รถไฟฟ้าสายสีแดง “หัวลำโพง-มหาชัย” รัฐบาลใหม่จะไปต่อหรือไม่?

ภาพ : กระทรวงคมนาคม

ในที่สุดหน้าตาขบวนรถไฟฟ้า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยออกมาแล้ว ซึ่งผลิตโดยบริษัทฮิตาชิ ประเทศญี่ปุ่น หลังกลุ่ม MHSC ชนะประมูลและเซ็นสัญญาเมื่อปี 2559

ขบวนรถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภท 4 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,126 คน และประเภท 6 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,714 คน รองรับความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือศีรษะ (OCS) เป็นแหล่งจ่ายไฟ แรงดันไฟฟ้า 25 กิโลโวลต์ (kV)

ฮิตาชิให้ความเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งมอบรถให้ไทยได้ตามกำหนดการ โดย 2 ขบวนแรก จะมาถึงไทยประมาณเดือนตุลาคม 2562 จากทั้งหมด 25 ขบวน (4 ตู้ 10 ขบวน และ 6 ตู้ 15 ขบวน รวม 130 ตู้) เพื่อทดสอบขบวนรถ

ก่อนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย จะเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วง ตลิ่งชัน-บางซื่อ และ บางซื่อ-รังสิต ภายในสิ้นปี 2563 ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับชาวไทย


ภาพ : กระทรวงคมนาคม

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ระยะทาง 37 กิโลเมตร วงเงิน 5.68 หมื่นล้านบาท หลังจากที่กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มต่อไป

ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณประจำปี 2563 เพื่อจ้างที่ปรึกษาทบทวนแบบรายละเอียดและจัดทำเอกสารประกวดราคา วงเงิน 90 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 16 เดือน

เดิมโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ได้ศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการเสร็จแล้วตั้งแต่ปี 2550 แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติให้ปรับแบบการก่อสร้าง โดยเฉพาะช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

เพราะฉะนั้นจึงออกแบบใหม่ เฉพาะส่วนที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จากหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ให้เป็นอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะค่อยๆ ขึ้นมาเป็นทางวิ่งระดับดินตั้งแต่วงเวียนใหญ่-มหาชัย

แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2 ยังคงไม่มีความคืบหน้าก็ตาม แต่คาดว่าน่าจะดำเนินการได้ทัน เนื่องจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้า

หลังจากนั้นจะดำเนินการออกแบบการก่อสร้างใหม่ ซึ่งระยะเวลา 16 เดือน เท่ากับเกือบ 1 ปีครึ่ง คาดว่าจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้ในปีงบประมาณ 2564

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ (ภาพ : กระทรวงคมนาคม)

อย่างไรก็ตาม เมื่อว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ ไม่ใช่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ แต่เป็นโควตาของ “พรรคภูมิใจไทย” ที่ว่ากันว่าเป็นของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ น้องชายนายเนวิน ชิดชอบ นักการเมืองจากบุรีรัมย์

อีกทั้งผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ผ่านมา พื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร และอำเภอกระทุ่มแบน ตกเป็นของ “พรรคอนาคตใหม่” ที่ยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อย่างชัดเจน

ต้องลุ้นกันว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ แต่คนที่คุมมาจากจากพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ 4 ปีต่อจากนี้ จะสานงานต่อจากรัฐมนตรีคนเดิมหรือไม่

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *