ชู “จุดพักรถลอยฟ้า” มอเตอร์เวย์ใหม่วงแหวนรอบ 3

เผยผลการศึกษาโครงการมอเตอร์เวย์ วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันตก สร้างทางยกระดับยาวถึงพุทธมณฑล สาย 5 พร้อมชูจุดพักรถลอยฟ้า ห้องสุขาและเครื่องขายสินค้า คาดสำรวจ-ออกแบบทำอีไอเอ 2 ปี เวนคืน 2 ปี ก่อสร้างอีก 4 ปี เปิดให้บริการปี 2570

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 ส.ค. 2562 ที่หอประชุมพุทธมณฑล สำนักงานพุทธมณฑล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม กรมทางหลวง และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จัดการประชุมสรุปผลการศึกษาของโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านตะวันตก

โดยมี นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานเปิดงาน และนายกรีธา เดชพิณ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ผู้แทนกรมทางหลวง กล่าวรายงาน มีผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในพื้นที่บริเวณแนวเส้นทาง จาก จ.สมุทรสาคร และนครปฐม เข้าร่วมประชุม บรรยากาศโดยภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นายกรีธา กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 5 จากการประชุมของโครงการทั้งหมด 5 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาทั้งหมดของโครงการในทุกประเด็น ทั้งทางด้านวิศวกรรม ด้านการจราจรและขนส่ง ด้านการวิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมาให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการได้รับทราบ และเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่มีผลต่อการศึกษาของโครงการในทุก ๆ ด้าน

สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านตะวันตก พื้นที่ศึกษาของโครงการครอบคลุมใน 41 ตำบล 12 อำเภอ และ 5 จังหวัด ประกอบด้วยสมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา โดยจุดเริ่มต้นของโครงการอยู่บน ถ.พระราม 2 ประมาณ กม.22+500 แนวเส้นทางจะตัดผ่าน ถ.เพชรเกษม ถ.พุทธมณฑลสาย 5 ถ.บรมราชชนนี ถ.บางกรวย-ไทรน้อย ถ.พนมทวน-กำแพงแสน ถ.บางบัวทอง-สุพรรณบุรี ถ.สามโคก-เสนา ถ.ปทุมธานี-บางปะหัน และถนนท้องถิ่น ไปบรรจบกับ ถ.สายเอเชีย ที่ประมาณ กม.13+790 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ

ซึ่งทางหลวงพิเศษได้ยกระดับตลอดในช่วง กม. 0+000 จนถึง กม. 26+500 เพื่อลดผลกระทบชุมชนและเชื่อมโครงข่ายถนนท้องถิ่น มีทางแยกต่างระดับ 9 จุด คือ มหาชัย (จุดเริ่มต้นโครงการ), พุทธสาคร, อ้อมน้อย, ศาลายา, คลองโยง, ไทรน้อย, บางไทร, ทุ่งศรีโพธิ์ และบ้านกรด (จุดสิ้นสุดโครงการ) มีสะพานข้ามแม่น้ำ 3 จุด คือ แม่น้ำน้อย และคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นสะพานคานยื่นสมดุล (Balanced Cantilever Bridge) และแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) ซึ่งสะพานแต่ละแห่งไม่มีเสาตอม่อลงลำน้ำ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงที่พักริมทางอีก 4 จุด

ในส่วนพื้นที่ จ.สมุทรสาคร รูปแบบถนนตั้งแต่จุดเริ่มต้นโครงการ กม.0+000 จนถึง กม. 1+000 เป็นทางยกระดับไม่มีทางบริการ ความกว้าง 50 เมตร, ตั้งแต่ กม. 1+000 ถึง กม. 7+860 เป็นทางยกระดับพร้อมทางบริการด้านซ้ายหรือขวาทาง ความกว้าง 50 เมตร แนวเส้นทางผ่าน ต.นาดี อ.เมืองฯ ต.คลองมะเดื่อ และ ต.แคราย, ตั้งแต่ กม. 7+860 ถึง กม. 9+000 เป็นทางยกระดับไม่มีทางบริการ ซึ่งจะเข้าสู่ทางแยกต่างระดับ ถ.พุทธสาคร ในเขต ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน, ตั้งแต่ กม. 9+000 ถึง กม. 13+900 เป็นทางยกระดับพร้อมทางบริการทางด้านขวาทาง ความกว้าง 50 เมตร ก่อนที่จะเข้าสู่ทางยกระดับบน ถ.พุทธมณฑลสาย 5 เริ่มตั้งแต่ กม. 13+900 เรื่อยไปจนถึงเขต อ.สามพราน จ.นครปฐม ก่อนจะมุ่งหน้าไปสู่จุดสิ้นสุดโครงการ กม.98+582 ที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

นอกจากนี้ ยังมีจุดพักรถ (Rest Stop) ที่บริเวณ กม. 11+500 ในพื้นที่ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน ห่างจากสำนักงานเทศบาลตำบลสวนหลวงประมาณ 700 เมตร ซึ่งเป็นจุดพักรถที่มีรูปแบบตั้งอยู่บนโครงสร้างยกระดับทั้งสองฝั่ง มีอาคารขนาดเล็กตั้งอยู่กึ่งกลาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและห้องสุขา รองรับผู้ใช้บริการที่ต้องการจอดพักรถระยะสั้น โดยมีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ที่จอดรถรองรับรถยนต์ฝั่งละ 22 คัน และรถบรรทุก 8 คัน

ทั้งนี้ จากการประมาณการของที่ปรึกษาโครงการฯ ในกรณีที่ไม่ติดขัดปัญหาในการดำเนินงาน หลังจากงานศึกษาความเหมาะสมฯ แล้ว จะเป็นขั้นตอนงานสำรวจและออกแบบรายละเอียด และเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน ใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี จึงจะเข้าสู่การก่อสร้างและควบคุมงานก่อสร้าง ใช้เวลาอีกประมาณ 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *