จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร และผู้แทนจากสุพรรณบุรี ร่วมหารือบูรณาการแผนกำจัดผักตบชวาแม่น้ำท่าจีนและลำคลองสาขา ปี 2560 โดยอาศัยกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนดูแลทั้งในแม่น้ำและคลองสาขา
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ที่วัดเทียนดัด ต.บ้านใหม่ อ.สามพราน จ.นครปฐม นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย นายสมชาย เมธาวัฒน์ธารากุล รองอธิบดีกรมโยธาและผังเมือง, นายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบริหาร กรมชลประทาน, นายวีรวุฒิ ประวัติ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี ในนามตัวแทนแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี
รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชมรมคนริมน้ำในแต่ละตำบลของ อ.สามพราน ร่วมหารือการบูรณาการแผนการกำจัดผักตบชวา ประจำปี 2560 เพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวาแม่น้ำท่าจีน โดยอาศัยกลไกการทำงานจากทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาผักตบชวาทั้งในแม่น้ำท่าจีน และลำคลองสาขาต่างๆ พร้อมกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาผักตบชวา
โดยทั้งสามจังหวัดได้กำหนดจุดจัดเก็บผักตบชวาในแม่น้ำท่าจีน ร่วมกับการกั้นแพลูกบวบแต่ละสะพาน ตั้งแต่ต้นทางในพื้นที่ อ.สองพี่น้อง และ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี จำนวน 2 จุด เรื่อยมาจนถึงในพื้นที่ อ.บางเลน, อ.นครชัยศรี และ อ.สามพราน จ.นครปฐม จำนวน 8 จุด และในพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร อีก 1 จุด ให้เป็นไปตามธรรมชาติน้ำขึ้นน้ำลง โดยจะเปิดแพลูกบวบไว้ในเวลาน้ำลงเพื่อให้ผักตบชวาไหลลงทะเล และปิดแพลูกบวบในเวลาน้ำขึ้น เพื่อไม่ให้ผักตบชวาไหลย้อนกลับ
ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง จะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในการใช้เรือผลักดันและจัดเก็บผักตบชวา ตั้งแต่ประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี จนถึงอ่าวไทย จ.สมุทรสาคร รวมระทางกว่า 300 กิโลเมตร และในส่วนของการแก้ไขปัญหาผักตบชวาในลำคลองสาขาต่างๆ ให้กรมชลประทานร่วมกับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุดปฏิบัติการประจำตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันสอดส่องดูแล ปิดกั้น และกำจัดผักตบชวาและวัชพืช เพื่อป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน
ในส่วนของ จ.นครปฐม ทางผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่ดูแลรักษาแหล่งน้ำในเขตรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเฝ้าระวังดูแลแหล่งน้ำสาธารณะ ตลอดจนการรณรงค์ให้ประชาชน ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมมือกันในรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายให้ภาคีต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และรณรงค์ให้นำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์ อาทิ การทำปุ๋ยอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จักรสาน หรือผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายจังหวัดสะอาดต่อไป
สาครออนไลน์ โดย กองบรรณาธิการ / ภาพจากสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์