สทนช. เสนอร่างผังน้ำให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน เวที จ.สมุทรสาคร

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 2 ลุ่มน้ำท่าจีน โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา ท่าจีน เวทีที่ 3 จ.สมุทรสาคร

วันนี้ (9 เม.ย.) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 3 ที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรสาคร นายอาวุธ วิเชียรฉาย ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 2 ลุ่มน้ำท่าจีน โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา ท่าจีน เวทีที่ 3 โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา โดยมี นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร, นายทรง​เกียรติ ขำทอง ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการลุ่มน้ำ 1, ดร.จงกล จงวิไลเกษม ผู้จัดการโครงการ รวมถึงคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดฯ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมประชุม 

นายทรง​เกียรติ กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมากลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาและทบทวนกายภาพของพื้นที่ การใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนที่แสดงโครงข่ายระบบระบายน้ำในปัจจุบัน ทิศทางการไหลของน้ำ วิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง แผนที่แสดงระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัย การบริหารจัดการอุทกภัย มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา แผนที่แสดงจุดประกาศภัยแล้ง การบริหารจัดการภัยแล้ง มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จากหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำแผนที่แสดงสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางน้ำ ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อนำมากำหนดขอบเขตผังน้ำ โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์

ผลการวิเคราะห์และจัดทำร่างผังน้ำลุ่มน้ำท่าจีนและลุ่มน้ำเจ้าพระยา สามารถกำหนดพื้นที่น้ำหลาก 8,671,002  ไร่ พื้นที่ลุ่มต่ำ 310,098 ไร่ และพื้นที่น้ำนอง 1,337,475 ไร่ โดย จ.สมุทรสาคร มีพื้นที่น้ำหลาก 188,969 ไร่ และพื้นที่ลุ่มต่ำ 164,585 ไร่ พื้นที่เหล่านี้มีข้อเสนอแนะในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำ เบี่ยงเบนการไหลของน้ำ และผังน้ำจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อมีการควบคุมการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ผังน้ำอย่างเหมาะสม 

เช่น เขตชลประทานน้ำนองและเขตที่กำหนดไว้เป็นทางน้ำหลาก ควรเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทเกษตรกรรม พื้นที่แก้มลิงกำหนดให้เป็นที่โล่ง ส่วนพื้นที่ชุ่มน้ำป่าชายเลนกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ส่วนเขตที่กำหนดไว้เป็นชุมชนและอุตสาหกรรมตามผังเมืองรวมจังหวัด ควรมีระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม 

โดยการจัดทำผังน้ำมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 30 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561, พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562, พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ.2485 เทศบัญญัติและข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้จะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ผังน้ำเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุด

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *