ย่านพระราม 2 รับอานิสงส์รถไฟฟ้า สายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ คาดเปิดให้บริการปี 2570

ภาพ : MRT Bangkok Metro

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ “เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” เปิดซองราคา 6 สัญญาเรียบร้อยแล้ว รอบอร์ด รฟม.อนุมัติ ก่อสร้างปี 65 คาดเปิดให้บริการปี 70 ย่านพระราม 2 รับอานิสงส์สถานีบางปะแก้ว และสถานีบางปะกอกพร้อมอาคารจอดแล้วจร เชื่อมต่อสายสีน้ำเงินที่สถานีสามยอดและเตาปูน แถมนั่งยาวไปถึงบางใหญ่ได้อีก

เริ่มชัดเจนขึ้นมาแล้วสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อการประกวดราคางานจ้างก่อสร้างงานโยธาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ได้ผู้ชนะการประมูลเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอคณะกรรมการ รฟม. เพื่ออนุมัติและลงมือก่อสร้างต่อไป

สำหรับการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 6 สัญญา ได้แก่

สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ได้กลุ่ม CKST-PL JOINT VENTURE (ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เสนอราคา 19,433 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า ได้กลุ่ม CKST-PL JOINT VENTURE (ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)) เสนอราคา 15,880 ล้านบาท

สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้าฯ-สะพานพุทธ ได้กลุ่ม ITD – NWR MRT JOINT VENTURE (ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน)) เสนอราคา 15,109.38 ล้านบาท

สัญญาที่ 4 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง ได้บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) เสนอราคา 14,982 ล้านบาท

สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง-ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) ได้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) เสนอราคา 13,139.87 ล้านบาท

สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ ได้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) เสนอราคา 3,591.36 ล้านบาท

โครงการนี้มีแผนที่จะลงมือก่อสร้างในปี 2565 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี พร้อมโรงจอดรถไฟฟ้า ตั้งอยู่บริเวณริมถนนกาญจนาภิเษก ข้างด่านเก็บค่าผ่านทางบางพลี – สุขสวัสดิ์ ด้านขาเข้าเมือง และอาคารจอดแล้วจร สถานีบางปะกอก และสถานีราษฎร์บูรณะ

เริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ของสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) ลดระดับลงใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก ถนนทหาร ถนนสามเสน เลี้ยวซ้ายถนนพระสุเมรุ แยกผ่านฟ้าลีลาศ ถนนมหาไชย ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ถนนประชาธิปก ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ก่อนยกระดับขึ้นไปบริเวณดาวคะนอง ไปตามถนนสุขสวัสดิ์ สิ้นสุดที่ย่านครุใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

สำหรับสถานีรถไฟฟ้า ประกอบด้วย สถานีใต้ดิน 10 สถานี ได้แก่

  1. สถานีรัฐสภา (PP17) ถนนสามเสน หน้าอาคารรัฐสภา สี่แยกเกียกกาย
  2. สถานีศรีย่าน (PP18) ถนนสามเสน หน้ากรมชลประทาน ใกล้สี่แยกศรีย่าน (เชื่อมต่อเรือด่วนเจ้าพระยา ท่าเรือพายัพ)
  3. สถานีวชิรพยาบาล (PP19) ถนนสามเสน หน้าโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ใกล้สี่แยกซังฮี้ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
  4. สถานีหอสมุดแห่งชาติ (PP20) ถนนสามเสน หน้าหอสมุดแห่งชาติ ใกล้มหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร และตลาดเทเวศ (เชื่อมต่อเรือด่วนเจ้าพระยา ท่าเรือเทเวศร์)
  5. สถานีบางขุนพรหม (PP21) ถนนสามเสน หน้าวัดเอี่ยมวรนุชและวัดสามพระยา ใกล้สี่แยกบางขุนพรหม ธนาคารแห่งประเทศไทย
  6. สถานีผ่านฟ้า (PP22) ถนนพระสุเมรุ หน้าหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ แยกผ่านฟ้า (ในอนาคตเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย)
  7. สถานีสามยอด (PP23) ถนนมหาไชย หน้าสวนรมณีนาถ ใกล้คลองโอ่งอ่าง (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีสามยอด)
  8. สถานีสะพานพุทธ (PP24) ถนนประชาธิปก ใกล้วัดพิชยญาติการาม โรงเรียนศึกษานารี และสี่แยกบ้านแขก
  9. สถานีวงเวียนใหญ่ (PP25) ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน หน้าตลาดเงินวิจิตร (เชื่อมต่อรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย และในอนาคตเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง)
  10. สถานีสำเหร่ (PP26) ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน บริเวณตลาดสำเหร่ และคลองสำเหร่ ใกล้โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี

ส่วนสถานียกระดับ 7 สถานี ได้แก่

  1. สถานีดาวคะนอง (PP27) ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ใกล้ตลาดดาวคะนอง แยกดาวคะนอง (ถนนจอมทอง)
  2. สถานีบางปะแก้ว (PP28) ถนนสุขสวัสดิ์ หน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาสุขสวัสดิ์ โรงเรียนสิริอักษรธนบุรี และปากซอยสุขสวัสดิ์ 14
  3. สถานีบางปะกอก (PP29) ถนนสุขสวัสดิ์ หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบางปะกอก เลยห้างบิ๊กซี สาขาบางปะกอก มีอาคารจอดแล้วจร รับรถได้ 1,657 คัน
  4. สถานีแยกประชาอุทิศ (PP30) ถนนสุขสวัสดิ์ หน้าวัดสารอด ปากซอยสุขสวัสดิ์ 44 ก่อนถึงแยกประชาอุทิศ (กม.9)
  5. สถานีราษฎร์บูรณะ (PP31) ถนนสุขสวัสดิ์ ก่อนถึงไฟแดงวัดสน มีอาคารจอดแล้วจร 2 อาคาร ฝั่งขาเข้าเมืองรองรับได้ 864 คัน ฝั่งขาออกเมืองรองรับได้ 514 คัน รวม 1,378 คัน
  6. สถานีพระประแดง (PP32) ถนนสุขสวัสดิ์ บริเวณสามแยกพระประแดง หน้าธนาคารกรุงไทย และตลาดพระประแดงอาเขต
  7. สถานีครุใน (PP33) ถนนสุขสวัสดิ์ หน้าปั๊มซัสโก้ และโชว์รูมโตโยต้าพระประแดง เป็นสถานีปลายทาง (เชื่อมต่อรถประจำทางไปยัง อ.พระสมุทรเจดีย์ และป้อมพระจุลจอมเกล้า)
ภาพ : MRT Bangkok Metro

สำหรับคนที่อยู่อาศัยย่านถนนพระราม 2 และสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ห่างจากแยกบางปะแก้ว 28 กิโลเมตร ในอนาคตสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้ โดยผู้ที่ขับรถยนต์ส่วนตัวมาเอง แนะนำให้ใช้บริการที่สถานีบางปะกอก มีอาคารจอดแล้วจรรองรับ ส่วนรถประจำทางจากถนนพระราม 2 ลงรถเมล์ที่ป้ายวัดนาคนิมิตร แล้วเดินย้อนไปสถานีประมาณ 100 เมตร ซึ่งจะใกล้มากกว่า

รถประจำทางจากถนนพระราม 2 สายที่ผ่าน ได้แก่ สาย 68 (อู่แสมดำ-บางลำพู และ สมุทรสาคร-บางลำพู) สาย 76 อู่แสมดำ-ประตูน้ำ, สาย 101 วัดยายร่ม-อู่บรมราชชนนี, สาย 105 มหาชัยเมืองใหม่-คลองสาน, สาย 147 วงกลมเคหะธนบุรี-บางแค, สาย 209 วงกลมกัลปพฤกษ์-ถนนพระราม 2 เป็นต้น

ส่วนรถประจำทางจากถนนจอมทอง ได้แก่ สาย 120 สมุทรสาคร-แยกบ้านแขก ในอนาคตสามารถใช้บริการสถานีดาวคะนองได้ นอกจากนี้ คนที่ใช้บริการรถไฟมหาชัย-วงเวียนใหญ่ ที่ในอนาคตจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ในอนาคตสามารถใช้บริการสถานีวงเวียนใหญ่ได้เช่นกัน

จากจุดนี้สามารถเดินทางไปเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ที่สถานีสามยอด, ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ที่สถานีเตาปูน เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อเรือ ท่าเรือพระนั่งเกล้า ที่สถานีสะพานพระนั่งเกล้า และสามารถนั่งต่อไปยังสถานีตลาดบางใหญ่ ซึ่งมีศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต และปลายทางสถานีคลองบางไผ่ได้

แต่ในช่วงที่กำลังก่อสร้าง การจราจรอาจจะติดขัดไปบ้าง พลันให้นึกถึงสโลแกนที่ว่า “อดทนอีกนิด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น”

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *