เผยโฉม 3 บริษัทรับเหมาก่อสร้าง “ถนนพระราม 2” ที่ล่าช้าเป็นเรือเกลือ

ช่วงนี้ถนนพระราม 2 การจราจรติดขัดอย่างหนัก ตั้งแต่ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ไปจนถึงมหาชัยเมืองใหม่ เนื่องจากมีการก่อสร้างขยายถนนจาก 10 ช่อง เป็น 14 ช่องจราจร ตามสัญญาจะแล้วเสร็จทั้งโครงการปี 2563

ท่ามกลางเสียงบ่นจากผู้ใช้รถใช้ถนน ที่ประณามกรมทางหลวงและผู้รับเหมาว่าปล่อยปะละเลย ที่ผ่านมาจากทางด่วนดาวคะนองต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งขึ้นไป จนถึง 3 ชั่วโมง เพราะรถติดจนหยุดนิ่ง

ประชาชนเสียเวลา เสียสุขภาพจิต หนำซ้ำการก่อสร้างที่ไม่มีความคืบหน้า มีคนงานเพียงไม่กี่คน เห็นเครื่องจักรไม่กี่ชิ้น ไม่เห็นสภาพงานคืบหน้าอย่างที่ควรจะเห็น กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าในโลกโซเชียล

ร้อนถึงกรมทางหลวงต้องชี้แจงว่า ที่ล่าช้าเพราะติดรื้อย้ายสาธารณูปโภค ตอนนี้ใกล้จะเสร็จแล้ว คาดว่าอีกประมาณ 3 เดือน ทางขนาน (Frontage Road) ช่วงแสมดำ-มหาชัยเมืองใหม่ จาก 2 ช่องเป็น 3 ช่องจราจรจะแล้วเสร็จ

แต่โชคร้าย … อีก 2-3 เดือนข้างหน้า จะมีงานก่อสร้างมอเตอร์เวย์ยกระดับจากทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ถึงมหาชัยเมืองใหม่ แนะนำว่าจากกรุงเทพฯ ถ้าจะลงภาคใต้ ใช้ถนนบรมราชชนนีไปก่อน

– 3 บิ๊กผู้รับเหมา ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ทางยกระดับพระราม 2

สำหรับโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ที่จะกลายเป็นมอเตอร์เวย์ในอนาคต ได้ผู้รับเหมาเรียบร้อยแล้ว 3 ราย อยู่ในระหว่างเสนอสำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของราคา

ถ้าไม่มีอะไรติดขัด เซ็นสัญญาก่อสร้างแล้ว ได้ลงพื้นที่แน่นอน แบ่งออกเป็น 3 ตอน 3 ผู้รับเหมา ได้แก่

ตอน 1 (กม.9+731-13+981) ระยะทาง 4.25 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างโดย บริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ จำกัด ประมาณค่าก่อสร้าง 4 พันล้านบาท

ตอน 2 (กม.13+981-18+122) ระยะทาง 4.141 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ก่อสร้างโดย บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ประมาณค่าก่อสร้าง 4 พันล้านบาท

ตอน 3 (กม.18+122-20+500) ระะทาง 2.378 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ก่อสร้างโดย บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ประมาณค่าก่อสร้าง 2.5 พันล้านบาท

ภาพ : MGROnline

– ทางด่วนพระราม 3-วงแหวนตะวันตก เจอร้องเรียนผู้รับเหมาจีน

ขณะที่โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะเชื่อมต่อทางยกระดับถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 9+731 เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีมติเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. รับทราบผลการประมูลก่อสร้าง ในส่วนของงานโยธา จำนวน 4 สัญญา วงเงินรวม 29,154.230 ล้านบาท ประกอบด้วย

สัญญาที่ 1 (บางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2) ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร ราคากลาง 6,980 ล้านบาท กิจการร่วมค้า CNA ประกอบด้วย บริษัท ไชน่าสเตท คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ประเทศจีน, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 5,897 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 (เซ็นทรัลพระราม 2-ต่างระดับดาวคะนอง) ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ราคากลาง 7,242 ล้านบาท กิจการร่วมค้าซีทีบี ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ จำกัด ประเทศจีน, บริษัท ทิพากร จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด เสนอราคาต่ำสุดที่ 6,440 ล้านบาท

สัญญาที่ 3 (ต่างระดับดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์) ระยะทาง 5 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับซ้อนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ราคากลาง 6,991 ล้านบาท กิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ประกอบด้วยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อีเลฟเว่น บูโร กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น ประเทศจีน และบริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 6,098 ล้านบาท

สัญญาที่ 4 (สะพานขึงคู่ขนานสะพานพระราม 9) ระยะทาง 2 กิโลเมตร ราคากลาง 7,944 ล้านบาท บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เสนอราคาต่ำสุด 6,636.19 ล้านบาท

ปัญหาก็คือ อิตาเลี่ยนไทย ไปร้องเรียนว่า การประมูลสัญญา 1, 2, 3 กลุ่มผู้รับเหมาที่ชนะมีบริษัทจีน ซึ่งหนึ่งในนั้นอย่าง ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น เป็นรัฐวิสาหกิจรวมอยู่ด้วย จะมีปัญหาหรือไม่ ขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตรวจสอบความชัดเจนอีกครั้ง

หากไม่มีปัญหาก็จะลงนามสัญญา และก่อสร้างต่อไป โดยการทางพิเศษฯ จะใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ที่ระดมทุนไปก่อนหน้านี้

– ชำแหละ 3 ผู้รับเหมาขยายถนนพระราม 2 สุดอืด พบรับงานอื้อ

มาถึงโครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย (ปี 2561) แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ตอน รายงานความก้าวหน้าประจำเดือนพฤษภาคม 2562 พบว่าระบุปัญหา-อุปสรรค คือ ติดขัดสาธารณูปโภค และติดขัดต้นไม้ ทำให้ผลงานล่าช้ากว่าแผน ประกอบด้วย

ตอน 1 (กม.9+800-13+300) ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท บุญสหะการสร้าง จำกัด งบประมาณ 707.50 ล้านบาท ลงนามสัญญา 10 กุมภาพันธ์ 2561 สิ้นสุดสัญญา 29 เมษายน 2563 ผลการดำเนินงานเดือนพฤษภาคม 2562 คืบหน้าเพียงแค่ 5.29% ช้ากว่าแผน 36.33% ปัญหาอุปสรรค ติดขัดสาธารณูปโภค

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท บุญสหะการสร้าง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท มีนายสุวัฒน์ วิโรจนาภิรมย์ เป็นกรรมการบริษัท สำนักงานตั้งอยู่ที่ถนนบางแวก แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ปี 2561 ยังไม่มีข้อมูลงบการเงิน ปี 2560 มีรายได้รวม 860.51 ล้านบาท กำไรสุทธิ 12.63 ล้านบาท น้อยกว่าปี 2559 มีรายได้รวม 2,045 ล้านบาท กำไรสุทธิ 70.08 ล้านบาท

ข้อมูลจาก “ภาษีไปไหน” ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ พบว่าในปีงบประมาณ 2558-2562 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้าง 25 โครงการ รวม 5,718.66 ล้านบาท โดยพบว่ามีโครงการกับกรมทางหลวงมากที่สุด 18 โครงการ รองลงมาคือ กรมทางหลวงชนบท 6 โครงการ และกรมชลประทาน 1 โครงการ

ตอน 2 (กม.13+300-17+400) ระยะทาง 4.1 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท แสงชัยโชค จำกัด งบประมาณ 798.555 ล้านบาท ลงนามสัญญา 1 กุมภาพันธ์ 2561 สิ้นสุดสัญญา 20 พฤษภาคม 2563 ผลการดำเนินงานเดือนพฤษภาคม 2562 คืบหน้าเพียงแค่ 12.50% ช้ากว่าแผน 27.94% ปัญหาอุปสรรค ติดขัดต้นไม้/สาธารณูปโภค

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท แสงชัยโชค จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2534 ทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท มีนายเว่งกิม ศรีสุขจร, นายประเสริฐ ศรีสุขจร, นายประดิษฐ์ ศรีสุขจร, นายศุภชัย ศรีสุขจร, นายศุภกร ศรีสุขจร, นางศิริวรรณ ศรีสุขจร, นางสาวธัญญรัตน์ ชิเดนทรีย์, นางสาวณัฐหทัย เลิศหาญ และนางสาวสุธิกานต์ เลิศหาญ เป็นกรรมการบริษัท

สำนักงานตั้งอยู่ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ปี 2561 มีรายได้รวม 1,255.63 ล้านบาท น้อยกว่าปี 2560 มีรายได้รวม 1,370.71 ล้านบาท กำไรสุทธิ 63.81 ล้านบาท มากกว่าปี 2560 มีกำไรสุทธิ 60.24 ล้านบาท

ข้อมูลจาก “ภาษีไปไหน” ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ พบว่าในปีงบประมาณ 2558-2562 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้าง 204 โครงการ รวม 7,530.35 ล้านบาท โดยพบว่ามีโครงการกับกรมทางหลวงชนบทมากที่สุด 63 โครงการ รองลงมาคือ กรมทางหลวง 62 โครงการ เทศบาลนครนครปฐม 38 โครงการ นอกจากนี้ยังมีกรมโยธาธิการและผังเมือง กองทัพอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนกำแพงแสนวิทยาอีกด้วย

ตอน 3 (กม.17+400-21+500) ระยะทาง 4.1 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท เอ็ม.ซี.คอนสตรัคชั่น (1979) จำกัด งบประมาณ 707.5 ล้านบาท ลงนามสัญญา 20 กุมภาพันธ์ 2561 สิ้นสุดสัญญา 7 สิงหาคม 2563 ผลการดำเนินงานเดือนพฤษภาคม 2562 คืบหน้าเพียงแค่ 25.68% ช้ากว่าแผน 6.20% ปัญหาอุปสรรค ติดขัดสาธารณูปโภค

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท เอ็ม.ซี.คอนสตรัคชั่น (1979) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2519 ทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท มีนายมิตรชัย ชัยเจริญไมตรี, นางสาวลีนา คณาธนะทรัพย์ และนายกานต์ ชัยเจริญไมตรี เป็นกรรมการบริษัท

สำนักงานตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ปี 2561 มีรายได้รวม 313.47 ล้านบาท กำไรสุทธิ 11.65 ล้านบาท น้อยกว่าปี 2560 มีรายได้รวม 1,136.93 ล้านบาท กำไรสุทธิ 194.78 ล้านบาท

ข้อมูลจาก “ภาษีไปไหน” ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ พบว่าในปีงบประมาณ 2558-2562 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้าง 8 โครงการ รวม 4,748.37 ล้านบาท โดยพบว่ามีโครงการกับกรมทางหลวงมากที่สุด 6 โครงการ นอกนั้นเป็นของกรุงเทพมหานคร และวิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

– วิบากกรรมพระราม 2 ยังมีต่อ ผุดสะพานกลับรถบางกระเจ้าอีกแห่ง

นอกจากโครงการปรับปรุงถนนพระราม 2 ที่ทำรถติดอย่างแสนสาหัสในเวลานี้แล้ว ยังพบว่ามีโครงการก่อสร้างตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สะพานลอยกลับรถหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา (ขาเข้า) ปี 2560 กิโลเมตรที่ 59+000 งบประมาณ 199.13 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท กำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด ลงนามสัญญา 16 มีนาคม 2560 สิ้นสุดสัญญา 4 มกราคม 2562

พบว่าได้ต่ออายุสัญญาไปถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ผลการดำเนินงานเดือนพฤษภาคม 2562 คืบหน้า 89.53% ช้ากว่าแผน 8.15% ปัญหาอุปสรรค ติดขัดสาธารณูปโภค

ส่วนโครงการใหม่ สะพานลอยกลับรถกิโลเมตรที่ 34+000 ตำบลบางกระเจ้า (ขาออก) พร้อมทางขนาน 6 ช่องจราจร งบประมาณ 399.50 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด ลงนามสัญญา 26 มีนาคม 2562 สิ้นสุดสัญญา 13 มกราคม 2564 ผลการดำเนินงานเดือนพฤษภาคม 2562 คืบหน้า 1.47% ช้ากว่าแผน 1.76%

วิบากกรรมแสนสาหัสขนาดนี้ คนใช้รถใช้ถนนพระราม 2 คงต้องทนทุกข์ทรมานไปอีกนานถึงปี 2564

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *