รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คาดสมุทรสาครมี ส.ส. 3 คนเหมือนเดิม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้มีการประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 มีจำนวนมาตราทั้งหมด 279 มาตรา

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือระบบเลือกตั้งที่ใช้ระบบ “แบ่งสันปันส่วนผสม” ประกอบด้วย ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน และ ส.ส. จากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง 150 คน

ซึ่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน มาจากคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หารด้วย 500 แล้วนำผลลัพธ์ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองที่ได้รับ

จากนั้น ให้นำตัวเลขดังกล่าวลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง จึงจะได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ (มาตรา 91)

เหตุที่เป็นเช่นนี้ คนที่ร่างรัฐธรรมนูญอธิบายว่า พยายามทำให้คะแนนเลือกตั้งที่ประชาชนลงให้ทุกคะแนนมีความหมาย ไม่ว่าจะลงคะแนนให้บุคคลใด คะแนนนั้นส่วนใหญ่ไม่ควรสูญเปล่า

ส่วนการเลือกตั้ง ส.ว. 200 คน ในรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ไม่มีเลือกตั้งระดับจังหวัด แต่ให้บุคคลในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม สมัครเป็น ส.ว. และลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มด้านอื่นที่ไม่ใช่ด้านของตนเอง

การกำหนดจำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัด ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศในปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส. 350 คน

ทีนี้ หลังจากสำนักทะเบียนกลาง ออกประกาศเรื่องจำนวนราษฎรทั่วประเทศ ณ สิ้นปี 2559 กกต. ก็เลยส่งหนังสือถึง ผอ.กกต.จังหวัด และ กกต.กทม. สั่งเตรียมความพร้อมแบ่งเขตเลือกตั้งกันแล้ว

โดยให้เตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 รูปแบบ ตามความเหมาะสมโดยต้องแบ่งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรแต่ละเขตใกล้เคียงกัน ส่งร่างกลับมาที่ กกต. ส่วนกลาง

กกต. ยังทำตารางคำนวณจำนวน ส.ส. เสร็จสรรพเรียบร้อย ปรากฎว่า กทม. ได้ ส.ส. มากที่สุดคือ 30 ที่นั่ง รองลงมาคือ นครราชสีมา 14 ที่นั่ง ขอนแก่น และอุบลราชธานีได้ 10 ที่นั่ง เชียงใหม่ได้ 9 ที่นั่ง

เมื่อคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบแบ่งเขตตามภาค พบว่าภาคเหนือมี 62 ที่นั่ง ภาคกลาง 121 ที่นั่ง ภาคอีสาน 118 ที่นั่ง และภาคใต้ 49 ที่นั่ง

แต่สำหรับ จ.สมุทรสาคร จำนวนราษฎร 556,719 คน หารด้วยค่าเฉลี่ย 188,375.8 คน จะได้ ส.ส. 2 ที่นั่ง แต่จำนวนเศษที่เหลือมีประมาณ 9.55 หมื่นคน จึงได้ ส.ส. เพิ่มอีก 1 คน รวมเป็น 3 คน

ซึ่งก็คงไม่ต่างไปจากการเลือกตั้งในยุคก่อน ที่มี ส.ส. 3 คน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าระบบการเลือกตั้งเป็นอย่างไร เช่น วันแมนวันโหวต เขตเดียวเบอร์เดียว หรือเขตเดียวเรียงเบอร์ก็มี

อย่างไรก็ตาม นายภูมิพิทักษ์ กองแก้ว รองเลขาธิการ กกต. ก็ออกมาชี้แจงว่า ที่คำนวณออกมา เป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเท่านั้น จำนวน ส.ส. ที่ออกมา ไม่ถือว่าเป็นข้อยุติเพราะยังไม่ได้เลือกตั้งปีนี้

ต้องรอการประกาศจำนวนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ขึ้นอยู่กับว่าจังหวัดไหนประชากรเพิ่มขึ้นหรือลดลง จำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัดอาจจะเปลี่ยนแปลงได้

ส่วนวันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่นั้น กกต. ยังตอบไม่ได้ ต้องรอให้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งก่อน

ทีนี้ หลายคนคงสงสัยว่า หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่

เมื่อคำนวณระยะเวลาตามโรดแมปแล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะต้องจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน ประมาณเดือน ธ.ค. นี้

จากนั้นเสนอให้ สนช. พิจารณาให้เสร็จภายใน 2 เดือน (หากแก้ไขเพิ่มเติม จะเพิ่มอีก 1 เดือน) ประมาณต้นเดือน ก.พ. 2561 หรือหากมีกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม อย่างช้าที่สุด เดือน มี.ค. 2561

จากนั้น นำทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน 90 วัน (3 เดือน) หากภายในกำหนด คาดว่าประมาณเดือน มิ.ย. ถึง ก.ค. 2561 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

จากนั้นจึงจะเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้ง ใช้เวลาอีก 150 วัน (5 เดือน) คาดว่าเดือน พ.ย. หรือ ธ.ค. 2561 จะมีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่ในเดือน ธ.ค. 2561 หรืออย่างช้าที่สุด ม.ค. 2562

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ระบุว่า รัฐบาลไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าวันเลือกตั้งจะเป็นเมื่อใด เพราะยังไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้

“ทราบเพียงวันเริ่มต้นนับหนึ่งของเหตุการณ์แรก คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ต่อจากนั้น เหตุการณ์อื่นๆ ก็จะขับเคลื่อนเลื่อนไหลไปตามลำดับ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ตัวแปรสำคัญที่โรดแมปอาจจะเลื่อน น่าจะมีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ กระบวนการในการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ติดขัดอยู่ที่ สนช. หรือ กรณีที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ทำให้ล่าช้า

หรือถ้ามองกันที่สถานการณ์บ้านเมือง หากมีเหตุการณ์เลวร้าย แล้วรัฐบาลรวมทั้ง คสช. ต้องประคับประคองสถานการณ์ อาจทำให้ถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ซึ่งก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ในขณะนี้ยังมี “วาระแห่งชาติ” ที่กำลังจะมาถึง รัฐบาล รวมทั้งประชาชนทุกภาคส่วน จึงร่วมมือร่วมใจสร้างบรรยากาศเอื้ออำนวย ให้วาระแห่งชาติดำเนินต่อไปอย่างลุล่วงและสมพระเกียรติ

– กิตตินันท์ นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *