“กรีนพีซ” ชี้เมืองมหาชัยครองแชมป์วิกฤตฝุ่นละออง PM2.5

“กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จัดอันดับเมืองที่มีปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 พร้อมเรียกร้องให้ยกร่างมาตรฐาน PM 2.5 ขึ้นใหม่ เผย “ต.มหาชัย อ.เมืองฯ” เผชิญมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ส่วน “ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน” ติดอันดับ 30

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก “กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จัดงานแถลงข่าว “วิกฤตมลพิษ PM 2.5: ถึงเวลายกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศไทย” โดยนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชีตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า กรีนพีซฯ ได้จัดอันดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในประเทศไทยล่าสุด ปี 2561

โดยพบว่าพื้นที่เมือง 10 อันดับที่ต้องเผชิญกับมลพิษ PM2.5 ได้แก่ อันดับ 1 ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร, อันดับ 2 ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก, อันดับ 3 ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ, อันดับ 4 ต.ศรีภูมิ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่, อันดับ 5 ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่,

อันดับ 6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, อันดับ 7 ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี, อันดับ 8 ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ, อันดับ 9 ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น และอันดับ 10 ริมถนนอินทรพิทักษ์ ธนบุรี

นายธารา เผยว่า ในพื้นที่เมืองที่ต้องเผชิญกับมลพิษ PM2.5 ใน 10 อันดับแรก พบว่ามีจำนวนวันที่มีความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชม. เกินมาตรฐานของประเทศไทยที่กำหนดไว้ 50 มคก./ลบ.ม. อยู่ระหว่าง 19-68 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชม. ไม่ควรเกินค่ามาตรฐาน 25 มคก./ลบ.ม. มากกว่า 3 วันในช่วงเวลา 1 ปี

จะเห็นได้ว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองต้องเสี่ยงกับผลที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จากการรับสัมผัสมลพิษ PM2.5 ที่เกินมาตรฐานเป็นระยะเวลานาน และหากไม่มีมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศที่ก้าวหน้า ผลที่เกิดขึ้นคือวิกฤตด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างมากขึ้น

นายธารา กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเพราะรัฐบาลไม่ยอมรับวิกฤต จึงล้มเหลวในการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการคุณภาพอากาศให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย ตามเป้าประสงค์ที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากมลพิษทางอากาศ โดยมีตัวชี้วัดคือประชากรในเขตเมืองที่ได้รับมลพิษทางอากาศกลางแจ้งเกินค่ามาตรฐานตามค่าที่กำหนดขององค์การอนามัยโลก

ทั้งนี้ กรีนพีซเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการยกร่างมาตรฐานในบรรยากาศของ PM2.5 ขึ้นใหม่สำหรับประเทศไทย โดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชม. จากเดิม 50 เป็น 35 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 มคก./ลบ.ม. ภายในปี พ.ศ. 2562 และกำหนดมาตรการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน HAZE-FREE 2020 อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

สำหรับ ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ในการจัดลำดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM2.5 ระบุว่าค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 34 มคก./ลบ.ม. ค่าสูงสุดรายเดือนอยู่ที่ 144 มคก./ลบ.ม. และมีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานของไทย อยู่ที่ 68 วัน

นอกจากนี้ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน อยู่ในอันดับ 30 ของการจัดลำดับด้วย ค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 34 มคก./ลบ.ม. ค่าสูงสุดรายเดือนอยู่ที่ 53 มคก./ลบ.ม. และมีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานของไทยอยู่ที่ 5 วัน

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

One Reply to ““กรีนพีซ” ชี้เมืองมหาชัยครองแชมป์วิกฤตฝุ่นละออง PM2.5”

  1. อ.เมืองสมุทรสาคร ช่วงถนนเอกชัย-โพธิ์แจ้ มาสำรวจบ้างคะ. ฝุ่น+ควัน+กลิ่นเยอะแยะไปหมด เลยคะ. หายใจไม่สะดวกเลยคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *