ทล. ประชุมมอเตอร์เวย์ “วงแหวนรอบที่ 3” พื้นที่จุดเริ่มต้นโครงการ

กรมทางหลวง-กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประชุมหารือลดผลกระทบโครงการมอเตอร์เวย์ “วงแหวนรอบที่ 3” พื้นที่จุดเริ่มต้นโครงการ ต.นาดี อ.เมืองฯ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบรวมกลุ่มคัดค้าน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 พ.ค. ที่ห้องประชุมชั้น 2 โรงเรียนบ้านบางปิ้ง หมู่ 1 ต.นาดี อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร กรมทางหลวง และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จัดการประชุมหารือมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ “การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านตะวันตก” มีประชาชนชาว ต.นาดี และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก

โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการหารือเพิ่มเติมจากการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 เมื่อช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทางวิศวกรโครงการฯ ได้นำเสนอแนวเส้นทางในส่วนของพื้นที่ ต.นาดี จ.สมุทรสาคร เริ่มจากจุดเริ่มต้นของโครงการบริเวณ ถ.พระรามที่ 2 กม. 22+500 จนถึงสนามกอล์ฟเดอะรอยัลเจมส์ฯ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ประมาณ กม. 26+500 ของโครงการ ซึ่งรูปแบบเป็นทางยกระดับ เขตทาง 50 เมตร พร้อมทางบริการด้านล่าง

นอกจากนี้ ทางวิศวกรโครงการฯ ได้ร่วมพูดคุยกับประชาชนที่อาศัยหรือมีที่ดินอยู่ในพื้นที่โครงการ ในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการออกแบบถนนของโครงการ เช่น การเพิ่มทางบริการให้มีตั้งแต่จุดเริ่มต้นโครงการ หรือเพิ่มจุดเข้า-ออกของที่ดินในแปลง อีกทั้งแนะนำขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน และการจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ด้วย

นายโกมล จันจู สมาชิกสภาเทศบาลตำบลนาดี ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการ เปิดเผยว่า ตนเพิ่งทราบว่าจะมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น ตอนแรกจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณร้านไทวัสดุ แต่ก็ได้ย้ายแนวเส้นทางมาผ่านที่ดินบ้านของตน ทำไมทางโครงการฯ จึงไม่มาทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้านถึงความเหมาะสม ผลกระทบความเดือดร้อนของชาวบ้าน และความคุ้มค่าในการก่อสร้าง ซึ่งคนในพื้นที่มองว่าไม่ได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ตนอยากให้เปลี่ยนแนวเส้นทางไปที่บริเวณช่วงบ้านแพ้วจะเหมาะสมกว่า เพราะรถไม่ติด

ทางด้าน ศิรินุช​ สีตารมณ์ ชาวบ้านหมู่ 3 ต.นาดี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการ เปิดเผยว่า ตนเพิ่งทราบมาประมาณ 1-2 เดือน ทั้ง ๆ ที่มีการประชุมกันแล้วหลายรอบ แต่ตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบเพราะที่ดินโดนหมดทั้งแปลง แล้วไม่มีจดหมายหรืออะไรแจ้งให้ทราบ มาทราบจากเพื่อนอีกที ซึ่งตนรู้สึกหมดแรง ทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่มีความแน่นอนว่าราคาประเมินที่ดินจะได้เท่าไร จะโดนเวนคืนเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ และจะย้ายไปต่อได้ไหม โดยตนยอมเสี่ยงที่จะกู้เงินไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ แล้วต่อไปถ้าโครงการฯ ไม่เกิดขึ้น ตนจะนำเงินที่ไหนไปจ่าย เพราะที่ดินแปลงใหม่ก็ไม่ได้ ที่ดินแปลงเก่าก็หลุด

นายเกรียงไกร เชน หนึ่งในแกนนำกลุ่มนาดี สวนหลวง อ้อมน้อย ไม่เอามอเตอร์เวย์ เปิดเผยว่า ต.นาดี เป็นพื้นที่ค่อนข้างจะเปราะบางในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากชุมชนมีความแออัดพอสมควร การที่มอเตอร์เวย์เข้ามาก็จะนำมลภาวะเข้ามาด้วย โดยเฉพาะ PM2.5 ทุกวันนี้ก็หายใจไม่ค่อยคล่องอยู่แล้ว ก็ไม่อยากได้อากาศเสียเข้ามาเพิ่มเติมอีก อีกทั้งชุมชนนาดีก็ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ชาวบ้านในละแวกนี้อยู่กินกันมาเป็นสิบปี เมื่อมอเตอร์เวย์เข้ามามีแต่ทำลายเขา ทำให้บ้านเขาสูญไป ต่อจากนี้เขาจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อที่แถวนี้เพื่อสร้างบ้าน และก็ต้องถูกแยกจากครอบครัวและเครือญาติที่อยู่ด้วยกัน

“ที่วันนี้เราต้องมารวมตัวกันเพราะรู้สึกว่าทางโครงการฯ กำลังโกหกเรา เขาต้องพูดให้กระจ่าง ต้องมีหลักการว่าถ้าให้เรารับได้ เขาต้องทำให้ดีที่สุด ทั้งเรื่องทางคู่ขนานที่ให้เราใช้สอย หรือค่าเวนคืนที่จะจ่ายให้เราเท่าไหร่ ไม่ใช่พูดแบบลอย ๆ ถ้าเป็นแบบนี้เราก็ต้องพึงสื่อ และสถาบันต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือเรา” นายเกรียงไกร กล่าว

นายณัฐฉัตร อึงวัฒนากุล วิศวกรงานทาง ผู้แทนกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ในการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 เป็นทางระบบปิด หรือมอเตอร์เวย์ มีประโยชน์เพื่อในการขนส่งโลจิสติกส์ และความปลอดภัยในการเดินทาง ช่วยแก้ปัญหาจราจรไปในตัว ซึ่งในการเลือกพื้นที่ก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 มีระยะที่พอเหมาะ คือห่างจากถนนวงแหวนรอบที่ 2 (ถ.กาญจนาภิเษก) ประมาณ 15 กม. เพื่อแบ่งเบาภาระการจราจร

อีกทั้งในการศึกษาเมื่อปี 2552 จุดเริ่มต้นโครงการอยู่ในตำแหน่งหนึ่ง (กม.23+200) ถัดจากนั้นในปี 2557 มีการศึกษาอีกครั้งพร้อมกับทางยกระดับ ถ.พระรามที่ 2 ก็มีการกำหนดจุดเริ่มต้นที่ตำแหน่งนี้ (กม. 22+500) โดยพิจารณาจากพื้นที่โล่งกว่า และสามารถเชื่อมต่อออกทางวงแหวนใต้ได้ ดูภาพรวมแล้วมีผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด

“ในการประชุมวันนี้ ทางโครงการฯ ต้องการรับฟังปัญหาจริง ๆ ในเรื่องการเข้า-ออก ผลกระทบการดำเนินงานของแต่ละโรงงานหรือประชาชนที่มีอยู่ เพื่อได้ข้อมูลนำไปปรับปรุงเพิ่มเติมบริเวณจุดที่มีข้อด้อย ซึ่งเราได้ทำมาหลายครั้งแล้ว เช่น มีทางคู่ขนานมาบริการ ให้คนในพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้า-ออกได้ ก็จะเชื่อมต่อได้ เพิ่มโครงข่ายระบบถนนในท้องถิ่น” นายณัฐฉัตร กล่าว

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *