ศึกษา “โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม” แก้ปัญหาขยะล้นเมืองสมุทรสาคร

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2560 บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด (SKCD) ได้จัดโครงการศึกษาดูงานศูนย์บริหารจัดการขยะในการผลิตกระแสไฟฟ้า ณ โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ถ.พุทธมณฑลสาย 3 เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางบริหารจัดการขยะ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงการดังกล่าวของจังหวัดสมุทรสาคร

มี ประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน เข้าศึกษาดูงาน ร่วมกับทางคณะสมุทรสาครพัฒนาเมือง

นำโดย สมศักดิ์ ดารารัตนโรจน์ ประธานกรรมการฯ, สุเทพ ปัญญาสาคร รองประธานกรรมการฯ, ปรีชา ศิริแสงอารำพี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ฯ, ลือศักดิ์ ลือสุขประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ และ ธนชัย เรืองชัยสิทธิ์ ผู้จัดการทั่วไป

โดยมี ดร.ชีวานุช ทับทอง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และคณะ คอยให้การต้อนรับ และพาเยี่ยมชมภายในพื้นที่โรงงาน

สำหรับ โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าแห่งแรกของ กทม. มีเนื้อที่ 30 ไร่ ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม

โดยโรงงานสร้างอยู่บนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นหลุมฝังกลบขยะขนาดใหญ่ของ กทม.

เปิดกิจการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 มีบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินงานบริหาร มูลค่าโครงการ 960 ล้านบาท

โดยได้รับสัมปทานจาก กทม. เป็นระยะเวลา 20 ปี ในรูปแบบ Build Operate Transfer (ก่อสร้าง ดำเนินงาน โอนสิทธิ) โดยจะโอนสิทธิให้ กทม. บริหารจัดการหลังระยะเวลาสัมปทานหมดลง

สำหรับเตาเผาขยะ ใช้เทคโนโลยีของบริษัท Hitachi Zosen Von Roll Stoker จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเภทเตาเผาแบบตะกรับ (Stoker Type) ใช้อุณหภูมิความร้อน 850 – 1,000 องศาเซลเซียสในการเผาไหม้

สามารถเผาขยะได้ 300-500 ตัน/วัน โดยมีเตาเผา 2 ชุด เผาขยะได้พร้อมกันชุดละ 250 ตัน/วัน ซึ่งความร้อนจากขบวนการเผาไหม้จะถูกส่งไปยังหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) เพื่อหมุนกังหันไอน้ำเป็นต้นกำลังของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Turbine)

ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 5 – 9.8 เมกะวัตต์ ทุกขั้นตอนในการเผาไหม้แบบอัตโนมัติควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์จากห้องควบคุม

ในส่วนของกระบวนการกำจัดขยะ เมื่อรถเก็บมูลฝอยมาถึงโรงงาน จะผ่านการชั่งน้ำหนัก มูลฝอยจากรถจะถูกเทลงไปเก็บในบ่อพักมูลฝอยระบบปิดขนาด 10,000 ตัน พร้อมใช้เครนตักขยะเพื่อลดการส่งกลิ่นและความชื้น

จากนั้นเครนจะตักมูลฝอยป้อนเข้าสู่เตาเผาด้วยอุณหภูมิ 850-1,100 องศาเซลเซียส โดยมีแผ่นตะกรับที่พลิกตัวได้ ทำให้มูลฝอยในเตามีการพลิกตัวตลอดเวลา

เมื่อรวมกับก๊าซที่ถูกสูบจากบ่อมูลฝอย จะช่วยให้มูลฝอยถูกเผาไหม้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เวลา 1-2 ชม. จนเหลือแต่เถ้าหนัก ซึ่งสามารถนำไปฝังกลบ หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น การทำอิฐ หรือเทถนน

พลังงานความร้อนที่อยู่ในตัวมูลฝอย เมื่อผ่านการเผาไหม้จะถูกไอเสียที่มีความร้อนสูงนำพาไป โดยมีระบบหมุนเวียนไอน้ำของหม้อไอน้ำดูดรับความร้อน กลายเป็นไอน้ำที่มีความร้อนสูงและความดันสูงผลักดันเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า

ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งใช้ในโรงกำจัดขยะ ส่วนที่เหลือขายให้กับการไฟฟ้านครหลวง

นอกจากนี้ ทางบริษัทได้มีมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง อาทิ คุณภาพอากาศในปล่องระบายมวลสาร คุณภาพอากาศในบรรยากาศ ระดับเสียง คุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำใต้ดิน ฯลฯ

พร้อมจอแสดงผลขนาดใหญ่หน้าโรงงาน เพื่อรายงานการปล่อยก๊าซจากทางปลายปล่อง เทียบค่ามาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย และส่งออนไลน์ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ส่วนน้ำเสียจะถูกบำบัดด้านหลังโรงงาน และนำไปรดน้ำต้นไม้บริเวณพื้นที่สีเขียวประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของโรงงานทั้งหมด

รวมถึงทางบริษัทฯ คำนึงถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยสร้างศูนย์การเรียนรู้ทางด้านขยะ เพื่อให้เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้กับเยาวชนของ กทม. และตั้งทีม CSR เพื่อประสานงานกับผู้นำในชุมชน 50 ชุมชน ในรัศมี 5 กม. โดยรอบโรงงาน

ใน รายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 ของกรมควบคุมมลพิษ จ.สมุทรสาคร มีขยะที่ต้องกำจัดประมาณ 937.78 ตัน/วัน หรือ 343,227.48 ตัน/ปี

และมีปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างในสถานที่กําจัดขยะมูลฝอยที่ดําเนินการไม่ถูกต้อง จำนวน 279,825 ตัน เป็นลำดับที่ 9 ของประเทศ

ปัจจุบัน จังหวัดสมุทรสาครกำลังพิจารณาการรวมกลุ่มพื้นที่ (Cluster) ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย

โดยมี 5 อปท. เสนอเป็นเจ้าภาพหลัก และมี อปท. เข้าร่วมทำ MOU จำนวน 37 แห่ง (ยกเว้น เทศบาลนครสมุทรสาคร และ อบต.ชัยมงคล) ประกอบด้วย

1. อบต.บ้านแพ้ว มีจำนวน อปท. เข้าร่วม 12 แห่ง ปริมาณขยะรวม 45 ตัน/วัน

2. อบต.กาหลง มีจำนวน อปท. เข้าร่วม 6 แห่ง ปริมาณขยะรวม 257 ตัน/วัน

3. เทศบาลตำบลท่าจีน มีจำนวน อปท. เข้าร่วม 9 แห่ง ปริมาณขยะรวม 235 ตัน/วัน

4. อบต.คลองมะเดื่อ มีจำนวน อปท. เข้าร่วม 4 แห่ง ปริมาณขยะรวม 73 ตัน/วัน

5. เทศบาลตำบลนาดี มีจำนวน อปท. เข้าร่วม 4 แห่ง ปริมาณขยะรวม 97 ตัน/วัน

ซึ่งการศึกษาดูงาน โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีเตาเผาขยะมูลฝอย (Incineration) เป็นหนึ่งในแนวทางที่จังหวัดสมุทรสาครจะได้นำไปพิจารณา เพื่อการบริหารจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงความเหมาะสม และประโยชน์ที่จังหวัดสมุทรสาครจะได้รับ

– กิตติกร นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *