ทางแก้-ทางรอด เมื่อ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก” ปกคลุมสมุทรสาคร

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก จะสังเกตเห็นได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

ในปี 2562 จังหวัดสมุทรสาครประสบปัญหาฝุ่นละอองปกคลุมในอากาศ นับตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยพบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ที่ 82 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก่อนที่จะไต่ระดับสูงสุดวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 85 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อวัดรวมกับค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศ (AQI) จะพบว่าอยู่ในระดับที่ “เริ่มมีผลต่อสุขภาพ”

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กปกคลุมสมุทรสาคร ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในปีที่ผ่านมา ไม่ว่ากรุงเทพฯ จะเผชิญกับหมอกฝุ่นละอองมากแค่ไหน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ปริมณฑล ก็พลอยถูกหางเลขไปด้วย ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 5,745 โรงงาน มียานพาหนะที่สัญจรไปมาบนถนนสายหลัก โดยเฉพาะถนนพระราม 2 เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ สู่ภาคใต้ มากกว่า 1 แสนคันต่อวัน

ความตื่นตัวต่อสังคม เกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สืบเนื่องมาจากองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) กำหนดอย่างเป็นทางการให้ฝุ่นละออง PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง เพราะถือเป็นภัยคุกคามสุขภาพ สามารถเข้าสู่ทั่วร่างกาย สารมลพิษนี้สามารถผ่านขนจมูกและเข้าสู่กระแสเลือด หากสะสมอยู่ในอวัยวะก็เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งของอวัยวะนั้นๆ ได้

  • 60% ของฝุ่นละอองในสมุทรสาคร เกิดจาก “เผาไหม้เครื่องยนต์”

นางรวมทรัพย์ คะเนะดะ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร อธิบายในที่ประชุมคณะกรมการจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2561 ว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ในจังหวัด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ในรถยนต์ รถบรรทุก และรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลแบบเก่าถึง 60% ส่วนอีก 35% มาจากการเผาในที่โล่งทุกชนิด และ 5% มาจากแหล่งอื่นๆ

อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ความกดอากาศสูง ทำให้อากาศนิ่ง ท้องฟ้าปิด เกิดการสะสมของฝุ่นละออง ทำให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน หากค่าความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงระหว่าง 51-90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ควรมีการแจ้งเตือน และเฝ้าระวัง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุ และเด็ก แต่ถ้าหากค่าความเข้มข้นมากกว่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร 2 แห่ง คือ จุดตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ติดต่อกับเขตหนองแขม กรุงเทพฯ อีกจุดหนึ่ง คือ จุดตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณหน้าโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย ฝั่งถนนพระราม 2 ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

ผอ.สำนักงานทรัพยากรฯ ยังเสนอให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานต่างๆ อาทิ การตั้งจุดตรวจวัดรถบรรทุกและรถยนต์ที่ปล่อยควันดำ และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด โดยให้ตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร และสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 ดำเนินการ, การตรวจสภาพรถใช้งาน ตรวจจับควันดำอย่างต่อเนื่อง โดยให้สำนักงานขนส่งจังหวัดสมุทรสาครรับผิดชอบ

การควบคุมกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยควันและฝุ่นละออง โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครรับผิดชอบ, ห้ามเกษตรกรเผาในที่โล่งทุกชนิด และส่งเสริมให้นำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้ประโยชน์ โดยให้สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสมุทรสาครรับผิดชอบ, ห้ามเผาขยะและเผาในที่โล่งทุกชนิด โดยให้อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบ

รวมทั้งเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เตรียมระบบบริการสาธารณสุข โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครรับผิดชอบ และแจ้งข้อมูลสถานการณ์และผลกระทบของปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน และรณรงค์ “ไม่ขับ ช่วยดับเครื่อง” ในสถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล และพื้นที่มลพิษสูง โดยขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร

ภาพจาก http://air4thai.pcd.go.th/webV2/station.php?station=27t
  • ทางรอดจากภัยฝุ่นละออง PM 2.5 “ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากาก ถ้าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง”

ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานต่างรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อรับมือจากผลกระทบต่อสุขภาพ ของฝุ่นละออง PM 2.5 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า เนื่องจากค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในแต่ละจุด แต่ละเวลามีความแตกต่างกัน ผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ ได้แก่

1.ตำแหน่งที่อยู่หรือทำกิจกรรม

2.ช่วงเวลาและระยะเวลาที่สัมผัส

3.ชนิดของกิจกรรมที่ทำในพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 สูง เช่น ออกกำลังกาย ทำงานหนัก จะมีความเสี่ยงมากกว่า

4.ปัจจัยจากลักษณะบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และกลุ่มที่มีโรคประจำตัวที่ไวต่อผลกระทบ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด

ส่วนการเลือกสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้น แนะนำให้ประเมินความเสี่ยงของตนเองก่อน เช่น คนที่ต้องทำงานหนักกลางแจ้งเป็นระยะเวลานานๆ เช่น ตำรวจจราจรที่ทำงานกลางแจ้ง วินมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ขับขี่นานๆ คนงานที่ทำงานที่ก่อให้เกิดฝุ่น ฯลฯ ควรป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากทีมีความสามารถในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ ตั้งแต่มาตรฐาน N95 ขึ้นไป

ส่วนประชาชนทั่วไปที่ประเมินตนเองแล้วมีความเสี่ยงต่ำ อาจยังไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากชนิด N95 เนื่องจากสวมใส่อาจเกิดอาการอึดอัด ร้อน และไม่สามารถใส่ได้นาน ส่วนในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวที่มีความไวต่อผลกระทบของผลละอองขนาดเล็ก ควรขอคำปรึกษากับแพทย์ประจำตัวหรือแพทย์เจ้าของไข้ ซึ่งจะให้คำแนะนำตามสภาพของโรค ระดับอาการที่เป็น และวิธีการรักษาที่ได้รับอยู่

นอกจากนี้ ในกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันตนเองคือ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณที่สูงเกินค่ามาตรฐาน หรือเข้าไปมีกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายมากเป็นระยะเวลานาน หรือทำกิจกรรมที่เอื้อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

สำหรับคนที่ประเมินตนเองแล้วพบว่ามีความเสี่ยงระดับต่ำ เช่น ผ่านเข้าในพื้นที่ระยะเวลาสั้นๆ อยู่ในช่วงเวลาที่ค่า PM 2.5 ไม่สูง มีกิจกรรมเบาๆ เท่านั้น ก็ไม่จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากาก หากมีความกังวลอาจสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ ปิดแทนได้ แต่ต้องเข้าใจว่าทั้งสองแบบนี้ไม่สามารถป้องฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบ PM 2.5 ได้

ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว

  • แนะงดเผาเพื่อการเกษตร รวมทั้งงดเผาขยะ

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย แนะวิธีป้องกันปัญหาหมอกควันและวิธีปฏิบัติตนเพื่อลดผลกระทบ โดยไม่ประกอบกิจกรรมที่เพิ่มปริมาณหมอกควัน อาทิ เผาขยะ จุดธูปเทียน เพราะทำให้สถานการณ์หมอกควันรุนแรงมากขึ้น หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมที่ทำให้เกิดไฟป่าโดยไม่เผาวัสดุทางการเกษตร ไม่จุดไฟหาของป่าหรือล่าสัตว์

รวมถึงไม่เผาวัชพืชหรือพงหญ้าแห้งเป็นทางเดินในป่า เตรียมพื้นที่ทำการเกษตร โดยการฝังหรือไถกลบหากจำเป็นต้องเผาวัชพืชและวัสดุทางการเกษตร ให้จัดทำแนวกั้นไฟล้อมรอบพื้นที่การเกษตรกำจัดขยะอย่างถูกวิธีโดยการฝังกลบหรือเผาในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด และหลีกเลี่ยงการเผาในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะขยะประเภทสารพิษ

ส่วนการปฏิบัติตนเพื่อลดผลกระทบจากหมอกควัน ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากหมอกควัน โดยสวมแว่นตา ป้องกันการระคายเคืองตา สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ ปิดปากหรือจมูก ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด พร้อมใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามช่องระบายอากาศ เพื่อปิดกั้นฝุ่นละอองมิให้ลอยเข้ามาในบ้าน งดการประกอบกิจกรรมนอกบ้าน หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย

เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถผ่านเส้นทางที่มีหมอกควันปกคลุมอาทิ ปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก ไม่ขับรถเร็ว ไม่แซงหรือเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน นอกจากนี้ ควรดูแลสุขภาพ กรณีอาศัยในพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควัน ไม่ควรออกกำลังกายและทำงานที่ต้องออกแรงมากในที่โล่งแจ้ง เพราะร่างกายจะสูดดมฝุ่นละอองเข้าไปในปริมาณมาก

รวมถึงควรดูแลกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นพิเศษโดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ ไม่ให้เข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นละออง หมอกควัน ตลอดจนจัดเตรียมยาที่จำเป็นอาทิ ยาสามัญประจำบ้าน ยาประจำตัวที่สำคัญ ควรสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายหากมีอาการแน่นหน้าอกหรือหายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์

-กิตตินันท์ นาคทอง / เรียบเรียง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *