ส่องความพร้อม “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” ห้วงเวลาตรวจเชิงรุกนับหมื่น

แผนการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในจังหวัดสมุทรสาคร ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ถือเป็นการคิกออฟครั้งล่าสุดในการลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยจะตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้น ทั้งโรงงานขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ตลาด ชุมชน หอพักคนงาน ตั้งเป้าระดมตรวจให้ได้วันละ 10,000 ราย ภายใน 1 สัปดาห์

หลังจากนั้นจะพยายามทำให้บางพื้นที่เป็นสีเขียว เช่น อำเภอบ้านแพ้ว ที่บางตำบล เช่น อำแพง ยังเป็นพื้นที่สีเหลือง หรือมีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 10% ให้เป็นพื้นที่สีเขียว คือไม่พบผู้ติดเชื้อเลย หรืออำเภอกระทุ่มแบนที่บางส่วน เช่น ต.คลองมะเดื่อ เป็นพื้นที่สีแดง คือพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 10% ให้กลายมาเป็นพื้นที่สีเหลืองมากขึ้น

หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2564 จะเก็บรายละเอียดการค้นหาในชุมชน เพื่อทำให้อำเภอที่มีพื้นที่สีแดงเป็นสีเหลือง และอำเภอที่มีพื้นที่สีเหลืองเป็นสีเขียว เชื่อว่าภายในช่วงวันที่ 8-15 กุมภาพันธ์ 2564 การติดเชื้อก็จะค่อนข้างเบาบาง โดยเมื่อผู้ติดเชื้อน้อยลงจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการ ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครจะเป็นตัวอย่างที่จะทำกันทั่วประเทศ

นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เคยกล่าวว่า แผนการตรวจเชิงรุกแบบปูพรมนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ประมาณอยู่ที่ราว 6-8 หมื่นราย จึงทำให้ในช่วงนี้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก ซึ่งบางวันก็อาจจะไปเจอกลุ่มตัวเลขที่ติดเชื้อในโรงงาน จึงทำให้มีตัวเลขพุ่งสูงขึ้นได้ แต่ก็เป็นไปตามกระบวนการทางการแพทย์

แม้จะมีความกังวลถึงตัวเลขผู้ป่วยแบบก้าวกระโดด จากวันละหลักร้อยรายมีแนวโน้มไปสู่วันละหลักพันราย ความพร้อมของ “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” (โรงพยาบาลสนาม) และ “ศูนย์ห่วงใยแรงงานสาคร” (Factory Quarantine) รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ยังคงเพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่ถ้าวันต่อไปต้องดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน

ศูนย์ห่วงใยคนสาคร เกิดขึ้นตามแนวคิดของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ต้องการควบคุมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ เพื่อจำกัดขอบเขตของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น ป้องกันความเสี่ยงไม่ให้ผู้ติดเชื้อปะปนกับคนภายนอก และดูแลผู้ติดเชื้อที่มีอาการดีขึ้นให้มีภูมิคุ้มกันและหายขาดจากโควิด-19 จึงจะให้กลับบ้านได้

ปัจจุบันศูนย์ห่วงใยคนสาครมีทั้งหมด 9 แห่ง จำนวนเตียงทั้งหมด 3,583 เตียง กำลังดำเนินการให้ได้ 2,023 เตียง ขณะนี้กำลังจะเปิดเพิ่มเติมที่วัฒนาแฟคตอรี่ ต.พันท้ายนรสิงห์ จำนวน 1,000 เตียง และในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะเปิดอีกแห่งหนึ่งที่บริษัท วิท วอเตอร์ ซิสเต็ม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เดอะ มันนี่ จำกัด ต.ท่าทราย จำนวน 400 เตียง

ส่วนศูนย์ห่วงใยแรงงานสาคร (Factory Quarantine) สถานที่ควบคุมและป้องกันโรคในสถานประกอบการนั้น มีบริษัท พัทยาฟู้ด อินดัสตรี จำกัด ดำเนินการเป็นต้นแบบแห่งแรกในไทย ขนาด 600 เตียง ขณะนี้มีอยู่ 13 แห่ง จำนวนเกือบ 3,000 เตียง พร้อมใช้งานแล้ว 10 แห่ง จำนวนกว่า 2,500 เตียง อยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 3 แห่ง จำนวนกว่า 400 เตียง

ศูนย์ห่วงใยคนสาคร และ Factory Quarantine รวมกันแล้วกว่า 6,000 เตียง แม้จะถือว่ามีมาก แต่ก็ต้องลุ้นผลการตรวจเชิงรุกว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นอีกหรือไม่ และจะบริหารสถานการณ์อย่างไรให้การแพร่ระบาดลดลง นำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการ กิจการ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตที่ต้องหยุดชะงักต่อไป

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *