ปปส.ภาค 7 เสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนภาคตะวันตก ที่ จ.สุพรรณบุรี

ปปส.ภาค 7 จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนภาคตะวันตก 8 จังหวัด ทางด้าน ผอ.ปปส.ภาค 7 เผยสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ยังน่าเป็นห่วง มีการลักลอบนำเข้าทางด่านสิงขร-สังขละบุรี และเฮโรอีนแพร่ระบาดในเด็กและเยาวชน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 7 (ปปส.ภาค 7) ได้จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนภาคตะวันตก เพื่อการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้งานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2563 ระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค. 2563 ที่โรงแรมสองพันบุรี อ.เมืองฯ จ.สุพรรณบุรี และศึกษาดูงานในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี โดยมีนายธนากร คัยนันท์ ผอ.ปปส.ภาค 7 เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ และ น.ส.ทิพย์วารี ชมชื่น นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงาน ปปส.ภาค 7 กล่าวรายงาน มีเครือข่ายสื่อมวลชนประกอบด้วย สื่อโทรทัศน์ท้องถิ่น สถานีวิทยุในสังกัด สวท. นักหนังสือพิมพ์ ประชาสัมพันธ์เขต 8 ประชาสัมพันธ์จังหวัด และผู้แทน ศอ.ปส.จ. ทั้ง 8 จังหวัดในพื้นที่ภาค 7 เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งหมด 52 คน

นายธนากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันตก ยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้าและการเสพ ตนเป็นห่วง ในส่วนของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนหรือครอบครัวในแต่ละพื้นที่ ส่วนสถานการณ์ของการลักลอบนำเข้ายาเสพติด มีช่องทางที่น่าจับตามอง ได้แก่ ด่านสิงขร ต.คลองวาฬ อ.เมืองฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นกระท่อมผงบด โดยผู้ลำเลียงเป็นคนต่างด้าวและมีนายทุนเป็นคนไทย รวมถึงในพื้นที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นช่องทางการลักลอบนำเข้าทั้งในเรื่องของยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน

นอกจากนี้ ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี ก็มีการแพร่ระบาดของเฮโรอีนเข้ามาในพื้นที่ ที่น่าเป็นห่วงคือในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ใช้เฮโรอีน ซึ่งพิษภัยร้ายแรงกว่ายาบ้า เป็นการเสพติดทางร่างกาย ถ้าไม่ได้เสพก็จะมีอาการลงแดงและทุรนทุราย และคนใช้เฮโรอีนจากข้อมูลที่ผ่านมา ไม่เกิน 11 ปีก็จะเสียชีวิต อีกเรื่องหนึ่งคือรัฐบาลที่ผ่านมาและปัจจุบัน ได้มีการดำเนินการในทางนโยบายกับพืชเสพติด 3 ชนิด (3 ก.) คือ กัญชา กัญชง และกระท่อม ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของกฎหมาย ไม่ว่าชนิดใดก็ตาม การผลิต การปลูก การเสพ ยังถือว่าผิดกฎหมาย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเพื่อดำเนินการทางการแพทย์และการวิจัย จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายและประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ   

สำหรับโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ นโยบายการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแผนงานของรัฐบาล พัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างเครือข่ายประชาสัมพันธ์กับสำนักงาน ปปส.ภาค 7 ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนในระดับพื้นที่ชุมชนหรือหมู่บ้าน และกำหนดแนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ร่วมกัน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์นโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลสู่ประชาชนในระดับพื้นที่ให้เป็นวงกว้าง

ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยการบรรยายต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคตะวันตก โดย น.ส.เสาวลักษณ์ กิตติธนานุรักษ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ปปส.ภ.7, การดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี โดย พ.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ ชูนาค รอง ผบก.ภ.จว.สุพรรณบุรี และเรื่องแนวทางการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชุมชนของจังหวัดสุพรรณบุรี “สุพรรณบุรีโมเดล” จากนายมนตรี พงษ์เผือก เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ ปลัดอำเภอศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี

นอกจากนี้ สำนักงาน ปปส.ภาค 7 ยังได้นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการบำบัดรักษาในชุมชน “CBTx & Harm Reduction บ้านเขาชะโอย” หมู่ 10 ต.เขาพระ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี โดยมีนายธีร์ สัจจะวงษ์รัตน์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีรูปแบบการบำบัดยาเสพติดที่ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เสพสมัครใจบำบัดและเลิกยาเสพติด ไม่มีรายชื่อเข้าระบบ ไม่สูญเสียรายได้ สามารถใช้ชีวิตปกติอยู่กับครอบครัวและชุมชน รวมถึงให้โอกาส ให้กำลังใจ ติดตามดูแลช่วยเหลือแบบไม่เป็นทางการ

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *