รู้จัก “แคดเมียม” โลหะพิษอันตราย ในวันที่คนสมุทรสาครตื่นตระหนก

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ

คนสมุทรสาครเป็นอันตื่นตระหนกอีกครั้ง เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจสอบบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ซอยกองพนันพล ถนนเอกชัย จ.สมุทรสาคร หลัง กมธ.การอุตสาหรรม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่ามีบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ตาก ขายกากแร่สังกะสีและแคดเมียมที่ฝังกลบไว้ไปขาย ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นอันตรายทั้งคนและสัตว์

แม้หลายภาคส่วนออกมาตรการทั้งสั่งห้ามเข้าโรงงาน 90 วัน ตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตามหากากแร่แคดเมียมที่เหลืออย่างต่อเนื่อง แต่ความวิตกกังวลต่อผลกระทบสุขภาพยังไม่หมดไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร รายงานผลการตรวจปัสสาวะของพนักงานบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล 11 คน พบว่ามีสารแคดเมียมในร่ายกายเกินมาตรฐาน

ข้อมูลจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า แคดเมียม (Cadmium) มีสูตรทางเคมีคือ Cd เป็นโลหะสีเงินขาว แวววาวเป็นสีน้ำเงินจางๆ ไม่มีกลิ่น มีลักษณะเนื้ออ่อน สามารถบิดโค้งงอได้และถูกตัดได้ง่ายด้วยมีด มักอยู่ในรูปแท่ง แผ่น เส้น ลวด หรือเป็นผงเม็ดเล็กๆ สามารถทำปฏิกิริยาเคมีอย่างรุนแรงกว่าสารที่ให้ออกซิเจน

เนื่องจากแคดเมียมทนทานต่อการสึกกร่อนได้เป็นอย่างดี จึงนำไปฉาบผิวโลหะต่างๆ ในทางอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก เหล็กกล้า ทองแดง โดยทั่วไปนำไปใช้ในการชุบโลหะ นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับทองแดง นิกเกิล ทองคำ บิสมัท รวมถึงยังใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดที่เติมประจุใหม่ได้อีกด้วย

แคดเมียมจะพบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง ดังนั้นในการทำเหมืองสังกะสี จะได้ แคดเมียมเป็นผลตามมาด้วย ซึ่งแคดเมียมก็จะพบได้ในอาหาร ในน้ำ ในเหมือง และในส่วนน้ำทิ้ง หรือน้ำเสีย หรือในสีที่ผสมที่ใช้กับบ้านหรืออาคารได้อีกด้วย

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ

แคดเมียมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านทางระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร จะเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตจับกับโปรตีน albumin ถูกส่งไปที่ตับ ทำให้มีอาการอักเสบที่ตับ บางส่วนของแคดเมียมจะจับตัวกับโปรตีนอีกชนิดหนึ่ง (metallothionein) เข้าไปสะสมในตับและไต และถูกขับออกทางปัสสาวะ โดยขบวนการขับแคดเมียมออกจากไตเกิดขึ้นช้ามาก ใช้เวลาถึงประมาณ 20 ปี ถึงสามารถขับแคดเมียมออกได้ครึ่งหนึ่งของแคดเมียมที่มีการสะสมอยู่ในไตออกได้ ทำให้มีอาการกรวยไตอักเสบ

ผู้ที่ได้รับแคดเมียมเรื้อรัง มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปอด ไต ต่อมลูกหมาก และตับอ่อน มีรายงานผู้ป่วยที่กินข้าวที่เพาะปลูกจากแหล่งที่ดินมีการปนเปื้อนแคดเมียม จะมีอาการของโรคกระดูกพรุน และกระดูกมีการเจริญที่ผิดปกติ รวมถึงโรคอิไต-อิไต (Itai-Itai disease) อีกด้วย

อันตรายของแคดเมียมต่อร่างกาย ผลเฉพาะที่ ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ถ้าสัมผัสนานๆ อาจทำให้ความรู้สึกในการรับกลิ่นเสียไป และเกิดคราบ หรือวงสีเหลืองที่คอฟันทีละน้อย หลังจากที่แคดเมียมถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีครึ่งชีวิตที่ยาวนาน และคงอยู่ในตับและไต

ผลต่อร่างกาย พิษเฉียบพลันส่วนใหญ่ เกิดจากการหายใจเอาฝุ่น หรือฟูมแคดเมียม ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อแคดเมียมถูกทำให้ร้อน โดยทั่วไป ระยะเวลาหลังจากสัมผัสสารจะยาวนาน 2-3 ชั่วโมงก่อนแสดงอาการ อาการเริ่มแรกจะมีการระคายเคืองเล็กน้อยของทางเดินหายใจส่วนต้น อีก 2-3 ชั่วโมงต่อมา จะมีอาการไอ เจ็บปวดใน ทรวงอก เหงื่อออกและหนาวสั่น ซึ่งเป็นอาการที่ คล้ายกับการติดเชื้อทั่วไปของทางเดินหายใจส่วนต้น

ต่อมา 8-24 ชั่วโมง หลังจากสัมผัสสารอย่างฉับพลัน อาจเห็นอาการระคายเคืองอย่างแรงที่ปอด เจ็บปวดในทรวงอก หายใจลำบาก ไอ และอ่อนเพลีย อาการหายใจลำบากจะรุนแรงขึ้น เมื่อเกิดน้ำท่วมปอดตามมา อันตรายจากกรณีเช่นนี้ มีถึง 15% ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจมีฟองอากาศในเนื้อเยื่อ และเนื้อปอดปูดนูนออกมา ซึ่งต้องใช้เวลานานในการรักษาให้หาย มีรายงานว่า พบพิษเรื้อรังเกิดขึ้น หลังจากสัมผัสฟูมแคดเมียมออกไซด์เป็นเวลานาน

การรักษาเบื้องต้น หากร่างกายได้รับแคดเมียมจากการบริโภคอาหาร ให้ดื่มนมหรือบริโภคไข่ที่ตีแล้ว เพื่อลดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร หรืออาจทําให้ถ่ายท้องด้วย Fleet’s Phospho Soda (เจือจาง 1:4 ด้วยนํ้า) 30-60 มิลลิกรัม เพื่อลดการดูดซึมแคดเมียม

ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ส่วนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำการปฐมพยาบาล ดังนี้

  1. หากสูดดม ให้รีบออกจากพื้นที่ รับอากาศบริสุทธิ์นำส่งแพทย์ทันที
  2. หากสัมผัสกับผิวหนัง ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกหมดทันที ล้างด้วยน้ำไหลผ่าน รีบพบแพทย์
  3. หากเข้าตา ล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก รีบพบจักษุแพทย์
  4. หากกลืนกินหรือดื่ม ให้รีบดื่มน้ำตามทันทีอย่างน้อย 2 แก้ว แล้วรีบพบแพทย์
  5. งดเข้าพื้นที่เกิดเหตุ ติดตามสถานการณ์ สังเกตอาการตนเอง หากผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *