“ศักดิ์สยาม” แจงสร้าง “ยกระดับพระราม 2” ไม่ปิดพื้นที่ยาว ตอกเข็ม 8 ก.ค.นี้ แนะเหลื่อมเวลาเดินทาง

รมว.คมนาคม ลงพื้นที่ก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 พ่วงทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก แจงวางแผนแล้วไม่ได้ปิดพื้นที่ยาว แนะเหลื่อมเวลาเดินทางช่วงเร่งด่วน เหตุบางครั้งมีรถมากกว่าถนนรองรับ เริ่มก่อสร้างหลังหยุดยาว 8 ก.ค. นี้ ลั่นหลังจากนี้เพิ่มเป็น 20 เลน วิ่งฉิว กทม. สู่ภาคใต้

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 29 มิ.ย. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถ.พระราม 2) ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย บริเวณหน้างานโครงการ ถ.พระราม 2 กม.13 ปากทางพระราม 2 ซอย 94 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเริ่มก่อสร้างและร่วมบูรณาการการทำงานของทั้งสองหน่วยงาน โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง และนายปริญญา แสงสุวรรณ วิศวกรใหญ่ด้านควบคุมการก่อสร้างฯ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคมให้การต้อนรับ ในการนี้มีนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และนาย​ประลอง​ยุทธ์​ กสิ​วงศ์​ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรสาคร เข้าร่วมต้อนรับ รมว.คมนาคม ด้วย

นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า วันนี้ตนมาดูโครงการ ถ.พระราม 2 เดิมที่มีปัญหารถติดเนื่องจากการก่อสร้างโครงการปรับปรุง ถ.พระราม 2 ก็ได้มาเห็นว่าทางกรมทางหลวงสามารถคืนผิวจราจรได้ทั้งหมด ทำให้จากเดิมก่อนการก่อสร้างมี 10 ช่องจราจร ไป-กลับ แบ่งเป็นทางคู่ขนาน 2 ช่องจราจร และช่องทางหลัก 3 ช่องจราจร วันนี้ขยายเพิ่มขึ้นมาเป็น 14 ช่องจราจร ไป-กลับ แบ่งเป็นช่องทางคู่ขนาน 3 ช่องจราจร และช่องทางหลัก 4 ช่องจราจร ก็เห็นว่าสภาพการจราจรรถสามารถเคลื่อนตัวได้โดยไม่ติดขัด ซึ่งที่ตนทราบถ้าเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนบางครั้งจะมีปริมาณรถมากกว่าผิวจราจรที่มีอยู่ ตรงนี้ต้องเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่าต้องบริหารเวลาในการออกมาใช้ถนน ถ้าไม่มีความจำเป็นในช่วงเวลาเร่งด่วนก็ให้เดินทางเหลื่อมเวลามาช่วงเวลาปริมาณรถเบาบาง

ขณะเดียวกัน หลังจากที่ ถ.พระราม 2 คืนผิวจราจรได้ 1 เดือนแล้ว ตอนนี้กำลังตีเส้นจราจรและจะวางแบริเออร์ด้านข้าง ตนและอธิบดีกรมทางหลวง พร้อมข้าราชการกรมทางหลวง ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ประชุมบูรณาการกันว่าเรามีความจำเป็นที่จะก่อสร้างทางยกระดับ ถ.พระราม 2 ของกรมทางหลวง และทางด่วนพระราม 3 ของการทางพิเศษ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ผิวจราจรตรงกลางประมาณข้างละ 1 ช่องจราจร ซ้าย-ขวา ในการก่อสร้าง

แต่ตรงนี้ก็ไม่ได้ทำให้การจราจรมีปัญหาอุปสรรคอะไร เพราะมีผิวจราจรเพิ่มขึ้นอีก 2 ช่องจราจร และการก่อสร้างมีการวางแผนบูรณาการกันว่าจะไม่ได้ปิดพื้นที่แบบยาว ๆ แต่จะปิดตามความสามารถของเครื่องจักรที่เข้ามาดำเนินการ ซึ่งมีการวางแผนว่าจะก่อสร้าง ถ.พระราม 2 ตั้งแต่ กม.14 ถึงประมาณ กม. 20 จะใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปีในช่วงแรก แล้วจะเสร็จใน 3 ปีทั้งหมด มีการดำเนินการบูรณาการอำนวยความสะดวกในการจราจรโดยให้ป้ายสัญญาณต่าง ๆ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อลงในแอปพลิเคชัน “Thailand Highway Traffic” ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถดูสภาพจราจรและจุดที่ก่อสร้าง เพื่อจะได้ตัดสินใจในการใช้เส้นทางได้ถูกต้อง

สิ่งที่อยากจะเรียนพี่น้องประชาชนทราบว่า ตนลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อที่จะวางแผนว่าหลังจากวันหยุดยาว 4-7 ก.ค. 2563 แล้วในวันที่ 8 ก.ค. ก็จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เพราะฉะนั้นให้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความจำเป็นในการที่จะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ เพราะ ถ.พระราม 2 เป็นเส้นเลือดหลักในการเดินทางของพี่น้องชาวภาคใต้ ไป-กลับกรุงเทพฯ ถ้าดำเนินการแล้วเสร็จก็จะมีผิวจราจรด้านล่าง 14 ช่องจราจร และด้านบนอีก 6 ช่องจราจร รวมเป็น 20 ช่องจราจร ซึ่งก็จะเพียงพอให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ในการคมนาคมให้เกิดความสะดวก สิ่งเหล่านี้กระทรวงคมนาคม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งการว่าสิ่งใดก็ตามที่เราจะต้องทำ เราต้องไม่ทำให้เกิดปัญหากับพี่น้องประชาชน และในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ตนได้พานายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภนมณ ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 23 มาร่วมลงพื้นที่ด้วย เพื่อที่จะได้ประสานกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่

นายศักดิ์สยามได้กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้ทางกระทรวงคมนาคมก็ทำในสิ่งที่สัญญากับพี่น้องประชาชนไว้ ตนเข้ามารับตำแหน่ง รมว.คมนาคมได้ 11 เดือน ก็สามารถที่จะคืนผิวจราจรให้พี่น้องประชาชนได้ตามที่สัญญาไว้ และคิดว่าการก่อสร้างทั้งหมดที่ดำเนินการตามแผน 3 ปี ก็จะทำได้ทั้งหมด และตนจะลงมาดูเป็นระยะ ถ้าพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัย ก็สามารถที่จะสอบถามไปที่กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง การทางพิเศษฯ หรือผ่านทาง ส.ส. ได้ แล้วตนก็ยินดีที่จะรับฟังปัญหาทั้งหมด อะไรดีเราช่วยกันทำ อะไรไม่ดีเราช่วยกันแก้ไข สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราทำงานและประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการลงพื้นที่ นายศักดิ์สยาม และคณะ ได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน 2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่บริเวณ ถ.พระราม 2 กม.4 ตรงข้ามธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบางมด แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เพื่อตรวจสอบพื้นที่และความพร้อมของโครงการดังกล่าวด้วย

สำหรับโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ประกอบด้วย 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ มีสะพานขึงคู่ขนานกับสะพานพระราม 9 ระยะทาง 2 กิโลเมตร จากนั้นเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานคร ระยะทางประมาณ 5.1 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวซ้ายซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 ระยะทางประมาณ 11.6 กิโลเมตร สิ้นสุดที่หลักกิโลเมตรที่ 13 บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน

ส่วนโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 8.33 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นต่อเนื่องกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 สิ้นสุดโครงการที่หลักกิโลเมตรที่ 20+295 ก่อนถึงทางแยกต่างระดับเอกชัย และยังมีสะพานข้ามทางแยกต่างระดับเอกชัย ทำหน้าที่รับรถจากถนนเอกชัย ด้านจังหวัดสมุทรสาคร ลงมายังถนนพระราม 2 ขาเข้ากรุงเทพฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถใช้ทางยกระดับสายนี้ โดยไม่ต้องเลี้ยวซ้ายไปกลับรถที่สะพานกลับรถได้อีกด้วย คาดว่าโครงการดังกล่าวจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2565

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *