รพ.มหาชัย จัดกิจกรรมสุขภาพ เสวนา ”เรื่องปวดสมอง” กับ 2 โรคสมองยอดฮิต

ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลมหาชัย จัดเสวนา ”เรื่องปวดสมอง” กับ 2 โรคสมองยอดฮิต! ในหัวข้อ “ปวดหัวแค่นี้ ซีเรียสแค่ไหน” ในประเด็นอาการปวดศีรษะจากสาเหตุต่าง ๆ และ “ครบเครื่องเรื่องสมองเสื่อม” จาก 2 อายุรแพทย์โรคระบบประสาทและสมอง

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2561 ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลมหาชัย จัดเสวนา ”เรื่องปวดสมอง” กับ 2 โรคสมองยอดฮิต! ในหัวข้อ “ปวดหัวแค่นี้ ซีเรียสแค่ไหน” โดย พญ.เบญญาดา ชินธัญโชติ อายุรแพทย์โรคระบบประสาทและสมอง และหัวข้อ “ครบเครื่องเรื่องสมองเสื่อม” โดย พญ.ธารินี คัทรี อายุรแพทย์โรคระบบประสาทและสมอง ณ บริเวณชั้น 2 รพ.มหาชัย โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมตรวจสุขภาพเบื้องต้นฟรี กิจกรรมฝึกสมอง กายภาพป้องกันโรคสมองเสื่อมโดยนักกายภาพ พร้อมแนะนำโปรแกรมตรวจสุขภาพราคาพิเศษภายในงานอีกด้วย

พญ.เบญญาดา ได้กล่าวถึงอาการปวดศีรษะ ซึ่งแบ่งออกเป็นอาการปวดแบบมีสาเหตุ คือการนำผู้ป่วยไปสแกนสมองแล้วพบความผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้องอก เส้นเลือดตีบ-แตก เกิดการติดเชื้อของสมอง รวมถึงการติดเชื้อบริเวณใบหน้าทั้งหมด เช่น ไซนัสอักเสบ ต้อหิน ฯลฯ และอาการปวดแบบไม่มีสาเหตุ คือ ปวดศีรษะจากความเครียด หรือจากโรคไมเกรน

โดยการสังเกตอาการปวดศีรษะ โดยหากปวดศีรษะแบบรุนแรงมากเป็นครั้งแรกในชีวิต ปวดแบบเฉียบพลันทันที ปวดรุนแรงต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่า 1 สัปดาห์ หรือตั้งแต่ 6 เดือน – 1 ปี ในผู้สูงอายุ อาการปวดแบบไม่ตอบสนองกับยา อันตรายที่สุดคืออาการปวดแล้วมีความผิดปกติของระบบประสาท เช่น อ่อนแรง ชาแขนขา ปากเบี้ยวพูดไม่ชัด ซึม และชัก ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาโดยเร็ว
สำหรับโรคไมเกรน อาจเกิดปวดศีรษะข้างเดียว ปวดทั้งสองข้าง หรือปวดบริเวณขมับ ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดในสมองหดตัวและขยายตัว โดยมีปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ เครียด อดนอน อากาศร้อน แสงจ้าหรือกระพริบ อาหาร ฮอร์โมน หรืออากาศเปลี่ยนแปลง หากเกิดอาการปวดศีรษะจากไมเกรน พยายามทานยาแก้ปวด เพื่อตัดวงจรความปวดให้เร็วที่สุด ประคบเย็น หลีกเลี่ยงอากาศร้อน แสงจ้า เสียงดัง ให้นอนพักผ่อนในห้องที่เงียบและอากาศถ่ายเทสะดวก

ทางด้าน พญ.ธารินี ได้อธิบายถึงเรื่องของโรคสมองเสื่อม โดยมีอาการผิดปกติของความจำ ซึ่งแตกต่างจากภาวะหลงลืม ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ สาเหตุแบ่งออกเป็นสามารถรักษาให้หายได้ เช่น เกิดเนื้องอก เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ขาดวิตามินบางชนิด หรือโรคเส้นเลือดสมอง และสาเหตุที่รักษาได้ไม่หายขาด เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมองซึ่งสัมพันธ์กับอายุ โดยปกติผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เซลล์สมองจะเริ่มเสื่อมประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ในทุก ๆ ปี แต่ผู้ป่วยจะเกิดความเสื่อมของเซลล์สมองมากกว่าปกติ ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์

โดยอาการของโรคสมองเสื่อมจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ตั้งแต่เสียความจำระยะสั้น ไปจนถึงความจำระยะยาว ซึ่งคนไข้จะไม่รู้ตัวว่าผิดปกตินอกจากการสังเกตของคนรอบข้าง เบื้องต้นความจำที่เกี่ยวข้องกับทักษะ เช่น ทำกับข้าว ขับรถยนต์ ฯลฯ จะทำได้เหมือนเดิม จนกระทั่งระยะท้าย ๆ จะเสียกิจวัตรประจำวัน เช่นการรับประทานอาหาร การนอน และมีอาการทางจิต เช่นหูแว่ว ภาพหลอน

พญ.ธารินี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงอายุที่ต้องเริ่มระวังโรคสมองเสื่อม คือตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยช่วงวัย 60-64 ปี พบผู้ป่วย 2 ใน 100 ราย, อายุ 70-74 ปี พบผู้ป่วย 1 ใน 8 ราย และอายุ 80 ปีขึ้นไป พบผู้ป่วย 1 ใน 3 ของประชากร ซึ่งการพูดคุย อยู่ใกล้ชิด สังเกตอาการจากคนรอบข้างเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รู้ตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ นอกจากนี้โรคสมองเสื่อมอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ของครอบครัว พบเพียงแค่ 0.01 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยจากสาเหตุดังกล่าว ในการรักษาโรคสมองเสื่อม แบ่งออกเป็นใช้ยา และไม่ใช้ยา เช่น พฤติกรรมบำบัด โดยแพทย์จะพิจารณาจากช่วงอายุ

สำหรับการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ คือ ดูแลร่างกาย เช่น ทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยปรับเปลี่ยนไปตามโรคประจำตัวอื่น ๆ ออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ฝึกออกกำลังสมองทั้ง 2 ซีก ได้แก่ความคิดและทักษะ และดูแลจิตใจ จากคนในครอบครัว โดยใช้ความรัก ความเข้าใจ ให้เวลา และสังเกต เพื่อที่จะได้ทราบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ และผู้สูงอายุไม่เกิดความเครียด รวมทั้งการทำสมาธิ กำหนดลมหายใจวันละ 15 นาที เพื่อช่วยในเรื่องความจำ

ติดตามข่าวสาร โปรโมชั่นพิเศษ และกิจกรรมเพื่อคนรักสุขภาพ ของศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลมหาชัย ได้ที่เว็บไซต์ www.mahachaihospital.com และ Facebook Fanpage “Mahachai Hospital”

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *