ลุ้นตอกเข็มปีหน้า! ทางด่วน “พระราม 3-วงแหวนฯ” ยกระดับ ถ.พระราม 2

ผู้บริหารการทางพิเศษฯ คาดปี 2561 จะประมูลก่อสร้างทางด่วนพระราม 3 – วงแหวนตะวันตก ขนานไปกับถนนพระราม 2 และทางด่วนเฉลิมมหานคร โดยใช้ระดมทุนจากประชาชน คาดเปิดให้บริการได้ในปี 2565

นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รักษาการผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้างและค่าคุมงาน 30,437 ล้านบาท คาดว่าาจะประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมประมูลในกลางเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ 2561 จากนั้นจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอในเดือนมีนาคม ถึงเมษายน 2561 และทราบผลไม่เกินครึ่งปีแรกของปี 2561

หลังจากนั้นจะต้องเสนอผลการประมูลและร่างสัญญาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จึงจะลงมือก่อสร้าง โดยใช้เวลาประมาณ 4 ปี และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2565 ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 สัญญา ได้แก่ สัญญางานโยธา 3 สัญญาและสัญญาระบบ 1 สัญญา แต่ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนที่ดิน อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ด้านเงินทุนที่จะใช้ก่อสร้างนั้น การทางพิเศษฯ จะใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) ซึ่งในวันที่ 13 ธ.ค. นี้ คณะกรรมการ กทพ. จะพิจารณารับรองหนังสือชี้ชวนขายหน่วยลงทุน หากได้รับความเห็นชอบจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในเดือนธันวาคมนี้ และประกาศเชิญชวนนักลงทุนได้ในเดือนมกราคม 2561 โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับนักลงทุนรายย่อยมากที่สุด เพราะต้องการให้ประชาชนมีเงินออมที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งเบื้องต้นก็เชื่อว่ามีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก

สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตกนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. มีมติเห็นชอบให้การทางพิเศษฯ เป็นผู้ดำเนินโครงการ วงเงิน 31,244 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 807 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 30,437 ล้านบาท โดยรัฐเป็นผู้จ่ายค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน และให้การทางพิเศษฯ ระดมทุนก่อสร้างจากประชาชนผ่านกองทุนทีเอฟเอฟ

โดยแนวเส้นทางเริ่มต้นจากทางแยกต่างระดับบางโคล่ ที่ทางพิเศษศรีรัช (บางโคล่ – แจ้งวัฒนะ) เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ดาวคะนอง – ท่าเรือ) บริเวณถนนพระราม 3 จากนั้นจะก่อสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยาคู่ขนานไปกับสะพานพระราม 9 ในปัจจุบัน แล้วสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร ก่อนจะซ้อนทับเกาะกลางถนนพระราม 2 สิ้นสุดที่ถนนพระราม 2 ซอย 84 ใกล้ชุมชนบางกระดี่ รวมระยะทาง 18.7 กิโลเมตร

สำหรับทางขึ้นลงมีทั้งหมด 7 จุด ได้แก่ ด่านบางโคล่, ด่านสุขสวัสดิ์ (ปรับปรุงด่านเดิม), ปากทางถนนพระราม 2 ซอย 27 (ย่านถนนพุทธบูชา), ปากทางถนนพระราม 2 ซอย 33 (ย่านวัดยายร่ม), ปากทางถนนพระราม 2 ซอย 33 (ย่านวัดเลา), ปากทางถนนพระราม 2 ซอย 50 (ย่านวัดยายร่ม), ปากทางถนนพระราม 2 ซอย 69 (ย่านถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล) และปากทางถนนพระราม 2 ซอย 84 (ย่านชุมชนบางกระดี่) โดยจะเชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ของกรมทางหลวงที่จะมีในอนาคตอีกด้วย

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *