รถเมล์สาย 4-18 ตัดจอดรถแอร์ สารพัดปัญหา ขสมก. คนสมุทรสาครต้องอดทนรอ

ภาพรถโดยสารปรับอากาศ สีฟ้า สาย 4-18 สมุทรสาคร-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี เลขข้างรถ 5-70123 ถ่ายเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ก่อนที่จะถูกตัดจอด ไม่ได้นำมาให้บริการอีก

ผ่านไปแล้วกว่า 1 เดือน ที่รถประจำทางสาย 4-18 หรือสาย 105 เดิม สมุทรสาคร-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี ไม่มีรถประจำทางปรับอากาศให้บริการ หลังจากที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หยุดการใช้งานรถโดยสาร หรือ “ตัดจอด” รถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า (NGV) ที่มีอยู่ทั้งหมด 486 คัน ใน 25 เส้นทาง ไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

เดิมสาย 4-18 มีรถปรับอากาศสีฟ้าประจำการจำนวน 17 คัน ซึ่งบางส่วนรับโอนมาจากสาย 140 อู่แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ยุติการเดินรถไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่หลังจากตัดจอดทั้งหมด ได้เพิ่มรถโดยสารธรรมดาครีมแดง หรือรถร้อนแทน ทำให้ปัจจุบันสาย 4-18 มีรถประจำการทั้งหมด 21 คัน ล้วนแล้วแต่เป็นรถโดยสารธรรมดาครีมแดง หรือรถร้อนทั้งหมด

ประชาชนที่อยู่ในย่านถนนพระรามที่ 2 ถึงจังหวัดสมุทรสาครได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่มีรถปรับอากาศ ขณะที่ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ส่วนถนนพระรามที่ 2 มีการก่อสร้างทางยกระดับตลอดเส้นทาง ประสบปัญหาฝุ่นจากการก่อสร้างและมลภาวะทางรถยนต์ ที่มีผู้ใช้เส้นทางมากกว่า 2 แสนคันต่อวัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังกระทบกับคนที่ใช้บริการบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ล่วงหน้า รถปรับอากาศ ที่ต้องเสียเงินรายเดือน 1,020 บาท หรือรายสัปดาห์ 255 บาท แต่กลับได้บริการรถเมล์ธรรมดาครีมแดง หรือรถร้อนแทน ไม่สามารถเรียกร้องอะไรจาก ขสมก.ได้

สาเหตุเกิดจากความขัดแย้งระหว่าง ขสมก. กับเอกชนผู้รับจ้างเหมาซ่อม คือ กลุ่มผู้ร่วมทำงาน SCN-CHO (สแกนอินเตอร์-ช.ทวี) ก่อนหน้านี้ 29 ธันวาคม 2566 ขสมก. ตัดจอดเนื่องจากช่างของบริษัทเหมาซ่อมรถรุ่นดังกล่าวนัดหยุดงานประท้วง จากเหตุบริษัทฯ จ่ายค่าแรงล่าช้า หากนำรถออกวิ่งให้บริการ เมื่อรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุ ขสมก. ต้องรับผิดชอบเอง

แม้ว่ามีการเจรจาและกลับมาให้บริการตามปกติอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา แต่ก็ประสบปัญหารถเสียตัดจอดอีก กระทั่ง ขสมก. ตัดสินใจเรียกบริษัทเหมาซ่อม เพื่อพิจารณาบอกเลิกสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วน แต่ปรากฎว่ากลุ่มผู้ร่วมทำงาน SCN-CHO ชิงบอกเลิกสัญญาไปก่อน เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

ส่วน ขสมก. กำลังพิจารณาเรียกค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสจากคู่สัญญา เนื่องจากขาดโอกาสในการหารายได้ทั้งค่าโดยสาร และค่าโฆษณาบนรถเมล์ รวมทั้งการนำรถเส้นทางอื่นมาช่วยวิ่ง ประมาณ 500 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ได้ถอดป้ายทะเบียนออกไป เพื่อระงับการใช้งานรถชั่วคราว พร้อมกับส่งป้ายทะเบียนและเล่มทะเบียนคืนกรมการขนส่งทางบกไปก่อน

ประชาชนผู้ใช้บริการรถเมล์ต้องรอจนกว่า ขสมก. จะหาบริษัทเหมาซ่อมรายใหม่ได้ในอนาคต แล้วจึงค่อยซ่อมรถรุ่นดังกล่าว ก่อนนำรถไปตรวจสภาพที่กรมการขนส่งทางบก และขอป้ายทะเบียนและเล่มทะเบียนคืนมา คาดว่ายังคงยืดเยื้ออีกนาน และไม่รู้ว่าจะได้กลับมาวิ่งได้อีกหรือไม่ เนื่องจากรถโดยสารอายุการใช้งาน 7 ปี แต่รถเสียจำนวนมากเหลือให้บริการไม่กี่คัน

ขณะที่การจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนรถเมล์เดิมที่มีอายุมากกว่า 30 ปี จำนวน 3,390 คัน ปรากฎว่าคณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. ตีกลับ เพราะตัวเลข และรายละเอียดต่างๆ ที่เสนอโดยบริษัทที่ปรึกษาติดใจหลายประเด็น เช่น ข้อมูลยังไม่ตรงและใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง และควรทำรายละเอียดให้รอบคอบ

อย่างไรก็ตาม ขสมก. ยังมีรถประจำทาง สาย 68 สมุทรสาคร-บางลำพู ที่ใช้เส้นทางถนนเอกชัย แล้วไปออกถนนพระรามที่ 2 บริเวณมหาชัยเมืองใหม่ ให้บริการทดแทนผู้ประกอบการรถร่วม ขสมก. รายเดิม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบันมีรถโดยสารธรรมดาครีมแดง หรือรถร้อนจำนวน 4 คัน และรถโดยสารปรับอากาศยูโรทู สีส้ม จำนวน 5 คัน รวมแล้วมีทั้งหมด 9 คัน

ซึ่งสาย 68 สมุทรสาคร-บางลำพู มีแนวโน้มที่จะยุติการเดินรถในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากไม่ได้ถูกบรรจุเส้นทางไว้ในโครงการปฏิรูปรถเมล์ โดยกรมการขนส่งทางบกกำหนดเส้นทางปฎิรูปรถเมล์ สาย 4-12 แสมดำ-บางลำพู เท่านั้น ไม่ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ ขสมก. ยุติการเดินรถสาย 209 วงกลมกัลปพฤกษ์-พระราม 2 ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

ปัญหาวุ่นๆ ของรถเมล์ ขสมก. อาจทำให้คนสมุทรสาครไม่ได้รับความสะดวกในช่วงนี้ และไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนปัญหาต่างๆ จึงจะคลี่คลายและลงตัว นอกจากต้องเปลี่ยนไปใช้ขนส่งมวลชนตัวเลือกอื่น หรือการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนตัว เพิ่มปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ 2 แทน

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *