เล็ง “สมุทรสาคร” สถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้า แผนแม่บทรถไฟฟ้าเฟส 2 ปี 2560-2579

รมว.คมนาคม เผยไจก้า รายงานร่างผลการศึกษาแผนแม่บทรถไฟฟ้าเฟส 2 ปี 2560-2579 ให้นโยบายเน้นสถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่างๆ วางเป้า “บางแค – นนทบุรี – สมุทรสาคร” พร้อมปัดฝุ่นโครงการที่ไม่ได้สร้าง รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง “หัวลำโพง – บางบอน – มหาชัย” คาดได้เห็นแผนแม่บทสมบูรณ์ ก.ย. 2561

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังคณะผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ (ไจก้า) เข้ารายงานร่างผลการศึกษาแผนแม่บทขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เฟสที่ 2 (M-MAP2) ว่า ไจก้าได้ศึกษาแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 ระยะเวลา 20 ปี ระหว่างปี 2560-2579 เนื่องจากแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 1 ซึ่งเป็นแผน 10 ปี รวม 10 สาย ระยะทาง 468 กิโลเมตร ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว หลายเส้นทางอยู่ระหว่างก่อสร้าง และบางโครงการจะประกวดราคาเสร็จในปี 2561 มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2563-2568

ทั้งนี้ โครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมยังไม่เพียงพอ เพราะไม่มีการเชื่อมต่อที่สมบูรณ์ การให้บริการรถไฟฟ้าเริ่มแออัด โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส และ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ นอกจากนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน พบว่า เส้นทางรถไฟฟ้าในปัจจุบันไม่ครอบคลุมพื้นที่เขตชานเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก, ผู้โดยสารรถไฟฟ้าแออัด รวมถึงราคาค่อนข้างสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินรับภาระไหว และไม่มีระบบเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีรถไฟฟ้าไปยังที่หมาย

สำหรับนโยบายที่ได้มอบให้ฝ่ายญี่ปุ่นไปศึกษาแนวทางพัฒนารถไฟฟ้าระยะที่สองนั้น เน้นไปที่การเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนรูปแบบต่างๆ ให้เกิดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ทั้งการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าไปเชื่อมต่อโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต และ บางซื่อ – ตลิ่งชัน ตลอดจนพัฒนาให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าความเร็วสูง และโครงการรถไฟรางคู่เส้นทางต่างๆ เพื่อกระจายผู้โดยสารไม่ให้เข้ามากระจุกแค่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน

อย่างไรก็ตาม การพัฒนารถไฟฟ้าในอนาคตนั้นได้เสนอแนะให้เน้นไปที่การออกแบบสถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่างๆ (Interchange Station) ให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในอนาคตโครงข่ายรถไฟฟ้าจะเป็นการวิ่งออกไปชานเมืองระยะยาว 40-60 กิโลเมตร จำเป็นต้องมีพื้นที่สถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ทุก 20 กิโลเมตร เพื่อลดความแออัดของผู้โดยสาร และรองรับการมีผู้ประกอบการรถไฟฟ้าสองสาย

อาทิ สถานีเตาปูน ที่มีการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เตาปูน – หัวลำโพง) ของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด หรือ บีอีเอ็ม และรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน – บางใหญ่) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เบื้องต้นได้มองจุดที่เหมาะสมในการพัฒนาสถานีเชื่อมต่อไว้คร่าวๆ อาทิ เขตบางแค กรุงเทพฯ, จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรสาคร

นอกจากนี้ จะศึกษาจากโครงข่ายเดิมให้กรุงเทพฯ เป็นจุดศูนย์กลางที่สถานีสยาม ต่อขยายกระจายเป็นใยแมงมุมสู่พื้นที่ปริมณฑลที่ไม่มีรถไฟฟ้าเข้าถึง อาทิ จ.ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม และ นนทบุรี รวมไปถึงเชื่อมต่อรถไฟชานเมือง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน โดยจะพิจารณาจากโครงข่ายระยะที่ 1 ต่อขยายเส้นทางด้วย

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายเดิม ที่การศึกษาเห็นว่าเหมาะสมพัฒนาต่อขยายเส้นทางออกไป ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค – พุทธมณฑลสาย 4 ศึกษาไปถึง จ.นครปฐม ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วง วัชรพล – เอกมัย รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วง แคราย – บึงกุ่ม ได้สั่งการให้ทีมงานศึกษาไปดูรูปแบบการพัฒนาว่าแนวเส้นทางดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสารหรือไม่ รวมทั้ง รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง – บางบอน – มหาชัย เป็นต้น

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วง เตาปูน – ราษฎร์บูรณะ มีศักยภาพที่จะต่อขยายเส้นทางไปอีก 20 กิโลเมตร คือเส้นทางช่วง ราษฎร์บูรณะ – สมุทรปราการ เพื่อรับประชาชนในเขตเมืองมากขึ้น และช่วยลดภาระความแออัดของรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง – สมุทรปราการ) นอกจากนี้ ยังมีแผนยกระดับรถไฟระหว่างเมืองเดิม เส้นทาง กรุงเทพ-สมุทรปราการ ให้มาเป็นรถไฟชานเมือง ที่มีทางวิ่งยกระดับ เนื่องจากปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวมีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก จึงมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นรถไฟชานเมืองได้

สำหรับความคืบหน้าในการจัดทำแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า จะประชุมคณะทำงานศึกษาแผนแม่บทอีกครั้งที่ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 คาดว่าจะได้ร่างแผนแม่บทดังกล่าวภายในเดือนเมษายน 2561 จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนและนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2561 เพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณก่อสร้างต่อไปขณะนี้ยังไม่มีสรุปเรื่องจำนวนสายและระยะทางรวม

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ / ภาพประกอบจากเว็บไซต์ srtet.co.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *