ทุ่ม 25 ล้านปรับโฉมท่าเรือภัตตาคาร สู่ “เอส เพียร์ 1964” แลนด์มาร์คใหม่สมุทรสาคร

กลุ่มนักธุรกิจ “เพลินใจพัฒน์” ทุ่ม 25 ล้าน พลิกฟื้นท่าเรือ ปั้นโครงการ “เอส เพียร์ 1964” แลนด์มาร์คใหม่เมืองมหาชัย เนรมิตอาคาร 6 ชั้น และท่าเรือหลังคาโค้งกลายเป็นร้านอาหาร 4 แห่ง บาร์ 2 แห่งในตึกเดียว ประเดิม “รับลมคาเฟ่ แอนด์ บาร์” ร้านกาแฟสไตล์เก่าแก่แฝงโมเดิร์น ก่อนเปิดเต็มรูปแบบปีหน้า ทั้งภัตตาคาร ร้านอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง ห้องจัดเลี้ยง และรูฟท็อปบาร์บนดาดฟ้าสูงที่สุดในมหาชัย

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในการเปิดโครงการเอส เพียร์ 1964 (S PIER 1964) ที่บริเวณภัตตาคารอาหารท่าเรือ ท่าเรือเทศบาลนครสมุทรสาคร ถนนเศรษฐกิจ 1 ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยมีนางกุลวดี ศิริภัทร์ ประธานกรรมการ บริษัท เพลินใจพัฒน์ จำกัด, นายนิรันดร์ แสงสุขเอี่ยม กรรมการผู้จัดการบริษัท ศิริคุณซีฟูดส์ จำกัด, นายกิตติวุฒิ แสงสุขเอี่ยม ที่ปรึกษาบริษัท ศิริคุณซีฟูดส์ จำกัด รวมทั้งนักธุรกิจในจังหวัดสมุทรสาคร และผู้ถือหุ้นให้การต้อนรับ

เฟสแรก เป็นการเปิดตัวอาคารรับลมหลังคาทรงโค้ง 2 ชั้น อายุราว 50 ปี ที่ออกแบบโดย นายศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา ให้เป็นร้านกาแฟในชื่อ “รับลมคาเฟ่ แอนด์ บาร์” (Rublom Cafe and Bar) ในสไตล์ที่เรียกว่า มิด เซ็นจูรี โมเดิร์น (Mid Century Modern) โดยยังคงไว้ซึ่งโครงสร้างเดิมตั้งแต่ปี 2507 แต่เพิ่มความร่วมสมัยด้วยการนำมาประยุกต์และผสมผสาน เพื่อเป็นการปลุกตำนานท่าเรือมหาชัย ให้กลายเป็นธุรกิจอาหารเชิงท่องเที่ยวและวัฒนธรรม

โดยนำลายพื้นสีขาวตัดสลับดำ ตกแต่งผนังด้วยคิ้วไม้ และเฟอร์นิเจอร์แบบวินเทจ ผนวกกับการจัดแสงและการเลือกใช้โคมไฟร่วมสมัย มองเห็นทัศนียภาพกว้างของแม่น้ำท่าจีนที่มองเห็นชุมชนท่าฉลอมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จำหน่ายกาแฟ เครื่องดื่ม และขนมหวาน และมีทางเดินเชื่อมไปยังอาคารท่าเรือมหาชัย 6 ชั้น ที่กำลังอยู่ในระหว่างปรับปรุงเป็นร้านอาหาร 4 ร้าน ซึ่งมีกำหนดที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 9 มกราคม 2564

นางกุลวดี ศิริภัทร์ ประธานกรรมการ บริษัท เพลินใจพัฒน์ จำกัด กล่าวว่า การเปิดรับลมคาเฟ่ แอนด์ บาร์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเอส เพียร์ 1964 ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัท เพลินใจพัฒน์ ริเริ่มนำร่อง และตั้งใจที่จะให้เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร และเพื่อพลิกฟื้นตำนานเมืองมหาชัยให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง มุ่งหวังที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม ผ่านการท่องเที่ยวในรูปแบบที่เรียกว่า แกสโตรโนมิค แอนด์ คัลท์เจอร์ ทัวริซึม (Gastronomic and Culture Tourism) ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ในการท่องเที่ยวเชิงลึก ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากอาหารในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ นำมาสู่การเปิดใจซึมซับวัฒนธรรมชุมชนร่วมกับผู้คนในท้องถิ่น ควบคู่การพัฒนาที่จะต่อยอดสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืนในหลายมิติ โดยยึดแนวคิดโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการสร้างผลกำไร เพื่อให้ธุรกิจนั้นสามารถดำเนินกิจการไปได้อย่างยั่งยืน และสร้างผลลัพธ์ทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม


กุลวดี ศิริภัทร์

“สำหรับโครงการนี้เราได้บูรณะอาคารท่าเรือมหาชัย 6 ชั้น ซึ่งเดิมเคยเป็นภัตตาคารท่าเรือมาก่อน ปรับปรุงมุ่งสู่การเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของมหาชัย ใช้ตัวเอส (S) สื่อถึงซีฟู้ด (Seafood) และสมุทรสาคร ที่เหมือนสัญลักษณ์ของท่าเรือมหาชัย โดยมีทีมงานเพลินใจพัฒน์ รับภารกิจปรับโฉมให้กลายเป็นท่าเรือ 1964 (S PIER 1964) ซึ่งจะเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 มกราคม 2564” นางกุลวดี กล่าว


วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี

ด้านนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า เดิมเคยมาเยือนท่าเรือภัตตาคารบ่อยครั้ง เมื่อเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาทราบว่าจะมีการปรับโฉมให้ดีขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 พอดี ต้องขอบคุณบริษัทเพลินใจพัฒน์ที่ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งความสามัคคีทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ เราจำเป็นต้องก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ใดก็ตาม ที่นี่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งการเติบโตของจังหวัดสมุทรสาคร ทำให้จังหวัดเข้มแข็งมากขึ้น แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเป็นปัญหาของประเทศ แต่เป็นโอกาสของจังหวัดสมุทรสาคร ที่จะพัฒนาท่าเรือเทศบาลให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้มาเยือน

สำหรับโครงการเอส เพียร์ 1964 ใช้งบลงทุนปรับปรุงพื้นที่เบื้องต้น 25 ล้านบาท รับช่วงต่อจากท่าเรือภัตตาคาร ของนายสกล ก๊กผล มาบูรณะอาคารท่าเรือมหาชัย 6 ชั้น และอาคารรับลมหลังคาทรงโค้ง 2 ชั้น ซึ่งเดิมเคยเป็นภัตตาคารท่าเรือ ประกอบด้วย ร้านอาหาร 4 ร้าน บาร์ 2 ร้าน และห้องจัดเลี้ยง 4 ห้อง รองรับลูกค้าทุกระดับ ทั้งกลุ่มครอบครัว นักธุรกิจคนรุ่นใหม่ กลุ่มผู้บริหารระดับสูง นักท่องเที่ยว และชาวชุมชนมหาชัยทั่วไป

ภายในอาคารประกอบด้วย ภัตตาคารท่าเรือ 1964 (S PIER Seafood Restaurant) เป็นร้านอาหารแบบโอเพ่นแอร์ ให้บริการที่ชั้น 1 และชั้น 2 โดยชั้นล่างแบ่งเป็นมุมร้านขายปลา โดยร่วมมือกับ บริษัท ศิริคุณซีฟู้ดส์ จำกัด พัฒนาองค์ความรู้จากฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ให้ร้านขายปลาสด สะอาด ไม่มีกลิ่นคาว พร้อมบริการปรุงอาหาร หรือปรุงอาหารเองตามต้องการ พร้อมโซนรับประทานอาหารห้องแอร์ รองรับได้ 50 ที่นั่ง

ส่วนชั้น 2 เป็นร้านอาหารสไตล์โอเพ่นแอร์ รองรับได้ 120 ที่นั่ง เสิร์ฟอาหารทะเล ทั้งอาหารไทย อาหารจีนแบบฟิวชัน และเซตเมนู โดยนำวัตถุดิบจากชั้น 1 มาปรุงเป็นเมนูพิเศษหาทานยาก อาทิ ปลาเต๋าเต้ยจักรพรรดิ ลิ้นมังกรต้มเต้าเจี้ยว พร้อมเมนูติ่มซำมื้อเช้า เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ราคาเฉลี่ย 160-180 บาทต่อคน บุฟเฟต์มื้อกลางวันสุดสัปดาห์ ราคาเฉลี่ย 200-300 บาทต่อคน และบุฟเฟต์มื้อเย็น ราคาเฉลี่ย 400-500 บาทต่อคน

ชั้น 3 จะเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น “ศิริคุณ ไคซังบุซึ” (Sirikhun Kaisanbushi) ให้บริการอาหารญี่ปุ่น ซูชิบาร์และซาซิมิ โดยศิริคุณซีฟู้ดส์ร่วมกับร้านอายะ นำวัตถุดิบท้องถิ่นไทยผสมผสานกับวัตถุดิบของญี่ปุ่น รสชาติญี่ปุ่นโดยเชฟญี่ปุ่น เป็นห้องแอร์รองรับได้ 30 ที่นั่ง และอีกโซนหนึ่งเป็นร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น “มามิยะ กริลล์ รูม (Maniya Grill Room) ให้บริการอาหารปิ้งย่างเตาถ่านแบบยากินิคุ เป็นแบบโอเพ่นแอร์รองรับได้ 35 ที่นั่ง

ส่วนชั้น 4 และชั้น 5 เป็นห้องจัดเลี้ยง โดยชั้น 4 เป็นห้องจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ วิวแม่น้ำกว้าง รองรับได้สูงสุด 150 ที่นั่ง หรือปรับเป็นห้องจัดเลี้ยงขนาดย่อมได้ถึง 2 ห้อง ส่วนชั้น 5 เป็นห้องจัดเลี้ยงส่วนตัวแบบวีไอพี จำนวน 3 ห้อง ได้แก่ ห้องขนาดใหญ่ รองรับได้ 30 ที่นั่ง ห้องขนาดย่อม 2 ห้อง รองรับได้ 5-10 ที่นั่งต่อห้อง และยังสามารถปรับเป็นห้องจัดเลี้ยงส่วนตัวแบบวีไอพีขนาดใหญ่รวมกันได้ถึง 70 ที่นั่งอีกด้วย

ชั้น 6 เป็นบาร์ที่ชื่อว่า เฮเวน รูฟท็อป บาร์ (Heaven Rooftop Bar) เป็นบาร์และคาเฟ่บนดาดฟ้า มองเห็นทัศนียภาพเส้นขอบฟ้าริมแม่น้ำท่าจีน ที่สูงที่สุดในมหาชัย บริการเครื่องดื่ม ค็อกเทล บูติกไวน์ และคราฟต์เบียร์ รองรับได้ 150 ที่นั่ง มีทั้งโซนห้องแอร์และโอเพ่นแอร์ พร้อมต่อขยายให้มี 7 ชั้น เพื้อเติมเต็มบรรยากาศวิวแม่น้ำไกลสุดตาที่สวยที่สุดในมหาชัย

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาการท่องเที่ยวแบบวิถีอาหารเชิงท่องเที่ยว เรียกว่า “แกสโตรโนมิกซ์ แอนด์ คัลเจอร์ ทัวริซึม” (Gastronomic and Cultural Tourism) โดยยึดแนวคิดโม้ดลธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อสร้างวิถีใหม่ระหว่างนักท่องเที่ยวและชาวมหาชัย เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ทั้งการชมโลมาหัวบาตร หรือโลมาอิรวดีที่ปากอ่าวมหาชัย สตรีทอาร์ตท่าฉลอม หลวงพ่อปู่ วัดโกรกกราก นั่งรถไฟสายแม่กลองชมตลาดร่มหุบที่ จ.สมุทรสาคราม และรองรับการจัดเรือเที่ยวพิเศษ จากท่าเรือมหาราช กรุงเทพฯ มายังโครงการอีกด้วย

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง และกิตตินันท์ นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *