“ส.ส.จอมขวัญ” ควง กมธ.พลังงาน รับฟังปัญหากลุ่มเรือประมงพาณิชย์ สุดช้ำน้ำมันแพง-แก้ กม. IUU ไม่คืบ

“จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ” ส.ส. สมุทรสาคร เขต 3 พร้อม ปธ.กมธ.พลังงาน ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นกลุ่มประมงพาณิชย์ ร่วมกับรายการ “มองรัฐสภา” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา สะท้อนปัญหาน้ำมันแพง พ่วงสถานการณ์โควิด-กฎหมาย IUU เคยเสนอรัฐบาลแก้ไขแต่ไม่คืบหน้า

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 65 น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส. สมุทรสาคร เขต 3 พรรคเศรษฐกิจไทย พร้อมด้วย นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร นายอำนาจ หนูทอง ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นายพรเทพ ทองดี ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการมีส่วนร่วม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 และทีมงานรายการ “มองรัฐสภา” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ช่อง 10 ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และแนวทางการแก้ไขปัญหา ณ สะพานปลา ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

สำหรับรายการ “มองรัฐสภา” โดยนายกวีพันธ์ มนตรีวงศ์ ผู้ดำเนินรายการ ได้พูดคุยรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มประมงพาณิชย์ จ.สมุทรสาคร มีนายพงษ์พันธ์ โรจนไพลิน ผู้ประกอบการ เรือ ฮ.สินชัย และนายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร เป็นตัวแทนร่วมพูดคุยแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยรายการมีกำหนดออกอากาศในช่วงกลางเดือน ส.ค. นี้

โดยช่วงหนึ่ง น.ส.จอมขวัญ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงว่า ตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดในช่วงแรกที่ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ส่งผลกระทบต่ออาชีพชาวประมงโดยตรง เช่น การเดินทางขนส่งที่มีมาตรการในการเดินทางข้ามจังหวัด ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจในสินค้าประมงของ จ.สมุทรสาคร เกรงว่าจะมีเชื้อโควิดติดมา ทำให้สินค้าอาหารทะเลราคาตกต่ำ ยอดขายลดลง อีกทั้งมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เรือประมงไม่สามารถออกทำการประมงได้ ส่งผลให้ชาวประมงขาดรายได้ เมื่อเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจปัญหาน้ำมันแพง ทำให้ชาวประมงได้รับผลกระทบโดยตรง ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงเพิ่มมากขึ้น บางวันออกเรือไปแต่ไม่ได้อะไรกลับมาแล้วยังต้องขาดทุนกับค่าน้ำมัน

ตนคิดว่าในระยะสั้น รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงอย่างเร่งด่วน ขยายโครงการช่วยเหลือลดราคาน้ำมันให้ชาวประมง จนกว่าสถานการณ์ปัญหาราคาน้ำมันแพงจะคลี่คลายหรืออยู่ในภาวะปกติ ส่วนในระยะยาว รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนชดเชยราคาน้ำมันสำหรับเรือประมงขนาดเล็ก โดยการจัดสรรรายได้บางส่วนจากโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร สนับสนุนจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวประมงอย่างเป็นรูปธรรม การแก้กฎหมายประมงตามที้ได้ยื่นข้อเรียกร้องไปแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า กรณีขนาดตาอวนรุนเคย 2×4 มม. ลดข้อจำกัดในการทำประมงให้สามารถทำรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องพอดูแลครอบครัวได้ รวมทั้งการหาอาชีพเสริมให้กับชาวประมง

ขณะที่ตัวแทนผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ใน จ.สมุทรสาคร ได้สะท้อนปัญหาว่า ปัญหาราคาน้ำมันแพงทำให้ธุรกิจประมงพาณิชย์ได้รับผลกระทบหมดต้นทุนสูงขึ้นทั้ง 22 จังหวัดทั่วประเทศ จากเดิมที่มีปัญหาเรื่องระเบียบข้อกฎหมาย IUU (การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม) อยู่แล้ว ซึ่งก็ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขมาตลอดแต่ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ธุรกิจภาคประมงไปต่อลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะ จ.สมุทรสาคร จะเห็นภาพชัดเป็นเมืองประมง ดงโรงงาน เพราะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารทะเล ถ้าเรือประมงไปต่อไม่ได้ โรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ซึ่ง จ.สมุทรสาคร มีเรือประมงอยู่ประมาณ 400 ลำ ปัจจุบันหยุดไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง

ดังนั้น จึงต้องการให้รัฐบาลช่วยอุดหนุนราคาน้ำมัน แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เร่งแก้ไขกฎระเบียบข้อกฎหมาย IUU ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติ แยกประเด็นความผิดทางธุรการและความผิดทางทรัพยากร รวมทั้งขอให้ช่วยเร่งรัดโครงการรับซื้อเรือคืน เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ทางด้าน น.ส.จอมขวัญ ยังได้นำข้าวหอมมะลิจำนวนหนึ่ง มอบให้ตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้านที่มาร่วมบอกเล่าและแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นด้วย

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *