“รพ.เอกชัย” เปิดศูนย์มีบุตรยาก เน้นลูกค้าจีน-ลั่น 2 ปีถึงจุดคุ้มทุน

โรงพยาบาลเอกชัย เปิดตัวศูนย์ให้คำแนะนำปรึกษาผู้มีบุตรยาก ร่วมทุนกับนักธุรกิจจีน ตั้งเป้าลูกค้าชาวจีนใช้บริการ คาดสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ 2 ปีถึงจุดคุ้มทุน

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่โรงพยาบาลเอกชัย ถนนเอกชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร นายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดศูนย์ผู้มีบุตรยาก โดยมี นพ.วีรพล นิธิพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นพ.อำนาจ เอื้ออารีมิตร กรรมการและผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชัย บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) แพทย์ พยาบาล และนางอมิตา ทาทา ยัง พร้อมแฟนหนุ่มและสื่อมวลชน เข้าร่วม

นพ.อำนาจ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัวศูนย์ให้คำแนะนำปรึกษาผู้มีบุตรยาก ซึ่งดำเนินงานโดย บริษัท เอกชัย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทย่อยที่เอกชัยการแพทย์ถือหุ้น 57% พันธมิตรนักธุรกิจจากประเทศจีน ถือหุ้นในสัดส่วน 25% และที่เหลือถือหุ้นโดยผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศูนย์ภาวะผู้มีบุตรยากและไม่เข้าข่ายเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน จึงทำให้ได้รับความสนใจจากผู้มีบุตรยากทั้งในประเทศและชาวจีนติดต่อขอเข้ารับคำปรึกษา

ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการอยู่ที่ 10 รายต่อเดือน แบ่งเป็นลูกค้าชาวจีนในสัดส่วน 70% และชาวไทย 30% นอกจากนี้ ยังคาดว่าศูนย์ผู้มีบุตรยากจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ในปีแรกที่เปิดให้บริการประมาณ 30-40 ล้านบาท ภายใน 2 ปีข้างหน้าจะถึงจุดคุ้มทุน แผนการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปีนี้ ตั้งเป้ารายได้เติบโต 8-10% จากปี 2560 ที่คาดว่าจะมีรายได้รวม 540 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้จากการเปิดให้บริการศูนย์ดังกล่าว รวมทั้งการปรับเพิ่มราคาห้องพักที่ปรับปรุงแล้วอีก 10%

ส่วนบริการของศูนย์ผู้มีบุตรยาก ประกอบด้วย ICSI (อิ๊กซี่) คือ การใช้เข็มฉีดเชื้ออสุจิหนึ่งตัวเข้าไปในไข่ เพื่อช่วยปฏิสนธิ ให้เกิดเป็นตัวอ่อนเมื่อได้ตัวอ่อนแล้วจึงย้ายฝากเข้าสู่โพรงมดลูก, PESA (พีซา) คือ การดูดตัวอสุจิออกมาจากบริเวณถุงพักน้ำเชื้อ เพื่อนำมาผสมกับไข่ให้เป็นตัวอ่อนด้วยวิธีการทำอิกซี่ ในกรณีที่ฝ่ายชายไม่มีอสุจิ, TESE (เทเซ) คือ การตัดชิ้นเนื้อเล็กๆ จากอัณฑะมาหาตัวอสุจิ เพื่อนำมาผสมไข่ให้เป็นตัวอ่อนด้วยวิธีการทำอิ๊กซี่ ในกรณีที่ฝ่ายชายไม่มีอสุจิ, PGD คือเทคนิคการตรวจวินิจฉัยตัวอ่อน เพื่อดูจำนวนโครโมโซม หรือ สารพันธุกรรมที่ผิดปกติ เพื่อการคัดเลือกตัวอ่อนที่ปรากฏจากความผิดปกติทางพันธุกรรม สำหรับการตั้งครรภ์ และ Embryo transfer (ET) การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก การแช่แข็งไข่ การแช่แข็งอสุจิ การแช่แข็งตัวอ่อน เพื่อเก็บไว้ในอนาคต

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดในเพศหญิงถือเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการมีบุตรยากถึง 70% แต่อีกส่วนหนึ่งจะเป็นสาเหตุมาจากเพศชาย การตรวจหาความผิดปกติในเพศชายนั้น สะดวกกว่าเพศหญิง เพียงการตรวจพิเคราะห์น้ำอสุจิก็จะทราบได้ว่าเชื้อแข็งแรงพร้อมหรือไม่ สำหรับในเพศหญิงสาเหตุส่วนใหญ่ของการมีบุตรยากเกิดจากปัจจัยของท่อนำไข่ผิดปกติตีบตัน คดงอ รองลงมาเกิดจากปัจจัยภายนอกของโพรงมดลูก เช่น อาจจะมีเนื้องอกหรือความสมบูรณ์ไม่พอเพียงของเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกและปัจจัยจากรังไข่ ซึ่งเป็นแหล่งสร้างไข่ เพื่อมาปฏิสนธิกับตัวอสุจิ
การวิเคราะห์หาสาเหตุของการก่อให้เกิดมีบุตรยาก เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการวางแผนการแก้ไขรักษาได้ถูกต้องต่อไป โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ คู่สมรสที่มีปัญหาในการตั้งครรภ์, คู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นโรคหรือเป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรม, คู่สมรสที่ประสบปัญหาภาวะแห้ง, คู่สมรสที่อายุมากและมีบุตรยากและคนโสดที่มีความต้องการในการเก็บรักษาเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่หรืออสุจิ) ไว้เพื่อใช้ในอนาคต

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *