การทางพิเศษฯ รับทราบโอนโครงการสะพานพระสมุทรเจดีย์ ลดภาระงบประมาณรัฐ

ที่ประชุมบอร์ดการทางพิเศษฯ มีมติรับทราบหลักการ บูรณาการกรมทางหลวงชนบท ร่วมลงทุนโครงการสะพานพระสมุทรเจดีย์ โดยใช้กองทุน TFF หวังลดภาระงบประมาณรัฐบาล เบื้องต้นรับผิดชอบตั้งแต่สะพานพระสมุทรเจดีย์ ถึงถนนบางนา-ตราด ส่วนที่เหลือกรมทางหลวงชนบทรับผิดชอบ

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการทางพิเศษฯ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา รับทราบหลักการที่การทางพิเศษฯ และกรมทางหลวงชนบท บูรณาการความร่วมมือในการดำเนินแนวทางลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม โดยใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund (TFF) เพื่อช่วยลดภาระงบประมาณรัฐบาล ซึ่งได้พิจารณาโครงการมีศักยภาพ เป็นโครงการที่เป็นทางเลือกในการเดินทาง สามารถจัดเก็บค่าผ่านทาง มีความเป็นไปได้ในการลงทุนเพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐ 3 โครงการ ที่การทางพิเศษฯ จะนำมาศึกษารายละเอียด ได้แก่ โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ถึง จ.สมุทรสาคร, โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา (สงขลา-พัทลุง) ระยะทาง 7 กิโลเมตร มูลค่า 5,200 ล้านบาท และโครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี-อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ระยะทาง 18 กิโลเมตร มูลค่า 36,000 ล้านบาท

โดยคาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะมีการลงนามความร่วมมือ ของ 3 หน่วยงาน คือ การทางพิเศษฯ-กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท โดยการทางพิเศษฯ จะนำร่องที่โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ถึง จ.สมุทรสาคร ของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งจะมีการส่งมอบแบบที่กรมทางหลวงชนบทศึกษา เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกับโครงข่ายเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข MR10 (โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3) ของกรมทางหลวง โดยเบื้องต้นการทางพิเศษฯ จะรับผิดชอบตั้งแต่ถนนประชาอุทิศ บริเวณวัดคู่สร้าง สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนแพรกษา ถึงถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท ส่วนกรมทางหลวงชนบทจะรับผิดชอบตั้งแต่ถนนพระราม 2 กม.38 ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน เข้าสู่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ถึงถนนประชาอุทิศ บริเวณวัดคู่สร้าง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร

สำหรับโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และถนนเชื่อมต่อ ระยะทางประมาณ 59 กิโลเมตร เริ่้มต้นจากถนนพระราม 2 กม.38 ก่อนถึงโครงการทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ข้ามคลองสุนัขหอน ข้ามทางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลอง เลี้ยวซ้ายผ่านพื้นที่นาเกลือพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และพื้นที่เกษตร ก่อนจะข้ามแม่น้ำท่าจีน บริเวณศูนย์ศึกษาการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 สมุทรสาคร ต.บางหญ้าแพรก อ.เมืองฯ จากนั้นเลี้ยวขวา เชื่อมต่อกับถนนสหกรณ์ขนานกับคลองพิทยาลงกรณ์ ผ่านพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่นาเกลือ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และ ต.บ้านสวน นาเกลือ แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เชื่อมต่อถนนประชาอุทิศ-วัดคู่สร้าง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกองเรือทุ่นระเบิด ผ่านถนนท้ายบ้านวัดอโศการาม ถนนสุขุมวิท ถนนแพรกษา สิ้นสุดที่ถนนเทพารักษ์ โดยแนวทางการบูรณาการร่วมกับการทางพิเศษฯ จะเพิ่มโครงข่ายส่วนเชื่อมต่อถนนเทพารักษ์ถึงถนนบางนา-ตราด ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร

ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ให้นโยบายการทางพิเศษฯ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท บูรณาการความร่วมมือแนวทางการใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมเพื่อช่วยลดภาระงบประมาณรัฐบาล ปัจจุบัน กองทุนฯ เข้าลงทุนในรายได้ทางพิเศษ 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษฉลองรัช (อาจณรงค์-รามอินทรา-วงแหวนรอบนอกตะวันออก) ระยะทาง 28.2 กิโลเมตร และทางพิเศษบูรพาวิถี ระยะทาง 55 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยจะนำรายได้จากทางพิเศษทั้งสองเส้นทางไปพัฒนาทางพิเศษ 2 สายทาง ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกและส่วนต่อขยายทดแทน ตอน N1 เป็นต้น

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *