“กรมสุขภาพจิต” ประชุมพัฒนาศักยภาพนักวิชาการสาธารณสุข-เครือข่ายเขตสุขภาพ ส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพจิต

กองสุขภาพจิตสังคม-ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพนักวิชาการสาธารณสุข-เครือข่ายเขตสุขภาพ เพื่อส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพจิต นำความรู้ที่ได้ไปใช้ปฏิบัติงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิชาการสาธารณสุข (ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข) และเครือข่ายเขตสุขภาพเพื่อส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ปีงบประมาณ 2561 ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย. 2561 โดยมีนักวิชาการสาธารณสุขจากสถาบันหรือโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพจิต และหน่วยงานส่วนกลาง ในสังกัดกรมสุขภาพจิต เครือข่ายสุขภาพ และคณะทำงาน เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้

นางนันทนา รัตนากร ผู้อำนวยการกองสุขภาพจิตสังคม เปิดเผยว่า งานสาธารณสุขคือกระบวนการที่มีการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ การเฝ้าระวัง คัดกรอง และควบคุมการป้องกันโรคในชุมชน การรายงานและจัดการฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข การวินิจฉัยชุมชนและแก้ปัญหาสาธารณสุขของชุมชน การสร้างและพัฒนาระบบและกลไกการขับเคลื่อนสุขภาพของชุมชนให้พร้อมเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ และเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการประสานความร่วมมือในการแก้ปัญหาสาธารณสุขแบบองค์รวม ร่วมกับสหวิชาชีพอื่น ๆ และกรมสุขภาพจิตมีนโยบายการดำเนินงานสุขภาพจิต โดยเน้นการพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัย ตลอดจนผลักดันให้สังคมยอมรับและให้โอกาสผู้ที่อยู่กับปัญหาสุขภาพจิตได้เข้ามามีส่วนร่วมในวิถีชีวิตการทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ ตามศักยภาพ

นอกจากนักวิชาการสาธารณสุขในกรมสุขภาพจิตที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตแล้ว การดำเนินงานส่งเสริมให้เครือข่ายในเขตสุขภาพ อาทิ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านช่วยสร้างความรอบรู้และพฤติกรรมสุขภาพจิตในระดับชุมชน และเกิดการบูรณาการทำงานในพื้นที่ได้อย่างราบรื่น การจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเพื่อเสริมสร้างความรอบรู้สุขภาพจิตในระดับพื้นที่ จะส่งผลให้เครือข่ายได้เห็นกระบวนการทำงานของพื้นที่อื่น เกิดการพัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ และเกิดเครือข่ายที่ทำงานเข้มแข็งยิ่งขึ้น

กองสุขภาพจิตสังคม และชมรมนักวิชาการสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต จึงได้จัดให้มีโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อให้นักวิชาการสาธารณสุขและเครือข่ายเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงาน นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน ส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยรูปแบบการอบรมประกอบด้วย การให้ความรู้เรื่อง ระบบราชการ 4.0 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านโปสเตอร์วิชาการ และการจัดกิจกรรมเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย เป็นต้น

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *