป็นอนาคตของโลก และประเทศไทย ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการขยายตัวของเมืองขนาดกลางจำนวนมาก คาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจของเมืองขนาดกลางทั่วโลกจะสูงกว่าอัตราเฉลี่ยรวมของประเทศนั้นๆ ในปี ค.ศ. 2025 เศรษฐกิจของเมืองขนาดกลางจะมีสัดส่วน 50% ของเศรษฐกิจโลก

ส่วนประเทศไทยมีเมืองตั้งแต่ขนาดกลางค่อนไปทางเล็ก 34 เมือง กรุงเทพมหานครเป็นมหานคร มีประชากร 5 ล้านคน นอกนั้นเป็นเมืองขนาดกลาง ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันและพยุงให้ประเทศไทยเติบโตไปข้างหน้า สภาพัฒน์ฯ มองว่าเมืองในระดับต่างๆ ต้องได้รับการผลักดัน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ในยุทธศาสตร์ที่ 9 เรื่องการพัฒนาจังหวัด พื้นที่ภาคและเมือง แบ่งเมืองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต สงขลา และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การพัฒนาจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ และสมาร์ทซิตี้

เมือขนาดกลาง 20 เมือง โครงสร้างพื้นฐานต้องทำให้ครอบคลุม ทั่วถึง และมีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและบริการสำหรับพื้นที่โดยรอบ ซึ่งมีโอกาสและมีศักยภาพที่จะนำแนวคิดการพัฒนาใหม่ๆ เข้ามา เช่น เมืองที่ออกแบบเพื่อทุกคน เมืองกระชับ เมืองที่เติบโตด้วยสีเขียว และเมืองเศรษฐกิจพิเศษ เน้นดึงดูดการลงทุน โดยให้เงื่อนไขพิเศษและสนับสนุนพิเศษ เพื่อให้เกิดการลงทุนในบางสาขาที่เห็นว่ามีความสำคัญสำหรับประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าต่างๆ

อนึ่ง สำหรับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 9 ตอนหนึ่งระบุถึงการพัฒนาเมืองปริมณฑล (สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร) ให้เป็นเมืองศูนย์กลางการบริการธุรกิจและการพาณิชย์ศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ ศูนย์บริการด้านสุขภาพและการศึกษาและเมืองที่อยู่อาศัย โดยประสานการวางระบบโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และบริการทางสังคม กับมาตรการทางผังเมือง ในการชี้นำให้การขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างมีแบบแผนและเหมาะสม รวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองให้เอื้อต่อการอยู่อาศัย การเดินทางและการขนส่งโดยสะดวกและปลอดภัย โดยเฉพาะการป้องกันน้ำท่วม-น้ำเสีย พร้อมทั้งการจัดให้มีพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นปอดและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนเพิ่มขึ้น รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและกิจกรรมต่างๆ ทั้งการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า การคมนาคมขนส่ง และการเพิ่มขึ้นของประชากรเมือง

อีกด้านหนึ่ง ยังพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งรอบอ่าวไทย ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ให้คงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป โดยเร่งรัดการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการจัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมให้เป็นระบบเหมาะสม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ เช่น การส่งเสริมการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการและวิธีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ าเพี่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม การส่งเสริมและพัฒนาการประมงพื้นบ้าน รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการประมง เป็นต้น

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *