รมว.ยุติธรรม ลงพื้นที่สมุทรสาคร หารือชาวประมง รับฟัง 8 ข้อเสนอ แก้ปัญหาจากผลกระทบ IUU

“ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม พร้อม “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” อดีตรองนายกฯ ลงพื้นที่สมุทรสาคร รับฟังปัญหาความเดือดร้อนพี่น้องชาวประมง ผลกระทบจากการออกกฎหมายแก้ IUU

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2567 เวลา 10.30 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม และคณะฯ ร่วมพบปะพูดคุยสอบถามถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง ที่ได้รับผลกระทบจากการออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing และแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง โดยมี นายไพฑูรย์ มหาชื่นใจ ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกลุ่มชาวประมงในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมพันท้ายนรสิงห์ (401) ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร

จากปัญหาผลกระทบกรณีที่สหภาพยุโรป ประกาศให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) โดยให้ใบเหลืองประเทศไทยเมื่อเดือน เม.ย 2558 ปัจจุบันได้ปลดใบเหลืองประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562  ในช่วงของการดำเนินการตามสหภาพยุโรป ประเทศไทยได้ออก พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ฉบับแก้ไข นั้น เกิดผลกระทบให้กับพี่น้องชาวประมงเป็นอย่างมาก จึงยื่นข้อเสนอต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้แทนของรัฐบาล เพื่อให้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

ซึ่งตัวแทนภาคประมงแสดงความกังวลต่อการนำเข้าวัตถุดิบสัตว์น้ำจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก IUU ซึ่งวัตถุดิบที่นำเข้ามานั้น มีต้นทุนถูกกว่าประเทศที่ดำเนินการตามมาตรการต่อต้านการทำประมง IUU Fishing อย่างประเทศไทย จึงส่งผลกระทบต่อการทำประมงภายในประเทศ พร้อมกันนี้ ยังเห็นว่าภาครัฐควรส่งเสริมอาชีพประมงมากขึ้น ทั้งอาชีพชาวประมง แรงงานประมง อนาคตควรต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับชาวประมง เนื่องจากไต้ก๋งเรือปัจจุบัน ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 50 ปี ใกล้ที่จะเกษียณอายุ ขณะที่ไต้ก๋งเรือรุ่นใหม่ก็แทบไม่มี เพราะไม่มีการส่งเสริม อีกทั้งติดขัดเรื่องข้อกฎหมายในการประกอบอาชีพด้วย รวมทั้งมีข้อเสนอต่าง ๆ เช่น ปลาทูที่เป็นปลาผิวน้ำ และจะวางไข่ด้านใต้ของผืนน้ำ จึงอยากให้รัฐบาลห้ามทำประมงแบบอวนจมในฤดูที่ปลาวางไข่ และอยากให้มีแนวปะการังในพื้นที่ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอีกมิติหนึ่งด้วย เพราะจังหวัดสมุทรสาครสามารถเดินทางมาเที่ยวไปกลับจากกรุงเทพฯ ใน 1 วันได้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความต้องการที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมง และมีการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลมุ่งลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมง การดูแลชาวประมง ควบคู่กับการส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ภายใต้บริบทการทำประมงของไทยเพื่อให้เกิดความยั่งยืนมั่นคงในการประกอบอาชีพประมง และความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งทางสมาคมประมงสมุทรสงคราม ได้เสนอความเห็นให้มีคณะทำงานกลุ่มย่อย เพื่อเข้ามาติดตามดูแลปัญหาให้อุตสาหกรรมประมงสามารถกลับมาแข่งขันได้ พร้อมทั้งจะพิจารณาทบทวนแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกำหนดขั้นตอน และเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการทำประมงในไทย เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้าประมงในตลาดโลกอีกครั้ง และกลับให้เป็นเจ้าสมุทรเช่นเดิม

ทางด้าน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้มีโอกาสมาพบชาวประมงจังหวัดสมุทรสาคร ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยได้ร่วมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงจากหลายกลุ่มในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง โดยพี่น้องชาวประมงได้สะท้อนปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่ปัญหาแรงงาน โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย และจะร่วมหาทางออกให้พี่น้องประชาชนต่อไป

สำหรับผลของการพบปะพูดคุย ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะ กับพี่น้องชาวประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับข้อเสนอมาพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้ 1.การเสนอให้กรมประมงซื้อเรือคืน และตั้งงบซื้อเรือคืนอย่างต่อเนื่อง 2.ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ 3.เสนอให้มีการจัดตั้งสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ชาวประมงโดยเร่งด่วน 4.ให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสัตว์ต่างถิ่น 5.เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจฟื้นการประมงไทย 6.แก้ปัญหาด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับประมง และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงของไทย 7.คืนสิทธิ์เรือประมงที่ถูกตัดสิทธิ์ตาม IUU Fishing และ 8.ใช้งบประมาณการทำแนวปะการังเทียมมาซื้อเรือประมงและทำพิพิธภัณฑ์เรือประมง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *