ส่องร่างผังเมืองใหม่ กทม. ควบแผน M-MAP 2 รถไฟฟ้าสายสีแดงแนวใหม่มาทางเอกชัย

พบร่างผังเมือง กทม.ฉบับใหม่ที่กำลังรับฟังความคิดเห็น บรรจุ “โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม” เปลี่ยนแนวเส้นทางตามแผน M-MAP 2 ของกรมรางฯ รถไฟฟ้าสายสีแดงแนวใหม่ ไม่ใช้ทางรถไฟมหาชัย-วงเวียนใหญ่ แต่ใช้เกาะกลางถนนเอกชัย ยาวไปถึงสมุทรสาคร แต่จัดลำดับให้สร้างช่วง วงเวียนใหญ่-บางบอน ก่อน

เมื่อวันก่อน กรุงเทพมหานครได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งขยายเวลาแสดงความคิดเห็นถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่น่าสนใจก็คือ แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่ง พบว่ามีการระบุเครื่องหมายโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน หนึ่งในนั้นคือ “โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม” หัวลำโพง-มหาชัย-ปากท่อ

พบว่ามีการย้ายแนวเส้นทางจากเดิม ทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ เปลี่ยนเป็นใช้เขตทางถนนเอกชัยแทน

สอดคล้องกับการจัดทำ โครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 ของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม พบว่า รถไฟฟ้าสายสีแดง วงเวียนใหญ่-บางบอน ในรูปแบบรถไฟฟ้าชานเมือง (Commuter) ถูกจัดอันดับให้เป็นเส้นทางที่มีความจำเป็นแต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน ดำเนินการภายในปี 2572

โดยรถไฟฟ้าสายสีแดง วงเวียนใหญ่-บางบอน มีคำแนะนำให้ออกแบบตามเส้นทางใหม่ เนื่องจากเขตทางเดิม คือ ทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ ไม่เพียงพอ ไม่สามารถก่อสร้างได้

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ในรูปแบบรถไฟฟ้าชานเมือง (Commuter) ถูกจัดอันดับให้เป็นเส้นทางมีศักยภาพ พิจารณาความเหมาะสมโครงการอีกครั้งในปี 2572 โดยมีคำแนะนำควรออกแบบเป็นอุโมงค์ เพื่อลดผลกระทบเวนคืนที่ดิน ซึ่งผ่านบริเวณที่ชุมชนหนาแน่น

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีแดง บางบอน-มหาชัย-ปากท่อ ในรูปแบบรถไฟฟ้าชานเมือง (Commuter) ก็ถูกจัดอันดับให้เป็นเส้นทางมีศักยภาพ พิจารณาความเหมาะสมโครงการอีกครั้งในปี 2572 เช่นกัน โดยมีคำแนะนำให้ ออกแบบตามแนวเส้นทางใหม่ เนื่องจากเขตทางเดิมไม่เพียงพอ ไม่สามารถก่อสร้างได้ โดยพบว่ามีการเสนอแนวเส้นทางไปตามถนนเอกชัยแทน

นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำเส้นทางฟีดเดอร์ (Feeder) ดำเนินการเป็นระบบฟีดเดอร์ป้อนเข้ากับระบบขนส่งมวลชน เช่น ไบโมเดล แทรม (Bimodal Tram) หรือ รถเมล์ไฟฟ้า หนึ่งในนั้นคือ เส้นทางศาลายา-มหาชัย เชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน-ศาลายา, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางแค-พุทธมณฑล สาย 4 และรถไฟฟ้าสายสีแดง บางบอน-มหาชัย-ปากท่อ

กล่าวถึงแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย-ปากท่อ ได้มีการนำเสนอสถานีใหม่ขึ้นมา ได้แก่ สถานีหัวลำโพง สถานีคลองสาน สถานีวงเวียนใหญ่ สถานีตลาดพลู สถานีตากสิน สถานีนางนอง สถานีเอกชัย 10 สถานีวัดไทร สถานีวัดสิงห์ สถานีเอกชัย 48 สถานีตลาดบางบอน สถานีเอกชัย 75 สถานีวงแหวน

สถานีบางบอน 3 สถานีบางบอน 5 สถานีวัดโพธิ์แจ้ สถานีพระราม 2 สถานีวัดบ้านขอม สถานีโรงพยาบาลเอกชัย สถานีมหาชัย (ใหม่) สถานีนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร สถานีคลองคันพนัง สถานีคลองตาขำ สถานีบ้านบ่อ สถานีบางโทรัด สถานีบ้านกาหลง สถานีบ้านนาขวาง สถานีบ้านนาโคก สถานีเขตเมือง สถานีลาดใหญ่ และสถานีแม่กลองเป็นสถานีสุดท้าย

โดยแนวเส้นทางตามร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เริ่มจากสถานีหัวลำโพง ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่สถานีคลองสาน บริเวณถนนลาดหญ้า เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีทอง กรุงธนบุรี-คลองสาน จากนั้นแนวเส้นทางไปตามถนนลาดหญ้า เข้าสู่สถานีวงเวียนใหญ่ เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

จากนั้นแนวเส้นทางไปตามถนนอินทรพิทักษ์ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเทอดไท เข้าสู่สถานีตลาดพลู ก่อนที่แนวเส้นทางจะเบี่ยงเข้าไปทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ เข้าสู่สถานีตากสิน เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีลม ตามมาด้วยสถานีนางนอง บริเวณใกล้วัดนางนองวรวิหาร ข้ามถนนวุฒากาศ ข้ามคลองบางขุนเทียน ผ่านวัดราชโอรสาราม ไปออกถนนเอกชัย

เข้าสู่สถานีเอกชัย 10 สถานีวัดไทร สถานีวัดสิงห์ สถานีเอกชัย 48 (ใกล้กับห้างบิ๊กซี บางบอน) สถานีตลาดบางบอน สถานีเอกชัย 75 สถานีวงแหวน (ใกล้ถนนกาญจนาภิเษก) สถานีบางบอน 3 สถานีบางบอน 5 เข้าเขตจังหวัดสมุทรสาคร สถานีวัดโพธิ์แจ้ สถานีพระราม 2 (ใกล้ทางแยกต่างระดับเอกชัย) สถานีวัดบ้านขอม สถานีโรงพยาบาลเอกชัย สถานีมหาชัย (ใหม่)

ถนนเอกชัย ช่วงทางแยกต่างระดับเอกชัย จ.สมุทรสาคร

จากนั้นแนวเส้นทางข้ามแม่น้ำท่าจีน เข้าสู่สถานีนิคมสมุทรสาคร สถานีคลองคันพนัง สถานีคลองตาขำ บรรจบกับทางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลอง เข้าสู่สถานีบ้านบ่อ สถานีบางโทรัด สถานีบ้านกาหลง สถานีบ้านนาขวาง สถานีบ้านนาโคก เข้าเขตจังหวัดสมุทรสงคราม สถานีเขตเมือง สถานีลาดใหญ่ สถานีแม่กลอง สิ้นสุดที่สถานีปากท่อ จ.ราชบุรี

โดยรูปแบบรถไฟฟ้าสายสีแดง วงเวียนใหญ่-บางบอน เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ระยะทาง 7.8 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับบริเวณเกาะกลางถนน บริเวณสถานีเอกชัย 48 ถึงจุดสิ้นสุดบริเวณถนนกาญจนาภิเษก โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ระหว่างสถานีเอกชัย 76 ถึงสถานีวงแหวน

อย่างไรก็ตาม ผลศึกษาพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่ M-MAP 2 ยังคงต้องรอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นผู้อนุมัติ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาออกแบบรายละเอียดกันต่อไป หากเป็นไปตามแผน M-MAP 2 รถไฟฟ้าสายสีแดง วงเวียนใหญ่-บางบอน คาดว่าจะได้ก่อสร้างก่อน

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเส้นทางอื่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องทบทวนวงเงินลงทุนโครงการใหม่ทั้งหมด อาทิ ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร และช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก รวมช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร เพราะภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ต้นทุนต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้น

เมื่อโครงการที่ค้างตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้วยังไม่รู้ว่าจะก่อสร้างตอนไหน โครงการในอนาคตก็คงไม่รู้อนาคต คนสมุทรสาครที่รอคอยโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง มาตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2544 วันนี้ทำได้แค่ “คอยแล้ว คอยอยู่ คอยต่อ”

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *