การรถไฟฯ เปิดบ้าน “โรงรถดีเซลรางสมุทรสาคร” แหล่งเรียนรู้ด้านซ่อมบำรุงฯ

การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดกิจกรรม TPM Open House พื้นที่โรงรถดีเซลรางสมุทรสาคร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรและล้อเลื่อน และความปลอดภัยในการทำงาน

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 นายชัชวาลย์ กนิษฐายน รองวิศวกรใหญ่ ด้านลากเลื่อน ฝ่ายการช่างกล การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม TPM Open House เปิดพื้นที่โรงรถดีเซลรางสมุทรสาคร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรและล้อเลื่อน และความปลอดภัยในการทำงาน โดยมีผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้างการรถไฟฯ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 150 คน ณ โรงรถดีเซลรางสมุทรสาคร สถานีรถไฟมหาชัย ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรม TPM Open House เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้พนักงานและลูกจ้างการรถไฟฯ ที่ได้รับการอบรมหลักสูตร “การบำรุงรักษาแบบทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม” หรือ “TPM” (Total Productive Maintenance) ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานการจัดบูธกิจกรรมต่าง ๆ และเปิดให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหรือบุคคลภายนอก ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโรงงาน/โรงซ่อมที่เป็นพื้นที่จริง เพื่อให้เห็นถึงการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงหลัง จากที่ได้นำระบบ TPM มาประยุกต์ใช้งาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มุ่งเน้นให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน เพื่อพัฒนาโครงข่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าและพี่น้องประชาชนได้อย่างสะดวก ปลอดภัย

ที่ผ่านมา ฝ่ายการช่างกล การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการนำระบบ TPM ซึ่งเป็นรูปแบบการบำรุงรักษาที่เป็นระเบียบ เข้ามาใช้ภายในโรงซ่อมรถจักรของการรถไฟฯ โดยการปรับปรุงและจัดระเบียบพื้นที่ภายในโรงงาน อาทิ การทาสี ตีเส้นพื้นที่ภายในโรงซ่อม การทำความสะอาด การจัดทำตารางบันทึกอุบัติการณ์ การสำรวจอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล การสำรวจเครื่องจักรและพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย การติดตั้งหรือปรับปรุงเครื่องป้องกันที่ตัวเครื่องจักรอุปกรณ์ การตรวจสอบเครื่องจักรและงานก่อนส่งมอบ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน และทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลเครื่องจักรและล้อเลื่อน ตลอดจนสามารถยืดอายุการใช้งานไม่ให้เสื่อมสภาพก่อนถึงช่วงเวลาที่กำหนด

และที่สำคัญการนำระบบ TPM มาใช้งาน ได้สนับสนุนภารกิจฝ่ายการช่างกลให้สามารถปฏิบัติงาน และสร้างมาตรฐานการซ่อมและการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนให้มีสภาพสมบูรณ์ เพียงพอต่อการใช้งาน การขับเคลื่อนและการกู้ภัยเหตุอันตรายที่เกิดจากการเดินรถ ทั้งในส่วนของงานซ่อมบำรุงรถจักร รถโดยสาร รถดีเซลราง และรถสินค้า สามารถซ่อมรถจักร และล้อเลื่อนต่าง ๆ มาให้บริการ ก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในการให้บริการแก่ประชาชน และสามารถนำส่งผู้โดยสารเดินทางสู่จุดหมายได้อย่างปลอดภัย ตรงเวลา

นายเอกรัช กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดกิจกรรม TPM Open House ที่โรงงาน/โรงซ่อมต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง ประกอบด้วย 1. โรงงานอุตรดิตถ์ 2. โรงรถจักรอุตรดิตถ์ 3. โรงรถจักรหาดใหญ่ 4. โรงรถจักรนครราชสีมา 5. โรงงานนครราชสีมา 6. โรงรถจักรทุ่งสง 7. โรงงานทุ่งสง 8. โรงรถจักรลำปาง 9. โรงรถพ่วงแก่งคอย 10. โรงรถพ่วงชุมพร 11. โรงรถพ่วงปากน้ำโพ และหลังจากนี้ การรถไฟฯ จะขยายการทำ TPM ในโรงงาน/โรงซ่อมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องให้ครบทุกแห่ง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน และทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลเครื่องจักรและล้อเลื่อน ตลอดจนสามารถยืดอายุการใช้งานไม่ให้เสื่อมสภาพก่อนถึงช่วงเวลาที่กำหนด และเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ให้กับประชาชนต่อไป

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *