สศร. จัดนิทรรศการถอดอัตลักษณ์ท้องถิ่นใน 4 จังหวัด ด้วยศาสตร์ 4DNA

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดนิทรรศการ “โครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม” ปี 2562 โชว์ผลงานออกแบบจากการถอดรหัสอัตลักษณ์ท้องถิ่น สมุทรสาคร นครราชสีมา เชียงราย และเพชรบุรี ผ่านแนวคิด 4DNA

เมื่อเวลา 13.00 น วันที่ 20 ก.ย. 2562 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบที่แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น “โครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ประจำปี 2562 Cultural Capital through Creative Contemporary Design” จาก 61 อำเภอ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร นครราชสีมา เชียงราย และเพชรบุรี ที่บริเวณไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ระหว่าง 20-22 ก.ย. 2562

โดยมี น.ส.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย หรือ สศร. ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ และอดีตคณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประธานโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ผู้แทนส่วนราชการและเอกชน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงาน ซึ่งทางจังหวัดสมุทรสาคร มีนายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และนายปราโมทย์ ชาวเมืองโขง วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดนิทรรศการฯ และลงนามการโอนงานลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาในโครงการดังกล่าวด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า สศร. ได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อเป็นการนำกระบวนสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัย มาพัฒนาศิลปวัฒนธรรมที่มีในชุมชน อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะอนุรักษ์ รักษาศิลปวัฒนธรรม ไปพร้อมกับพัฒนาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างมากมาย ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มมากขึ้น โดยใช้การค้นหาและถอดรหัสอัตลักษณ์ของแต่ชุมชน ด้วยแนวคิดศาสตร์ 4DNA (คือการคิดรอบด้าน) ซึ่งมีหลักสำคัญ คือ การค้นหาตัวตนของแต่ละชุมชนจากมิติต่าง ๆ แล้วนำมาศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ตราสินค้า โลโก้ โทนสี ลวดลายผ้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบตกแต่งภายใน ฯลฯ ซึ่งผลงานที่เกิดขึ้นจะมีความทันสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการในชุมชนในด้านการผลิต การสร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนเติบโตขึ้น

ซึ่งในปีที่ผ่านมา สศร. ได้ดำเนินโครงการฯ ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ พิษณุโลก ระยอง สมุทรสงคราม และนครศรีธรรมราช รวมจำนวน 43 อำเภอ จนเกิดผลงานการออกแบบศิลปะร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ และการพัฒนาต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีการนำผลผลิตต่าง ๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่จังหวัด ทำให้เกิดรายแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับในปี 2562 มี 4 จังหวัดที่เข้าร่วม ได้แก่ สมุทรสาคร นครราชสีมา เชียงราย และเพชรบุรี และได้นำผลงานต้นแบบมาจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้

นอกจากนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน สศร. ยังได้ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ให้ความรู้แก่ชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงภายใต้โครงการดังกล่าว สศร. และ ม.ศิลปากร ยังได้ทำข้อตกลงการโอนลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับโครงการให้กับจังหวัดพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับมอบ ซึ่งผลงานที่ได้รับนั้น จะได้นำไปใช้สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการหรือชุมชนในท้องถิ่น ได้นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

ทางด้านผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า การจัดทำโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม นับเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศโดยใช้มิติทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นต้นน้ำ นำมาต่อยอดสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ ไปสู่การออกแบบในหลากหลายมิติ เป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานด้านศิลปวัฒนธรรม ที่มุ่งหวังให้เป็นแนวทางในการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรม ด้วยการประยุกต์ใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมในทุกภาคส่วน ได้เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเองด้วย

ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง ผู้คิดค้นแนวคิดศาสตร์ 4 DNA กล่าวว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุค City Branding หากเราไม่เริ่มสำรวจอัตลักษณ์ประจำเมือง จะถูกเมืองที่มีศักยภาพสูง การลงทุนมากกว่า กลืนกินในไม่ช้า การนำแนวคิดศาสตร์ 4 DNA โดยผ่านการสำรวจและวิจัยตั้งแต่พฤติกรรมคนจนถึงระดับวัฒนธรรม และแปลงข้อมูลทั้งหมดให้กลายเป็นคอนเซ็ปต์ของแต่ละชุมชน แต่ละอำเภอ ทำให้เกิดอัตลักษณ์ประจำถิ่น ที่สามารถประยุกต์ใช้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจในหลากหลายมิติ

แม้กระทั่งสีที่ใช้ ลายเส้น ฟอนท์ตัวหนังสือ ในแต่ละชุมชน สะท้อนมาจากอัตลักษณ์ประจำถิ่น ที่มีเรื่องราวให้คนในถิ่นมีความภาคภูมิใจ กล่าวง่ายๆ ศาสตร์ 4 DNA คือ การระดมความคิดจากทุกสารทิศ ทุกองค์ประกอบ และปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ มาเป็นส่วนในการกำหนดอัตลักษณ์ อาทิ ภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ สังคม เศรษฐกิจ จากนั้นนำความคิดรอบด้านไปสู่การออกแบบรอบทิศ และได้แนวทางศาสตร์ 4 DNA เฉพาะแต่ละชุมชนในการไปใช้ประโยชน์รอบด้าน

ทั้งนี้ สศร. จะมีการผลักดันโครงการดังกล่าว ให้เกิดประโยชน์ในระดับมหภาคมายิ่งขึ้น และกำลังร่วมมือกับกระทรวงต่าง ๆ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย ในการนำสิ่งที่ได้พัฒนาขึ้น นำไปต่อยอดด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน สำหรับในปี 2563 สศร. มีแนวทางในการต่อยอดในพื้นที่เมืองเศรษฐกิจและเมืองรองและเมืองการท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาไปสู่ Creative City และการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (MICE) ในพื้นที่จังหวัด ชลบุรี ภูเก็ต สุโขทัย และราชบุรี ต่อไป

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *