ดีลิเวอรีในสมุทรสาคร อาจไม่ได้หยุดแค่ Shopee Food

ในที่สุดช้อปปี้ฟู้ด (Shopee Food) บริการสั่งอาหารออนไลน์ หรือ ฟู้ดดีลิเวอรี (Food Delivery) น้องใหม่จากช้อปปี้ (Shopee) แพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง เปิดให้บริการแล้วในพื้นที่ตัวเมืองสมุทรสาคร โดยได้เปิดระบบไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเรียกใช้บริการได้ที่เมนู “ShopeeFood สั่งอาหาร” บนแอปพลิเคชัน Shopee

ก่อนหน้านี้ ชอปปี้ได้ส่งทีมงานไปสำรวจร้านอาหารต่างๆ ในเขตเทศบาลนครสมุทรสาคร ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อชักชวนผู้สนใจเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายทั้งร้านอาหาร สตรีทฟู้ด รวมไปถึงร้านที่ใช้ระบบบริหารจัดการร้านอาหารที่ชื่อว่า “โอชา” (Ocha) ที่ บริษัท ยูนิคอร์น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทย่อยของกลุ่มซี กรุ๊ป เจ้าของอาณาจักรชอปปี้เป็นผู้พัฒนาระบบ

จุดเด่นของชอปปี้ฟู้ดสำหรับฝั่งผู้บริโภคก็คือ คนที่ใช้งานช้อปปี้ซื้อของออนไลน์เป็นประจำอยู่แล้ว จะทราบว่าสามารถใช้โค้ดส่วนลด หรือโค้ดส่งฟรีอย่างใดอย่างหนึ่ง ผสมกับใช้เหรียญช้อปปี้ (Shopee Coin) ที่ได้จากการซื้อสินค้าที่ร่วมรายการ จ่ายบิล หรือทำกิจกรรมต่างๆ มาเป็นส่วนลดในการสั่งอาหารได้ และสามารถเลือกช่องทางการชำระเงินได้หลากหลายช่องทาง

จากการสอบถามแหล่งข่าวผู้ประกอบการร้านอาหารรายหนึ่ง ระบุว่า ทีมงานของชอปปี้ฟู้ดได้เข้ามาติดต่อกับทางร้านเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน โดยทางร้านใช้ระบบโอชาเป็นระบบบริหารจัดการร้าน ซึ่งข้อดีของช้อปปี้ฟู้ดก็คือ จะเชื่อมต่อกับระบบโอชาได้ง่าย ขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ หรือที่เรียกว่าค่าจีพี (GP) นั้น ไม่แตกต่างไปจากค่ายอื่น

แม้ช้อปปี้ฟู้ดจะเปิดให้บริการแล้ว แต่ยังคงมีร้านค้าพาร์ทเนอร์และไรเดอร์ไม่มาก อีกทั้งยังไม่ได้โปรโมตให้เป็นที่รับรู้ในระดับจังหวัด นอกจากแบนเนอร์บนแอปพลิเคชันช้อปปี้ หลายคนจึงไม่ทราบว่าอยู่ในพื้นที่ให้บริการ นอกเสียจากว่าเห็นสัญลักษณ์ Shopee Food ที่หน้าร้าน

การแข่งขันของธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรีในจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นปี 2563 โดยมีไลน์แมน (Lineman) ที่เปิดบริการแมสเซนเจอร์ (Messenger Service) รับ-ส่งสิ่งของ เมื่อปี 2560 ก่อนจะพัฒนาบริการฟู้ดดีลิเวอรี ตามมาด้วย ฟู้ดแพนด้า (Foodpanda), โรบินฮู้ด (Robinhood) ของธนาคารไทยพาณิชย์

และ แกร็บฟู้ด (Grab Food) ที่พัฒนามาจากบริการเรียกรถ หรือ ไรด์แชริ่ง (Ride Sharing) โดยได้เปิดศูนย์รับสมัครแกร็บ สาขาสมุทรสาคร ไปเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ไม่นับรวมผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ทำฟู้ดดีลิเวอรีขึ้นมาเอง เช่น พอร์โต้ ดีลิเวอรี (Porto Delivery) ของศูนย์การค้าพอร์โต้ ชิโน่ เป็นต้น

แต่ละเจ้าต่างแข่งขันในรูปแบบต่างๆ นอกจากโปรโมชันระดับส่วนกลาง โปรโมชันร่วมกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เช่น บัตรเครดิต หรือศูนย์การค้าแล้ว บางค่ายลงทุนทำการตลาดระดับท้องถิ่น เช่น การติดตั้งป้ายโฆษณาตามแหล่งชุมชนต่างๆ การซื้อสื่อโฆษณาท้องถิ่น เพื่อสร้างการรับรู้ การแจกคูปองโค้ดส่วนลดเพื่อจูงใจให้ลูกค้ามาใช้บริการ เป็นต้น

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะจากคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร และมาตรการห้ามรับประทานอาหารในร้าน นอกจากซื้อกลับไปบริโภคที่อื่น (Take Away) ช่วงที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดิมรับประทานอาหารนอกบ้าน มาเป็นสั่งผ่านดีลิเวอรีแทน เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด ธุรกิจดีลิเวอรีจึงเริ่มมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา หากไม่นับโรบินฮู้ดที่ไม่คิดค่าจีพีมาตั้งแต่ก่อตั้ง ผู้ประกอบการดีลิเวอรีพยายามลดค่าจีพีลงมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร จากเดิมประมาณ 35% ลดลงมาเป็น 32% ปัจจุบันเหลือ 30% ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม บริการดีลิเวอรีในจังหวัดสมุทรสาคร อาจยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะยังมี “แอร์เอเชียฟู้ด” (Airasia Food) ที่ซื้อกิจการมาจาก โกเจ็ก (Gojek) สตาร์ทอัพสัญชาติอินโดนีเซีย ที่ก่อนหน้านี้ให้บริการพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครในนาม “เก็ตฟู้ด” (Get Food) เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ปัจจุบันแอร์เอเชียฟู้ดเปิดให้บริการเฉพาะกรุงเทพมหานคร และมีแผนจะขยายไปทั่วประเทศ

ขณะที่กลุ่มทรู เปิดให้บริการ “ทรูฟู้ด” (True Food) เปิดตัวเมื่อเดือนมกราคม 2564 ประเดิมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 4,000 ร้านค้า ช่วงแนะนำไม่เก็บค่าจีพีถึง 31 ธันวาคม 2564 ส่วนลูกค้าทรูยังได้รับสิทธิพิเศษ และสามารถใช้คะแนนทรูพอยต์ (True Point) แลกส่วนลดค่าอาหารและค่าส่งรวมสูงสุด 240 บาทอีกด้วย

เมื่อมีผู้เล่นลงมาในตลาดมากขึ้น สงครามราคาก็จะตามมา ด้วยตัวเลือกที่หลากหลาย ผู้บริโภคได้ประโยชน์ถ้วนหน้า

ลำดับการให้บริการดีลิเวอรีในจังหวัดสมุทรสาคร

Lineman – พฤศจิกายน 2560 (เริ่มต้นจากบริการแมสเซนเจอร์ รับ-ส่งสิ่งของ)
Foodpanda – 5 กุมภาพันธ์ 2563
Get Food – มิถุนายน 2563 (ปัจจุบันปิดให้บริการหลังแอร์เอเชียซื้อกิจการ)
Robinhood – 26 ตุลาคม 2563
Grab Food – กรกฎาคม 2564
Shopee Food – พฤศจิกายน 2564

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *