จับทุจริตโครงการคนละครึ่ง ร้านของชำสมุทรสาครฉาว สมคบ “เจ้ามือ” โกงสิทธิรัฐช่วยจ่าย

โครงการคนละครึ่ง ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมอบสิทธิรัฐช่วยจ่าย 50% เมื่อซื้อสินค้าและบริการตามร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการ ไม่เกินวันละ 150 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 3,500 บาท ตลอดระยะเวลาโครงการ ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม รวมทั้งได้รับความนิยมจากร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 1 ล้านแห่งทั่วประเทศ

อีกมุมหนึ่ง อาจจะได้เห็นการทุจริตในการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ สมคบคิดระหว่าง “ร้านค้า” กับ “ผู้ได้รับสิทธิ” ที่ไม่ต้องการซื้อสินค้าและบริการจริง แต่กลับเอาสิทธิรัฐช่วยจ่าย 50% มาแลกเป็นเงินสด โดยใช้วิธีสแกนคิวอาร์โค้ดระหว่างแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” สำหรับร้านค้า กับ “เป๋าตัง” สำหรับผู้ได้รับสิทธิ แล้วหักค่าส่วนต่างออกมาเป็นเงินโอนเข้าบัญชี

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) พบความผิดปกติในการใช้จ่ายอยู่ 2 รูปแบบ คือ “ร้านแลกเงิน” โดยร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง รับแลกสิทธิรัฐช่วยจ่ายเป็นเงินสด โดยประชาชนไปใช้สิทธิกับร้านค้าโดยตรง ด้วยการให้ผู้ใช้สิทธิสแกนคิวอาร์โค้ด แต่ไม่มีการซื้อสินค้าและบริการจริง จากนั้นทางร้านค้าจะโอนเงินเข้าบัญชีประชาชนแล้วหักหัวคิวออก

อีกรูปแบบหนึ่ง คือ “เจ้ามือ” โดยประชาชนที่ต้องการแลกสิทธิรัฐช่วยจ่ายเป็นเงินสด จะให้ข้อมูลการล็อกอินแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แก่ขบวนการทุจริต ได้แก่ เบอร์มือถือที่ใช้ลงทะเบียน รหัส PIN 6 หลัก และเลขที่บัญชีสำหรับรับเงินแล้วให้ขบวนการนี้ไปใช้สิทธิคนละครึ่งกับร้านค้าที่ร่วมมือกันทุจริต แทนผู้ได้รับสิทธิโดยตรง ก่อนโอนเงินให้กับผู้ได้รับสิทธิโดยหักหัวคิวเช่นกัน

โดยพบว่าประชาชนจะได้รับโอนเงินส่วนต่างจากเจ้ามือ 80-100 บาทต่อธุรกรรม ส่วนร้านค้าได้รับเงินส่วนต่าง 50-70 บาทต่อธุรกรรม จากสิทธิคนละครึ่งไม่เกินวันละ 150 บาท ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย เพราะเป็นการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง จึงระงับการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ระงับการจ่ายเงินให้ร้านค้า และส่งข้อมูลให้ตำรวจดำเนินคดี

ต่อมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ควบคุมกำกับดูแลการตรวจสอบและดำเนินคดี โดยมี พล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้ช่วย อีกทั้งมอบหมายให้กองบัญชาการสอบสวนกลาง เร่งรัดดำเนินการ โดย มี พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ร่วมดำเนินการกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)

ตำรวจตรวจสอบพบว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กใช้ชื่อว่า “สาวิตา รักชีพชอบ” โฆษณาชักชวนให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิในโครงการคนละครึ่ง มาแลกรับเงินจากเจ้ามือโดยไม่ต้องมีการซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ จากการตรวจสอบ พบมีการสแกนใช้สิทธิ์กับร้านขายของชำแห่งหนึ่ง ชื่อว่า “ร้านสมปอง” ใน ต.คอกกระบือ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

โดยผู้มาใช้สิทธิพบว่ามีภูมิลำเนา และที่อยู่ปัจจุบันห่างไกลจากร้านค้าดังกล่าวมาก บางคนมาจากเชียงใหม่ มาจากสงขลา แต่ใช้สิทธิคนละครึ่งที่นี่บ่อยครั้ง

กระทั่งวันที่ 9 ธ.ค. 2563 ตำรวจร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้แทนจากธนาคารกรุงไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าขายของชำชื่อว่า “ร้านสมปอง” ที่ ต.คอกกระบือ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ปรากฎว่าพบเจ้าของร้านคือ นางสมปอง (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 62 ปี พร้อมด้วย นายสรัล (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี เป็นลูกชายเจ้าของร้าน

นางสมปองยอมรับว่า ได้ตกลงร่วมมือกับเจ้ามือติดต่อสื่อสารกัน โดยมีลูกชายคือนายสรัลเป็นคนจัดการทั้งหมด เมื่อได้รับเงินจากรัฐบาล 150 บาทต่อราย จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ร้านค้าหักหัวคิว 30 บาท ก่อนโอนไปให้เจ้ามือ 120 บาท จากนั้นเจ้ามือจะโอนเงินไปให้ผู้ได้รับสิทธิ 90 บาท โดยไม่มีการซื้อขายสินค้าภายในร้านจริง

ตรวจสอบพบโทรศัพท์มือถือที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” จำนวน 5 เครื่อง แท็บเล็ต 1 เครื่อง คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง และสมุดบัญชีธนาคาร 6 เล่ม จึงตรวจยึดไว้เป็นของกลาง

ต่อมาตำรวจได้ลงพื้นที่สอบสวนประชาชนที่ใช้สิทธิคนละครึ่งกับร้านสมปองขายของชำ 14 จุด กระจายทั่วประเทศ อาทิ ลพบุรี ชลบุรี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ เชียงใหม่ สงขลา เป็นต้น กระทั่งรวบรวมพยานหลักฐานและวิเคราะห์เส้นทางการเงินในคดี ปรากฎว่าเจ้ามือ คือ นายจีรพจน์ และนางกนกภณณ์ (ขอสงวนนามสกุล) เป็นสามีภรรยากัน อยู่ใน จ.ลพบุรี

วันที่ 17 ธ.ค. 2563 ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหากับ น.ส.สมปอง, นายสรัล, นายจีรพจน์ และนางกนกภรณ์ ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1) อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เบื้องต้น น.ส.สมปอง เจ้าของร้านให้การปฏิเสธ แต่นายสรัล ลูกชายให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ขณะที่นายจีรพจน์ให้การปฏิเสธ โดยให้การว่าไม่รู้เรื่องมาก่อน แต่นางกนกภรณ์ ภรรยา กลับให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยรับว่าร่วมกับนายสรัล ซึ่งนางกนกภรณ์ จะเป็นคนหาลูกค้าประชาชนผ่านเฟซบุ๊ก “สาวิตา รักชีพชอบ” จากนั้นจะนำข้อมูลมาล็อคอินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สแกนใช้สิทธิ์ผ่านแอพลิเคชั่น ถุงเงินร้านค้าของนายสรัลฯ โดยไม่มีการซื้อขายจริง

จากการตรวจสอบพบว่ายังมีกลุ่มที่อาจจะเข้าข่ายกระทำความผิดในลักษณะนี้อีกกว่า 700 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ระหว่างแต่งตั้งชุดปฏิบัติการสืบสวน และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อาจจะมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนว่า แม้คดีฉ้อโกงจะมีอัตราโทษไม่มาก จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ 5 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ 100,000 บาท แต่การกระทำความผิดในแต่ละครั้ง จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ เมื่อรวมแล้วอาจจะได้รับโทษจำคุกถึง 10-20 ปี หรือมากกว่านั้น จึงขออย่าได้เข้าร่วมในการกระทำการทุจริตในโครงการคนละครึ่ง

เพราะจากนี้จะมีการตรวจสอบที่เข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายร้านค้าผู้ประกอบการหรือประชาชน เพื่อไม่ให้ผู้อื่นเสียโอกาส และเตือนประชาชนที่ได้รับสิทธิว่า อย่าหลงเชื่อผู้ที่ชักชวนให้ทำผิดเงื่อนไขโครงการ โดยแลกสิทธิรัฐช่วยจ่ายเป็นเงินสด เพราะทั้งร้านค้าและประชาชนจะถูกตัดสิทธิ์ และจะถูกดำเนินคดีทุกรายซึ่งมีอายุความถึง 10 ปี

ส่วนประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการคนละครึ่ง สามารถแจ้งเบาะแสพร้อมหลักฐานมาที่อีเมล halfhalf@fpo.go.th หรือส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) http://pct.police.go.th/form.php

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *