“ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5” ส่งเสริมความรอบรู้-พฤติกรรมสุขภาพจิต แก่เครือข่ายสื่อมวลชน 8 จังหวัด

ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 ราชบุรี จัดโครงการส่งเสริมความรอบรู้และพฤติกรรมสุขภาพจิต สำหรับเครือข่ายสื่อมวลชน จำนวน 60 คน จาก 8 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 5 รวมถึงการบรรยายเรื่องกัญชาในทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2562 ที่ห้องประชุมชั้น 5 โรงแรมอัมพวาน่านอนแอนด์สปา ถ.ประชาเศรษฐ ต.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม น.ส.รัชวัลย์ บุญโฉม ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 ราชบุรี เป็นประธานเปิด “โครงการส่งเสริมความรอบรู้และพฤติกรรมสุขภาพจิต สำหรับเครือข่ายสื่อมวลชน เขตสุขภาพที่ 5 กิจกรรมที่ 3 ติดตามผลการดำเนินงานส่งเสริมความรอบรู้และพฤติกรรมสุขภาพจิตที่พึงประสงค์” โดยมีสื่อมวลชน สาขาวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เคเบิ้ลทีวี สื่อออนไลน์ ผู้รับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และประชาสัมพันธ์จังหวัด จาก 8 จังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 5 จำนวน 60 คน เข้าร่วมโครงการ

สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการติดตามผลการดำเนินการส่งเสริมความรอบรู้และพฤติกรรมสุขภาพจิตที่พึงประสงค์ในพื้นที่ หลังจากที่ได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาการเสริมสร้างความรอบรู้และพฤติกรรมสุขภาพจิตที่พึงประสงค์ สำหรับเครือข่ายสื่อมวลชน เขตสุขภาพที่ 5 จำนวน 2 รุ่น เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งการบรรยายในหัวข้อ “รู้ทันกัญชา” โดย นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต ซึ่งได้อธิบายถึงต้นกำเนิดและสรรพคุณของกัญชา สารประกอบหลักในกัญชาอย่าง THC และ CBD รวมถึงผลดีและผลเสียในการนำมาใช้ทางการแพทย์ โดยเฉพาะอาการข้างเคียงทางจิตเวช และความเสี่ยงต่อการป่วยโรคจิตเรื้อรังเมื่อใช้กัญชาเป็นเวลานาน

น.ส.รัชวัลย์ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต มีบทบาทภารกิจหลักในการส่งเสริม ป้องกัน ปัญหาสุขภาพจิตสำหรับประชาชน บำบัดรักษา รวมทั้งฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยจิตเวช มีการกำหนดยุทธศาสตร์ ในการสร้างความตระหนักและเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพจิต โดยเสริมสร้างความรอบรู้ และพฤติกรรมสุขภาพจิตแก่ประชาชน ซึ่งมุ่งเน้นให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต (Mental Health Literacy) ใช้กลยุทธ์การพัฒนาสื่อสารสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพ สร้างและขยายเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

ซึ่งสื่อมวลชนสาขาวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือสื่อสังคมออนไลน์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเป็นสื่อกลางช่วยสร้างความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะสื่อมวลชนเป็นกลไกที่สามารถสื่อสารข้อมูล ให้เข้าถึงคนจำนวนมากได้ในเวลาอันรวดเร็ว

น.ส.รัชวัลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกรมสุขภาพจิต ได้มอบหมายให้ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 ดำเนินการพัฒนาเครือข่ายสื่อมวลชนด้านสุขภาพจิต โดยเน้นเสริมสร้างความรอบรู้สุขภาพจิต และพฤติกรรมสุขภาพจิตที่พึงประสงค์ ซึ่งถือเป็นเขตแรกในการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสื่อมวลชน ที่ดำเนินการต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังเครือข่ายสื่อมวลชน ในการสื่อสารความรู้สุขภาพจิตแก่ประชาชน เผยแพร่ความรู้สุขภาพจิตและจิตเวชสู่สังคม นำไปสู่การมีพฤติกรรมสุขภาพจิตที่พึงประสงค์

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *