ส.ปชส.สมุทรสาคร นำเครือข่ายสื่อศึกษาโครงการในพระราชดำริ-เศรษฐกิจพอเพียง

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร (ส.ปชส.สมุทรสาคร) จัดกิจกรรม “ตามรอยพระบาท ศาสตร์พระราชา การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในโครงการสัมมนาเครือข่ายประชาสัมพันธ์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ระหว่างวันที่ 6-7 ก.ค. 2560 ณ จ.ราชบุรี

เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องของโครงการพระราชดำริ และองค์ความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทยทุกคน

โดยนางยุวพร นวชาติกุล ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร นำคณะสื่อมวลชนและเครือข่ายประชาสัมพันธ์ใน จ.สมุทรสาคร กว่า 40 คน ร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งเริ่มต้นได้เดินทางเข้าเยี่ยมชม “ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ตั้งอยู่ที่ ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีนายบุญช่วย ช่วยระดม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาฯ เป็นวิทยากรแนะนำความเป็นมาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้

ซึ่งในโครงการบนเนื้อที่ 869 ไร่ 3 งาน 22 ตารางวา เมื่อครั้งอดีตพื้นที่บริเวณเขาเขียว ต.เขาชะงุ้ม เคยเป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์ แต่ต่อมาถูกบุกรุกทำลายจนกลายเป็นพื้นที่รกร้าง มีการใช้ที่ดินอย่างผิดวิธี และการขุดหน้าดินไปขาย จนเกิดการชะล้างของหน้าดิน ทำให้แห้งแล้งเสื่อมโทรม เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายและปนกรวด มีชั้นดานแข็งอยู่ข้างล่างลึกประมาณ 40 ซม. ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้เลย

กระทั่งเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2529 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเข้ามาในพื้นที่เขาเขียว เพื่อทอดพระเนตรพื้นที่ดินเสื่อมโทรม และทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาหาวิธีฟื้นฟูดิน พร้อมตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาขนาดย่อม โดยมีการทดสอบ วางแผน และจัดระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2535 ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาติดตามผลการดำเนินโครงการฯ พร้อมมีพระราชดำริให้ใช้หญ้าแฝก ช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันดินที่ถูกกัดเซาะเป็นร่องลึก และปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวแทนคันดิน

และเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 ทรงมีพระราชดำริให้ปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวครึ่งวงกลม รอบไม้ผลและไม้ยืนต้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้น ทรงให้ดูแลรักษาป่า อย่ารังแกป่า ใช้เวลา 30-40 ปี ป่าจะฟื้นคืนสภาพจากป่าเต็งรังเป็นป่าเบญจพรรณ

ปัจจุบันโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง สามารถพลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้งให้กลับมาสมบูรณ์ สามารถทำหน้าที่เป็นต้นแบบ และศูนย์การเรียนรู้ให้กับเกษตรกร นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี

โดยคณะผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เข้าเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ และแปลงสาธิตต่างๆ โดยรอบโครงการ พร้อมทั้งเดินขึ้นไปบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อเยี่ยมชมพลับพลาที่ประทับบนเขาเขียว ซึ่งได้เตรียมการไว้เพื่อรับเสด็จเมื่อปี 2555 รวมถึงได้ชื่นชมต้นประดู่ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกไว้เมื่อปี 2539 และอ่างเก็บน้ำที่มีภูมิทัศน์สวยงาม

จากนั้น คณะผู้เข้าร่วมสัมมนา ก็ได้เดินทางต่อไปยัง “ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ กองกำลังสุรสีห์” ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านเข้มแข็งคู่ขนานตามแนวชายแดน ตามนโยบายสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านของกองทัพบก

สำหรับศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างแหล่งศึกษาเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่ชาวบ้านตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ในการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เสริมภายในหมู่บ้าน

ซึ่งหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือได้นำเกษตรทฤษฎีใหม่มาปฏิบัติจริง โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสระน้ำ ใช้ในการเก็บกักน้ำและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมฝายต้นแบบ อีกส่วนหนึ่งเป็นสวนผลไม้ เรือนเพาะเห็ด โรงปุ๋ยหมัก เล้าไก่-เป็ด และคอกหมู และส่วนที่สามคือแปลงนาสาธิต

ซึ่งคณะผู้เข้าร่วมสัมมนา ก็ได้ร่วมกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลา และดำนาปลูกข้าวในแปลงนาสาธิตด้วย โดยมี พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 เป็นประธาน ร่วมด้วย พ.อ.ฐกัด หลอดศิริ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ, นายฑรัท เหลืองสอาด นายอำเภอสวนผึ้ง ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น คณะครูและนักเรียน ร.ร.รุจิรพัฒน์ ที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ

เป็นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน เป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของการพัฒนา

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย จึงเป็นเรื่องอย่างสำคัญ ที่ชาวไทยทุกคนควรศึกษาองค์ความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้อง และน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสานต่อพระราชปณิธาน และเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศสืบไป

– กิตติกร นาคทอง –

One Reply to “ส.ปชส.สมุทรสาคร นำเครือข่ายสื่อศึกษาโครงการในพระราชดำริ-เศรษฐกิจพอเพียง”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *