ประชาคมประมงพื้นบ้านสมุทรสาคร ยืนกรานเขตห้ามคราดหอยให้คงไว้ เห็นชอบพื้นที่ทำการประมงอวนลาก

“จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ” กรรมการผู้ช่วย รมว.เกษตรฯ ประธานเปิดประชุมประชาคมชาวประมงพื้นบ้าน หารือ 2 ประเด็นหลัก ให้ทางประมงจังหวัดสมุทรสาคร เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดฯ ด้านชาวประมงพื้นบ้านมีมติเอกฉันท์ ไม่ยกเลิกประกาศกระทรวงเกษตรฯ กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมือคราดหอย เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และเห็นชอบการกำหนดพื้นที่ทำการประมงฯ ด้วยเครื่องมือประมงประเภทอวนลากทุกชนิด

วานนี้ (15 พ.ย.) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลบางหญ้าแพรก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดเวทีการประชุมประชาคมชาวประมงพื้นบ้านและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในพื้นที่เขตทะเลชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายสรวิชญ์ แซ่ลิ้ม นายกเทศมนตรีตำบลบางหญ้าแพรก, นายกุณสมบัติ ศิริสมบัติ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร,

นายนิรันดร์ พรหมครวญ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร, น.ส.กมลทิพย์ ประดับธรรม ผู้แทนจากกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง, นายจักรพัณน์ ปิ่นพุทธศิลป์ ผู้แทนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสมุทรปราการ, นายพรเทพ ทองดี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 รวมถึงพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเกือบ 150 คนเข้าร่วม

ด้วยสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดสมุทรสาคร ประสงค์จัดประชุมประชาคมชาวประมง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เขตทะเลชายฝั่ง อ.เมืองฯ จ.สมุทสาคร จำนวน 2 ประเด็น ได้แก่ 1. การขอยกเลิกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับลงวันที่ 7 ก.ย. 2553 เรื่อง กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมือที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมงหอยชนิดสองฝาในท้องที่จังหวัดสมุทรสาคร พ.ศ. 2553 ตามที่ชมรมเรือคราดหอยแห่งประเทศไทยเสนอ

และ 2. การกำหนดพื้นที่ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งจังหวัดสมุทสาคร ด้วยเครื่องมือประมงประเภทอวนลากทุกชนิดที่ใช้ประกอบเรือกล ยกเว้นอวนลากแมงกะพรุน ตามร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงและพื้นที่ทำการประมงในพื้นที่จับสัตว์น้ำในเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ… ทั้งนี้ เพื่อนำผลการรับฟังความคิดเห็นเสนอให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดสมุทรสาครพิจารณาในการประชุมวันที่ 18 ธ.ค. 2566 เพื่อออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมประชาคมดังกล่าว เนื่องด้วยการทำการประมงพื้นบ้าน หมายถึง การทำการประมงโดยใช้เรือขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 280 แรงม้า ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง ชาวประมงอาศัยอยู่กันเป็นชุมชนหรือหมู่บ้านบริเวณริมฝั่งทะเล มีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมงและวิธีการทำการประมง เพื่อให้มีความสอดคล้องกับฤดูกาลหรือการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

ปัจจุบันชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดสมุทรสาครทำการขึ้นทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่า และกรมประมงเพื่อประกอบอาชีพจำนวน 459 ลำ ส่วนใหญ่ใช้เครื่องมืออวนรุนเคย อวนลอยปลากระบอก อวนลอยปลากุเรา และอวนจมปู มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นกับกรมประมงด้านการประมงพื้นบ้าน จำนวน 20 องค์กร นอกจากการทำการประมงพื้นบ้านแล้ว ยังมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ซึ่งอยู่ในเขตทะเลชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร คือ การเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบหลักไม้ไผ่ในที่อนุญาตซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน พื้นที่ได้รับอนุญาต 1,668.30 ไร่ ปีทำการประมง 2565-2566 มีเกษตรกรที่ขออนุญาตจำนวน 294 ราย แปลงเพาะเลี้ยงจำนวน 308 แปลง 

ส่วนข้อสรุปจากการประชุมประชาคมฯ ในครั้งนี้ เรื่องแรก การขอยกเลิกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ เรื่องกำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมือที่ใช้กับเรือยนต์ ทำการประมงหอยชนิดสองฝาในท้องที่จังหวัดสมุทรสาคร กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก ขอให้คงไว้เช่นเดิม ด้วยพื้นที่เขตห้ามใช้เครื่องมือฯ ตามประกาศข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเฉพาะหอยลายมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ด้วย หากยกเลิกประกาศ ก็จะส่งผลทำให้เรือประมงทั้งจากในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และต่างพื้นที่เข้ามาทำกินคราดหอยกันมากขึ้น จนส่งผลทำให้เกิดการรุกรานที่อยู่อาศัย แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทางธรรมชาติ และการทำลายล้างสัตว์น้ำวัยบริบาล ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการทำอาชีพประมงชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาครเป็นรุนแรง

ส่วนเรื่องที่ 2 การกำหนดพื้นที่ทำการประมงในเขตทะเลฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยเครื่องประมงประเภทอวนลากทุกชนิดที่ใช้ประกอบเรือกลฯ นั้น ในที่ประชุมเห็นสมควรให้ดำเนินการตามร่างดังกล่าว พร้อมทั้งกำหนดรูปแบบ คือ ขนาดตัวเรือต่ำกว่า 10 ตันกรอส กำลังเครื่องยนต์ต่ำกว่า 280 แรงม้า ขนาดตาอวนตามที่กรมประมงกำหนด คือ 2 x 2 มม. และช่วงเวลาในการทำการประมง ที่จะสลับกับเครื่องมืออวนรุนเคย ชาวประมงได้ขอให้มีการหารือกันนอกรอบอีกครั้ง แล้วสรุปผลให้กับสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อนำไปเสนอให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดสมุทรสาครพิจารณาในที่ประชุม วันที่ 18 ธ.ค. 2566 ต่อไป

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *