ปฎิรูปรถเมล์แบบงงๆ คนสมุทรสาครเตรียมตัว เปลี่ยนความจำเลขสายรถเมล์ใหม่

นโยบายปฎิรูปรถเมล์ของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กำลังสร้างความสับสนแก่ผู้ใช้บริการรถเมล์ในการเดินทาง เพราะล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม สั่งการให้เปลี่ยนเลขสายรถเมล์ใหม่ โดยนำขีดกลางออกจากเส้นทางปฎิรูป พร้อมวงเล็บเลขสายรถเมล์เดิม ให้ง่ายต่อการจดจำ กลายเป็นที่วิจารณ์แก่ชุมชนผู้ใช้รถเมล์จำนวนมาก

ผลของการเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ ทำให้ในอนาคตอันใกล้ ชาวจังหวัดสมุทรสาครจะต้องเปลี่ยนความจำสายรถเมล์ใหม่ หลังจากประเดิมเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ใหม่ จากสาย 105 มหาชัยเมืองใหม่-คลองสาน เปลี่ยนเป็น 4-18 สมุทรสาคร-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี พร้อมขยายเส้นทางการให้บริการไปอีก 9 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้รถประจำทางที่ให้บริการในจังหวัดสมุทรสาคร เลขสายรถเมล์จะถูกเปลี่ยนแปลงดังนี้

สายที่ผ่านพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร

สาย 4-18 หรือสาย 105 เดิม เปลี่ยนเป็น สาย 418 (105 เดิม) สมุทรสาคร-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี

สาย 120 (4-21) เปลี่ยนเป็น สาย 421 (120 เดิม) สมุทรสาคร-แยกบ้านแขก

สาย 7 (4-36) เปลี่ยนเป็นสาย 436 (7 เดิม) อู่เอกชัย-โรงเรียนศึกษานารีวิทยา-หัวลำโพง

สาย 68 สมุทรสาคร-บางลำพู เนื่องจากเส้นทางปฎิรูปใหม่ คือสาย 4-12 แสมดำ-บางลำพู ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสาย 412 (68 เดิม) ในอนาคต จึงต้องขึ้นอยู่กับว่ากรมการขนส่งทางบกจะให้เดินรถไปถึงจังหวัดสมุทรสาครหรือไม่

สายที่ผ่านพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบน

สาย 189 กระทุ่มแบน-สนามหลวง เส้นทางปฎิรูปใหม่ คือสาย 4-59 กระทุ่มแบน-สถานีชุมทางตลิ่งชัน ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสาย 459 (189 เดิม) ในอนาคต จึงต้องขึ้นอยู่กับว่ากรมการขนส่งทางบกจะให้เปลี่ยนเส้นทางเดินรถ จากเดิมแยกท่าพระ ถนนจรัญสนิทวงศ์ สิ้นสุดที่สนามหลวง มาเป็นถนนพุทธมณฑล สาย 1 สิ้นสุดที่สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชันเมื่อไหร่

สาย 80ก หมู่บ้าน วปอ.11-เขตบางกอกใหญ่ ซึ่งผู้รับสัมปทานใหม่ได้เปลี่ยนเป็นสาย 80A (4-44) หมู่บ้าน วปอ.11 – สวนหลวงพระราม 8 เปลี่ยนเป็น สาย 444 (80A เดิม) หมู่บ้าน วปอ.11 – สวนหลวงพระราม 8 และเปลี่ยนเส้นทางเดินรถไปตามถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ และซอยเพชรเกษม 69 แทนซอยเพชรเกษม 81 เดิมก่อนหน้านี้

สายที่ผ่านพื้นที่เทศบาลนครอ้อมน้อย (ถนนเพชรเกษม และถนนพุทธมณฑล สาย 4)

สาย 81 (4-45) พุทธมณฑล สาย 5-ท่าราชวรดิฐ เปลี่ยนเป็น สาย 445 (81 เดิม) พุทธมณฑล สาย 5-ท่าราชวรดิฐ

สาย 84 (4-46) วัดไร่ขิง-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี เปลี่ยนเป็น สาย 446 (84 เดิม) วัดไร่ขิง-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี

สาย 123 (4-50) อ้อมใหญ่-สนามหลวง เปลี่ยนเป็นสาย 450 (123 เดิม) อ้อมใหญ่-สนามหลวง

สาย 157 เดิมคือสายอ้อมใหญ่-หมอชิต 2 ซึ่งผู้รับสัมปทานใหม่ได้เปลี่ยนเป็นสาย 157 (4-54E) อ้อมใหญ่-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางด่วน) เปลี่ยนเป็นสาย 454E (157 เดิม) อ้อมใหญ่-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางด่วน)

สาย 539 อ้อมน้อย-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปลี่ยนเป็น สาย 462 (539 เดิม) อ้อมน้อย-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

สาย 547 (4-63) ศาลายา-ถนนตก เปลี่ยนเป็น สาย 463 (547 เดิม) ศาลายา-ถนนตก

สาย 163 พุทธมณฑลสาย4-พระราม9 ซึ่งผู้รับสัมปทานใหม่ได้เปลี่ยนเป็นสาย 163 (4-55) ศาลายา-สนามกีฬาแห่งชาติ เปลี่ยนเป็น สาย 455 (163 เดิม) ศาลายา-สนามกีฬาแห่งชาติ

ส่วนสาย 84ก บ้านเอื้ออาทรศาลายา-วงเวียนใหญ่ เนื่องจากทับซ้อนกับเส้นทางปฎิรูปสาย 4-63 หรือสาย 547 เดิม จึงต้องขึ้นอยู่กับว่ากรมการขนส่งทางบกจะให้เดินรถตามปกติหรือไม่

สาเหตุที่สายรถเมล์ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมีเลข 4 นำหน้า เนื่องจากการปฎิรูปรถเมล์กรุงเทพมหานคร ของกรมการขนส่งทางบก ใช้วิธีแบ่งการเดินรถออกเป็น 4 โซน ที่ศึกษาโดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

ได้แก่ โซนทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ขึ้นต้นด้วยเลข 1, โซนทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ขึ้นต้นด้วยเลข 2, โซนทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ขึ้นต้นด้วยเลข 3 และโซนทิศใต้ของกรุงเทพมหานคร ขึ้นต้นด้วยเลข 4

เดิมมีการทดลองเส้นทางปฎิรูปรถเมล์หลายรูปแบบ ทั้งการใช้สีตามโซน แบ่งเป็นสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีเหลือง และการนำมาใช้โดยการแบ่งขีดออกตรงกลางระหว่างเลขโซนกับเลขสายรถเมล์ เช่น 4-18 เป็นโซนกรุงเทพฯ ใต้ สายที่ 18

แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้รถเมล์ไม่ได้มองกันแบบนั้น เนื่องจากเลขสายรถเมล์ที่มีมาแต่ดั้งเดิม และกลุ่มบัสแฟนต่างๆ ส่วนใหญ่เสนอให้ใช้เลขสายเดิม และเพิ่มเติมเลขสายที่เปิดใหม่ เช่น สาย 4-18 ให้กลับไปใช้สาย 105 เหมือนเดิม

ปัจจุบันเลขสายก่อนที่จะมีเส้นทางปฎิรูป สายสุดท้ายคือสาย 210 สถานีรถไฟฟ้าบางหว้า-สะพานพระราม 4 หากสามารถต่อด้วยสาย 211, 212 … ก็สามารถทำได้ ส่วนสายที่ขึ้นต้นด้วยเลข 5 คือสาย 559 รังสิต-สนามบินสุวรรณภูมิ

ถึงกระนั้น กรมการขนส่งทางบก ยังคงดันทุรังผลักดันเลขสายรถเมล์ เป็นเส้นทางปฎิรูปแบบใหม่ ซึ่งการที่นายสุริยะ รมว.คมนาคม สั่งการให้ตัดขีดสายออก นอกจากไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังซ้ำเติมปัญหาแก่ผู้ใช้รถเมล์อีกด้วย

ทั้งที่ปัญหารถเมล์กรุงเทพฯ ที่แท้จริง นอกจากสภาพรถเมล์ที่ใช้กันมากว่า 30 ปี ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศแล้ว ยังมีเรื่องของพฤติกรรมของคนขับรถเมล์ ซึ่งแทนที่กรมการขนส่งทางบกจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดก็ตาม

ขณะที่การเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ เฉพาะจังหวัดสมุทรสาครยังสร้างความสับสนกับเลขสายรถเมล์หมวด 3 วิ่งระหว่างจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพมหานคร เช่น สาย 402 สมุทรสาคร-นครปฐม สาย 478 นครปฐม-บ้านแพ้ว สาย 481 สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม

การแก้ปัญหาเลขสายรถเมล์ โดยการเอาขีดออกที่ตัวเลข แต่ยังคงดันทุรังใช้เลขสายใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิรูปรถเมล์กรุงเทพฯ จึงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่เข้าตำรา “คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ” และไม่เข้าถึงปัญหาคนใช้รถเมล์อย่างแท้จริง

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *