ส่องโครงการทางหลวง ก่อน “ทางยกระดับพระรามที่ 2” จะมาถึงบ้านแพ้ว

ในอนาคตอันใกล้ การคมนาคมในจังหวัดสมุทรสาคร จะมีทางเลือกที่หลากหลายยิ่งขึ้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ก.พ. มีมติเห็นชอบให้กรมทางหลวงเดินหน้าก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว หรือ “ทางยกระดับพระรามที่ 2” ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร วงเงิน 19,700 ล้านบาท

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนพระราม 2 เชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลงสู่ภาคใต้ของประเทศ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และยังเป็นเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคใต้ กระจายรายได้ไปยังภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ยกระดับขีดความสามารถของประเทศอย่างยั่งยืน

โดยเป็นทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 ขนาด 6 ช่องจราจรไป-กลับ ระหว่าง กม. 20+295 ก่อนถึงทางแยกต่างระดับเอกชัย พื้นที่ ต.คอกกระบือ อ.เมืองฯ ถึง กม. 36+645 ก่อนถึงสามแยกบ้านแพ้วประมาณ 2 กิโลเมตร พื้นที่ ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ พร้อมด่านเก็บค่าผ่านทาง 4 จุด ได้แก่ ด่านมหาชัย 2 ด่านสมุทรสาคร 1 ด่านสมุทรสาคร 2 และด่านบ้านแพ้ว

การก่อสร้างจะเชื่อมต่อโดยตรงกับโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ช่วง ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 10.769 กิโลเมตร ที่กำลังก่อสร้างโดยใช้งบประมาณแผ่นดิน แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ตอน ค่าก่อสร้าง 10,477.386 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญา 28 ส.ค. 2562 สิ้นสุดสัญญา 11 ส.ค. 2565

โครงการนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้วเมื่อ 22 เม.ย. 2562 ใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง (กองทุนมอเตอร์เวย์) ซึ่งมีรายได้มาจากการจัดเก็บค่าผ่านทาง มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด) และหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก) ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2564-2567

ขณะเดียวกัน กรมทางหลวงจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างงานระบบพร้อมการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ในรูปแบบ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) คาดว่างานโยธาช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว จะก่อสร้างในช่วงปี 2564-2567 จากนั้นจะติดตั้งระบบต่างๆ ในช่วงปี 2566-2567 และเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ในต้นปี 2568

สำหรับการจัดเก็บค่าผ่านทาง จะใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) เชื่อมต่อทุกโครงข่ายในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) มีด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ด่านพันท้ายนรสิงห์ ด่านมหาชัย 1 ด่านมหาชัย 2 ด่านสมุทรสาคร 1 ด่านสมุทรสาคร 2 และด่านบ้านแพ้ว

ปัจจุบันบนถนนพระรามที่ 2 นอกจากจะมีโครงการทางยกระดับพระราม 2 แล้ว ยังมีโครงการก่อสร้างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และที่กำลังจะเกิดขึ้นแน่นอน ได้แก่

โครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย (ปี 2561) พบว่าตอน 3 กม.17+400 ถึง กม.21+500 (ก่อนถึงสะพานข้ามทางรถไฟ-มหาชัยเมืองใหม่) ค่าก่อสร้าง 794.043 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท เอ็ม.ซี.คอนสตรัคชั่น (1979) จำกัด แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา

ส่วนตอน 1 กม.9+800 ถึง กม.13+300 (บางขุนเทียน-เลยสุดเขต กทม.) ค่าก่อสร้าง 707.5 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท บุญสหะการสร้าง จำกัด และตอน 2 (เลยสุดเขต กทม.-ก่อนถึงสะพานข้ามทางรถไฟ) กม.13+300 ถึง กม.17+400 ค่าก่อสร้าง 798.555 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท แสงชัยโชติ จำกัด คืบหน้ากว่าร้อยละ 80 แต่ติดสาธารณูปโภค

โครงการสะพานกลับรถบนทางหลวงหมายเลข 35 ที่ กม.34 (ขาออก) พร้อมทางขนาน (ปี 2562) วงเงิน 399.5 ล้านบาท ก่อสร้างโดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด นภาก่อสร้าง ซึ่งทางขนานยาวไปเกือบถึงทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว พบว่าใกล้จะแล้วเสร็จ แม้จะติดสาธารณูปโภคก็ตาม โดยกำหนดสิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา

แฟ้มภาพ

อีกโครงการหนึ่งที่กำลังจะก่อสร้างในปีนี้ คือ ทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว (ปี 2564) เชื่อมระหว่างถนนพระราม 2 กับทางหลวงหมายเลข 375 (ถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน) งบประมาณ 600 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในระหว่างจัดทำราคากลาง โดยในปี 2564 ตั้งงบประมาณ 120 ล้านบาท ปี 2565 ผูกพันงบประมาณ 240 ล้านบาท และปี 2566 ผูกพันงบประมาณ 240 ล้านบาท

ส่วนโครงการในอนาคต ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 สายนครปฐม – ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 63,998 ล้านบาท ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างพิจารณาเตรียมนำเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบรูปแบบการดำเนินโครงการ และประกาศเชิญชวนและคัดเลือกเอกชน ภายในปี 2564

โดยพบว่าแนวเส้นทางแม้จะไม่ผ่านจังหวัดสมุทรสาครโดยตรง แต่ผ่านถนนพระราม 2 (ด่านปากท่อ) อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และผ่านถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน (ด่านตลาดจินดา) อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งจะเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ที่ทางแยกต่างระดับนครชัยศรี ไปยังโซนบางใหญ่ โซนนนทบุรี และโซนกรุงเทพฯ เหนือ

ส่วนโครงการที่รอการพัฒนา ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 91 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านตะวันตก (มหาชัย-บางปะอิน) ระยะทาง 98 กิโลเมตร, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านทิศตะวันตก (บางขุนเทียน-บางบัวทอง) ระยะทาง 38 กิโลเมตร

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *