“ชาวประมงสมุทรสาคร” ยื่นหนังสือร้อง “พล.อ.ประยุทธ์” คัดค้านให้สัตยาบัน อนุสัญญา C188 – วอนแก้ไขปัญหาประมง

ชาวประมงสมุทรสาครกว่า 200 คน รวมตัวพร้อมกับ 22 จังหวัดชายทะเลทั่วประเทศ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ฯ คัดค้านรัฐบาลจ่อให้สัตยาบันอนุสัญญา ฯ ILO C188 และขอความอนุเคราะห์แก้ไขปัญหาประมง 7 ด้าน

เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 1 ส.ค. 2561 ชาวประมงในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร กว่า 200 คน นำโดย นายกมล ไกรวัตนุสสรณ์ รองนายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร นายศาวงศ์ จุ้ยเจริญ อุปนายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร และนายบรรพต อินคชสาร ประธานชมรมอวนดำสมุทรสาคร ได้มารวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อยื่นหนังสือ 2 ฉบับ ประกอบด้วย หนังสือคัดค้านการที่รัฐบาลจะไปให้สัตยาบันเพื่อรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 (C188) และ หนังสือขอความอนุเคราะห์แก้ไขปัญหาประมง ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวพร้อมกับชาวประมงในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเลทั่วประเทศ

สำหรับประเด็นการคัดค้านรัฐบาล ที่จะให้สัตยาบันเพื่อรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 (C 188) นั้น เนื่องจากสมาคมการประมงสมุทรสาคร และสมาคมการประมงทั่วประเทศทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล พิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้ารัฐบาลไปร่วมให้สัตยาบันแล้ว จะก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวประมงไทยอยู่หลายประการ จะทำให้เกิดปัญหาทับถมเพิ่มขึ้นและทำลายอุตสาหกรรมประมงทะเลของไทยทั้งระบบ ตลอดจนการจ้างแรงงานภาคการประมงของประเทศไทย

ส่วนหนังสือขอความอนุเคราะห์แก้ไขปัญหาประมงนั้น สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลไทย ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้านการประมงอย่างเร่งด่วน ทั้งการออกกฎหมาย และการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเบ็ดเสร็จในการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสหภาพยุโรป (EU) ในการปลดล็อคการให้ใบเหลือง เนื่องจากประเทศไทยถูกระบุว่าเป็นประเทศที่สาม ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการ รายงาน และไร้การควบคุม (IUU)

พร้อมทั้งแนะนำให้ประเทศไทย ดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และการจัดการด้านการประมงของไทยให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป จนสร้างปัญหาความเดือดร้อน ขาดความเป็นธรรมในการพิจารณากฎหมาย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติอย่างรวดเร็วและรุนแรง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวประมง โดยเฉพาะชาวประมงที่ประกอบอาชีพโดยสุจริตได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง หลายครอบครัวประสบกับปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อน เช่น ผู้นำมีภาระหนี้สิน บุตรหลานต้องพักการศึกษา กิจการล้มละลาย ถูกดำเนินคดีโดยไม่ได้กระทำความผิด เป็นต้น

ทางสมาคมการประมงสมุทรสาคร จึงต้องการให้นายกรัฐมนตรี นำข้อร้องเรียนของชาวประมงในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร สั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเร่งแก้ไขใน 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งได้มีการเสนอขอให้เปิดให้คนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยอย่างผิดกฎหมาย และเปิดให้บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ไร้สัญชาติ ถือบัตรหมายเลขศูนย์) ทำเอกสารซีบุ๊คได้ เพื่อทำงานในเรือประมง ซึ่งมีความต้องการแรงงาน จำนวน 50,000 คน และให้มาตรการนี้เปิดใช้ตลอดระยะเวลา 2 ปี

2.การซื้อเรือคืน ขอให้รัฐบาลดำเนินการจัดทำโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน หรือซื้อเรือคืนตามแผนบริหารจัดการประมงทะเล ดำเนินการเรื่องการซื้อเรือคืนโดยเร็วที่สุด 3. ขอให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข กฎ และระเบียบต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการเรือประมง ให้มีความเสมอ ทัดเทียมกับอาชีพอื่นๆ 4.ในส่วนของกรมเจ้าท่า ขอให้ออกประกาศกฎข้อบังคับการตรวจเรือ ฯ ตามที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขแล้ว เมื่อคราวประชุมวันที่ 26 เม.ย. 2561 ด้วย เพื่อให้ชาวประมงได้ออกไปทำการประมงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

5.กรมประมง ขอให้มีการทบทวนกฎหมาย พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่มีบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป อีกทั้งยังมีการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่เป็นธรรมกับพี่น้องชาวประมงในหลาย ๆ กรณี ที่มีการกระทำผิดโดยไม่ได้เจตนา การกระทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในส่วนของงานเอกสารต่างๆ แต่กลับมีโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ในหลายมาตรา และขอให้มีการแก้ไขปัญหากฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ของกรมประมง ที่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติ ของชาวประมงในหลาย ๆ ฉบับ เช่น กฎกระทรวง ระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือ พ.ศ. 2559 ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นเอกสารและหลักฐาน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก ก่อนนำเรือประมงพาณิชย์ออกจากท่าเทียบเรือประมง พ.ศ. 2560 เป็นต้น

6.เรื่องศูนย์ PIPO ขอให้แก้ไขปัญหาในการแจ้งเข้า-ออก ของแต่ละศูนย์ฯ ให้ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน และ 7.เรื่อง VMS นั้น มีกรณีที่บางครั้งเรือประมงไม่ได้ออกทำการประมงเป็นเวลานาน แต่ชาวประมงยังคงต้องรับภาระในการจ่ายค่าบริการรายเดือนของอุปกรณ์ VMS ในช่วงที่เรือจอด ซึ่งเป็นปัญหากับชาวประมงที่ไม่มีรายได้จากการจับสัตว์น้ำ แต่ยังต้องมาเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินให้กับชาวประมง ดังนั้นจึงขอให้มีการพิจารณาหาแนวทางแก้ไขและกำหนดมาตรการ เพื่อช่วยเหลือให้กับชาวประมง

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *