“พระราม 2” เตรียมรับมือปิดเกาะกลางสร้าง “ทางยกระดับ” ตลอดแนว-ยาวถึงปี 2566

15 พฤษภาคมนี้ จะเป็นวันดีเดย์ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยจะปิด 1 ช่องจราจรด้านขวาสุดของเกาะกลางถนน ตั้งแต่หน้าโรงพยาบาลนครธน ถึงโรงพยาบาลบางประกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ยาวไปจนถึงปี 2566

สำหรับช่วงดังกล่าว เป็นการก่อสร้างในสัญญาที่ 2 โดยกิจการร่วมค้าซีทีบี ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน, บริษัท ทิพากร จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด โดยแจ้งลดพื้นที่จราจรด้านละ 1 ช่องทาง และทำการก่อสร้างที่เกาะกลางถนนพระราม 2 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

สำหรับ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีระยะทาง 18.7 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ถนนพระราม 2 (กิโลเมตรที่ 13) ถึงทางแยกต่างระดับบางโคล่ เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 ทางพิเศษเฉลิมมหานคร พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนานไปกับสะพานพระราม 9

โดยมีจุดขึ้น-ลงทางพิเศษ 7 จุด ได้แก่ ด่านบางกระดี่ ด่านหัวกระบือ ด่านวัดเลา ด่านวัดยายร่ม ด่านถนนพุทธบูชา ด่านดาวคะนอง 2 ด่านสุขสวัสดิ์ และด่านบางโคล่ และจะเชื่อมต่อกับโครงการทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ของกรมทางหลวง ตั้งแต่ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ถึงมหาชัยเมืองใหม่ ระยะทาง 10.8 กิโลเมตร

การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 5 สัญญา ค่าก่อสร้างงานโยธา 4 สัญญา รวม 25,071.40 ล้านบาท ใช้เงินที่ระดมทุนผ่านกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ประกอบด้วย

สัญญาที่ 1 กิจการร่วมค้า CNA ประกอบด้วยบริษัท ไชน่าสเตท คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR และ บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) จำกัด ก่อสร้างทางยกระดับขนานไปกับถนนพระราม 2 ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 6+630.910 ถึงกิโลเมตรที่ 13+000 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 5,897.21 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 กิจการร่วมค้า CTB ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน, บริษัท ทิพากร จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด ก่อสร้างทางยกระดับขนานไปกับถนนพระราม 2 ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 1+309.423 ถึงกิโลเมตรที่ 6+630.910 ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 6,440 ล้านบาท

สัญญาที่ 3 กิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป สาธารณรัฐประชาชนจีน, บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ก่อสร้างทางยกระดับชั้นที่ 2 ขนานไปกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร ถึงเชิงสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ระยะทาง 5 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 6,098 ล้านบาท

สัญญาที่ 4 บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างทางแยกต่างระดับบางโคล่ และสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ระยะทาง 2 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 6,636.19 ล้านบาท

สัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมการจราจร และระบบสื่อสาร อยู่ระหว่างการประมูล

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เริ่มทำการก่อสร้างงานเข็มฐานรากและเสาของโครงสร้างงานสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 โดยจะทำงานบริเวณพื้นที่ใต้ทางด่วนบางโคล่ และมีการปิดเบี่ยงจราจรชั่วคราวช่องทางขวาสุดทางพิเศษศรีรัช และช่องทางฝั่งซ้ายสุดทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณสะพานพระราม 9 ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่การก่อสร้างทางยกระดับจะต้องลดพื้นที่จราจรอย่างน้อยด้านละ 1 ช่องจราจรเพื่อใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งยังเหลือผู้รับเหมาสัญญาที่ 1 จะลงพื้นที่ก่อสร้างในเร็วๆ นี้ ที่ผ่านมาถนนพระราม 2 ในช่วงปกติการจราจรหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน เช้า-เย็น เนื่องจากต้องรองรับรถที่มาจากทางพิเศษเฉลิมมหานครเป็นประจำในช่วงวันทำงาน

คาดว่าผู้ใช้รถใช้ถนนโซนพระราม 2 จะต้องทนกับปัญหาการจราจรแบบนี้ไปอีก 3-4 ปี กว่าที่ทางยกระดับจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการ สอดรับกับโครงการทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ของกรมทางหลวง ที่จะสิ้นสุดสัญญา 11 สิงหาคม 2565 พอดี

อีกด้านหนึ่ง โครงการทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) พบว่าผู้รับเหมาลงพื้นที่ก่อสร้างบนถนนพระราม 2 อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อก่อสร้างเสาเข็มเจาะ ฐานราก สร้างตอม่อ และเทคอนกรีต หลังจากได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจรบนถนนพระราม 2 ไปแล้วก่อนหน้านี้

สาเหตุหนึ่ง เนื่องจากผู้รับเหมาโครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ทั้ง 3 สัญญา ได้ปูผิวทางชั้นทางที่ 2 หนา 5 เซนติเมตร และชั้นที่ 3 หนา 5 เซนติเมตร รวม 20 เซนติเมตรเรียบร้อย สามารถคืนผิวจราจรได้แล้วบางส่วน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2563 ก่อนจะสร้างสะพานกลับรถอีก 2 จุดให้แล้วเสร็จ

ปัจจุบัน กรมทางหลวงได้ขยายสัญญาผู้รับเหมาทั้ง 3 ช่วง ได้แก่ ตอน 1 ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-แสมดำ (กม.9+800-13+300) ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท บุญสหะการสร้าง จำกัด งบประมาณ 707.50 ล้านบาท ลงนามสัญญา 10 กุมภาพันธ์ 2561 ขยายเวลาสัญญาออกไปเป็นวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ปัจจุบันการก่อสร้างมีผลงาน 55.427% เร็วกว่าแผน 20.178%

ตอน 2 แสมดำ-พันท้ายนรสิงห์ (กม.13+300-17+400) ระยะทาง 4.1 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท แสงชัยโชค จำกัด งบประมาณ 798.555 ล้านบาท ลงนามสัญญา 1 กุมภาพันธ์ 2561 ขยายเวลาสัญญาออกไปเป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ปัจจุบันการก่อสร้างมีผลงาน 65.175 % เร็วกว่าแผน 22.441%

ตอน 3 พันท้ายนรสิงห์-ทางแยกต่างระดับเอกชัย (กม.17+400-21+500) ระยะทาง 4.1 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท เอ็ม.ซี.คอนสตรัคชั่น (1979) จำกัด งบประมาณ 707.5 ล้านบาท ลงนามสัญญา 20 กุมภาพันธ์ 2561 ขยายเวลาสัญญาออกไปเป็นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ปัจจุบันการก่อสร้างมีผลงาน 85.836 % เร็วกว่าแผน 22.458%

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะนี้ได้เปิดใช้สะพานข้ามทางรถไฟในช่องทางหลัก ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่ผู้รับเหมาทางยกระดับ ตอน 3 อย่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ก็เริ่มทำเสาตอม่อทางยกระดับบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟ และทางแยกต่างระดับเอกชัย เพื่อรับรถจากถนนเอกชัยกับทางยกระดับโดยเฉพาะ

แม้ถนนบนพื้นราบใกล้จะเกิดขึ้นจริงไปเรื่อยๆ แต่การก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ตลอดระยะทางกว่า 21 กิโลเมตร ผู้ใช้รถใช้ถนนจะต้องทนไปอีกถึงปี 2566 กว่าที่ทางยกระดับทั้งสองหน่วยงานจะเปิดให้บริการ ซึ่งจะทำหน้าที่แบ่งเบาปริมาณการจราจรที่มีมากกว่า 1 แสนคันต่อวัน จากแจ้งวัฒนะ ดินแดง พระราม 9 และบางนา มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *