“สาครบุรี-สุทธิวาตวิถี” คุณูปการของ “หลวงปู่แก้ว” วัดช่องลม สู่ “ถนนเฉลิมพระเกียรติฯ”

จังหวัดสมุทรสาคร ได้คัดเลือก “ถนนสายสาครบุรี เชื่อมต่อถนนสุทธิวาตวิถี” เป็น “ถนนเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562” จังหวัดสมุทรสาคร

ตามโครงการ “1 จังหวัด 1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ” โดยมีจุดเริ่มต้นจากถนนพระราม 2 ข้ามสะพานสาครบุรี ผ่านวัดสุทธิวาตวราราม หรือวัดชองลม โรงพยาบาลนครท่าฉลอม จนถึงบริเวณวงเวียนท่าฉลอม ระยะทางรวม 4.6 กิโลเมตร

แบ่งพื้นที่รับผิดชอบออกเป็น ถนนสุทธิวาตวิถี ระยะทาง 1.47 กิโลเมตร ของเทศบาลนครสมุทรสาคร, ถนนสาครบุรี ระยะทาง 3.13 กิโลเมตร ของเทศบาลตำบลท่าจีน และสะพานสาครบุรี ของแขวงทางหลวงชนบทสมุทรสาคร

โดย นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2562 ณ บริเวณหน้าวัดน้อยนางหงส์ ตำบลท่าจีน


สมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีเปิดป้ายถนนเฉลิมพระเกียรติฯ จ.สมุทรสาคร เมื่อ 28 กรกฎาคม 2562

ถนนสาครบุรี และถนนสุทธิวาตวิถี แม้จะเปิดใช้งานมาได้ไม่ถึงศตวรรษ แต่ก็ถือได้ว่าทำให้เศรษฐกิจและอาชีพของคนในชุมชนท่าฉลอมนั้นเปลี่ยนแปลงไป

ซึ่งผู้มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนั้น คือ “หลวงปู่แก้ว” หรือ “พระเทพสาครมุนี (แก้ว สุวณฺณโชโต)” อดีตเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร และอดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) องค์ที่ 8 (ระหว่าง 20 มิถุนายน 2495 ถึงมรณภาพ 9 กันยายน 2526) ที่ได้นำความเจริญมาสู่วัด และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่ชุมชนใน จ.สมุทรสาคร ไว้อย่างมากมาย


“หลวงปู่แก้ว” พระเทพสาครมุนี (แก้ว สุวณฺณโชโต) (ภาพประกอบจากเว็บไซต์ “ลานธรรมจักร”)

ย้อนกลับไปในอดีต การสัญจรไปมาของชาวบ้านระหว่างฝั่งท่าฉลอม กับฝั่งมหาชัย จะใช้ทางเรือเพียงอย่างเดียว รวมถึงการเดินทางของประชาชนระหว่าง 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม จะต้องใช้รถไฟสายแม่กลอง

กระทั่ง ถนนธนบุรี-ปากท่อ หรือ ถนนพระราม 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2516 ผู้คนจึงหันมานิยมใช้รถยนต์ในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ลงสู่ภาคใต้ หรือเข้าสู่ตัวจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงครามแทนที่รถไฟ

หลวงปู่แก้วพร้อมด้วยคณะกรรมการ นำเงินไปมอบให้แก่ทางราชการ เพื่อสร้างสะพานสาครบุรี (ภาพจากหอฉัน วัดสุทธิวาตวราราม)
หลวงปู่แก้วพร้อมด้วยคณะศิษย์ ผู้ริเริ่มก่อสร้างสะพานสาครบุรี ข้ามคลองสุนัขหอน นำ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี ตรวจดูแบบแปลนและสถานที่ ที่จะทำการก่อสร้างสะพาน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 (ภาพจากหอฉัน วัดสุทธิวาตวราราม)
ม.ล.ชิงชัย กำภู อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และหลวงปู่แก้ว ทำพิธีเปิดสะพานสาครบุรี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2523 (ภาพจากหอฉัน วัดสุทธิวาตวราราม)

เมื่อปี 2522 หลวงปู่แก้วเป็นผู้นำในการสร้าง “สะพานสาครบุรี” ข้ามคลองสุนัขหอน ประมาณการก่อสร้าง 11 ล้านบาท รวมถึงการก่อสร้าง “ถนนสาครบุรี” เริ่มจากถนนพระราม 2 เชื่อมกับถนนสุทธิวาตวิถี ประมาณ 3 กิโลเมตร รวมค่าก่อสร้าง 6.2 ล้านบาท

ก่อสร้างแล้วเสร็จ และได้ทำพิธีเปิดใช้สะพานสาครบุรี เมื่อ 25 ธันวาคม 2523 โดยมี ม.ล.ชินชัย กำภู ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในขณะนั้น เข้าร่วมในพิธีด้วย

ซึ่งงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด มาจากเงินบริจาคของทางวัด โดยหลวงปู่แก้วสร้างเหรียญรุ่นต่าง ๆ เพื่อมอบให้ชาวสมุทรสาครที่ร่วมบริจาคเงินในการก่อสร้างทั้งหมด โดยไม่ได้ใช้งบจากทางราชการแต่อย่างใด

ถนนสุทธิวาตวิถีในปัจจุบัน

ส่วน “ถนนสุทธิวาตวิถี” เดิมเป็นถนนลูกรังขนาดไม่ใหญ่มาก ส่วนใหญ่มักจะใช้เป็นทางเดินเท้าของชาวบ้าน และรถสามล้อถีบ ถนนถูกขนาบข้างด้วยคลองขนาดไม่ใหญ่มาก เรือเล็กสามารถผ่านได้

ชาวบ้านท่าฉลอมเรียกว่า “ถนนหลัง” อันหมายถึงอยู่อีกฝั่งหนึ่งของ “ถนนหน้า” ที่หมายถึง “ถนนถวาย” ซึ่งเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชุมชนท่าฉลอม

จากการก่อสร้างสะพานสาครบุรี ได้เปิดเส้นทางระหว่างฝั่งท่าฉลอมกับโลกภายนอก ทำให้ต่อมาถนนเส้นดังกล่าวมีการขยายถนนและเทคอนกรีต ปรับเปลี่ยนชื่อเป็นถนนสุทธิวาตวิถี โดยอิงกับวัดช่องลม สร้างความสะดวกในการคมนาคมให้กับคนในและคนนอกชุมชนมากขึ้น

ถือเป็นคุณูปการที่หลวงปู่แก้ว สร้างไว้ให้ชุมชนท่าฉลอม ที่ถูกปิดกั้นมานานนับศตวรรษ เปิดสู่ยุคสมัยใหม่ นำความเจริญเข้ามาสู่ชุมชนตราบจนทุกวันนี้

– กิตติกร นาคทอง –

ขอขอบคุณ พระครูสุทธิธรรมาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอเมืองสมุทรสาคร ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม), คุณชนินทร์ อินทร์พิทักษ์ และสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อบทความชิ้นนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *