ดับฝันคนมหาชัย เบรก “รถไฟฟ้าสายสีแดง” การรถไฟฯ อ้างประชาชนคัดค้าน

“เดิมโครงการนี้อยู่ในแผนแม่บทใหญ่ของกระทรวงคมนาคม การรถไฟฯ ตั้งใจจะพัฒนาส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย ให้เป็นโครงการขนส่งผู้โดยสารจากฝั่งธนบุรีเข้ามาในเมือง แต่ประชาชนเห็นว่าไม่ใช่โครงการที่ตอบสนองเต็มที่ ไม่สนับสนุนให้เร่งก่อสร้าง จึงต้องยกเลิกออกไปก่อน โดยกระทรวงคมนาคม อาจจะนำไปบรรจุไว้ในโครงการท้ายๆ ตามแผนแม่บทระยะ 20 ปี”

นี่เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ยกเลิกศึกษาโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย ระยะทาง 38 กิโลเมตร

โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากผลการทำประชาพิจารณ์ประชาชนในพื้นที่ พบว่า “ประชาชนไม่ตอบสนองและคัดค้านการก่อสร้าง” โดยเฉพาะ “ประเด็นเรื่องเวนคืนที่ดิน” แนวเส้นทางต้องไปก่อสร้างบริเวณชุมชน ทำให้โครงการดังกล่าวจัดอยู่ในโครงการที่ไม่เร่งด่วนในการลงทุน

เดิมโครงการดังกล่าว เป็นการก่อสร้างจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปตามถนนมหาพฤธาราม ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเรือสี่พระยา ไปตามถนนเจริญรัถ ก่อนไปตามแนวเส้นทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย สิ้นสุดที่จังหวัดสมุทรสาคร ระยะทาง 38 กิโลเมตร

มีสถานีทั้งหมด 18 สถานี ได้แก่ สถานีหัวลำโพง สถานีคลองสาน สถานีวงเวียนใหญ่ สถานีตลาดพลู สถานีตากสิน สถานีจอมทอง สถานีวัดไทร สถานีวัดสิงห์ สถานีบางบอน สถานีรางสะแก สถานีรางโพธิ์ สถานีสามแยก สถานีพรมแดน สถานีทุ่งสีทอง สถานีบางน้ำจืด สถานีคอกควาย สถานีบ้านขอม และ สถานีมหาชัย

โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เดิมเป็นโครงการที่การรถไฟฯ ตั้งใจจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้แก่ บางซื่อ-ตลิ่งชัน, บางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-มักกะสัน และระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่จะพัฒนาเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

อันที่จริงโครงการนี้ การรถไฟฯ มีแผนมานานกว่า 10 ปีแล้ว พร้อมกับจะพัฒนาทางรถไฟสายแม่กลอง ระหว่างมหาชัย-แม่กลอง-ปากท่อ ไปเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายใต้ ระยะทาง 56 กิโลเมตร เพื่อรองรับรถไฟชานเมือง และรถไฟทางไกล อำนวยความสะดวกในการเดินทาง

แต่ที่ผ่านมา ถูกประชาชนในพื้นที่แนวเส้นทางคัดค้านอย่างต่อเนื่องจนโครงการดำเนินต่อไปไม่ได้ อาทิ

1. ประเด็นการก่อสร้างศูนย์คมนาคมขนส่งตากสิน ที่จะนำเอาสถานีขนส่งสายใต้มาร่วมด้วย ถูกประชาชนและเจ้าของที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก ตลาดพลู เขตธนบุรีคัดค้านเรื่องการเวนคืนที่ดิน

2. เส้นทางที่ต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปยังฝั่งถนนมหาพฤฒาราม ถูกประชาชนในย่านคลองสานคัดค้าน เพราะถนนเจริญรัถมีลักษณะเขตทางแคบ กระทบกับย่านร้านค้าวัสดุเครื่องหนัง ทั้งๆ ที่ในอดีต เป็นแนวเส้นทางรถไฟเก่าปากคลองสาน แต่ได้มีการถมรางรถไฟทำถนนในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี

3. ในช่วงที่กรุงเทพมหานคร จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนมหาพฤฒาราม เชื่อมกับถนนลาดหญ้า ประชาชนก็คัดค้านเสียงแข็ง อ้างว่า กระทบด้านสิ่งแวดล้อมของคนในพื้นที่ มีมลพิษทางอากาศ ทัศนียภาพไม่สวยงาม โบราณสถานของคนในชุมชนจะสูญหาย ธุรกิจ ร้านค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันจะได้รับผลกระทบ

อีกประเด็นหนึ่ง คือ ทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย เปิดเดินรถมาตั้งแต่ปี 2447 หรือ 114 ปีก่อน ที่ผ่านมามีชาวบ้านเข้าไปตั้งบ้านเรือนอาศัยชิดทางรถไฟจำนวนมาก ตั้งแต่วงเวียนใหญ่ถึงบางบอน อ้างว่าจ่ายค่าเช่าที่ทุกเดือน เดือนละ 200 บาท

ทุกวันนี้ขนาดซ่อมทางรถไฟยังซ่อมได้แบบตามมีตามเกิด กลายเป็นอุปสรรคในการเวนคืนที่ดิน เพราะจะต้องมีชาวบ้านริมทางรถไฟออกมาคัดค้านแน่นอน

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เคยประชุมยกร่างแผนแม่บทโครงข่ายรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปี 2562 – 2572 โดยจะมีการกำหนดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ เป้าหมายสำคัญคือ ต้องต้องกระจายความแออัดจากกรุงเทพฯ ออกสู่ชานเมืองมากขึ้น

แผนแม่บทฉบับนี้ จะเป็นแนวเส้นทางที่ขีดขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ของบประมาณปี 2560 จำนวน 30 ล้านบาท เพื่อจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา ใช้เวลาศึกษา 1 ปี ก่อนเสนอผลการศึกษาให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก และคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติโครงการ

แต่แผนการต่อขยายรถไฟชานเมือง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย รมว.คมนาคม กล่าวว่า ต้องยุติแผนไปก่อน เพราะประชาชนในพื้นที่ต่อต้าน ทำให้โครงการไม่ผ่านการพิจารณาเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน

ถึงวันนี้ โครงการที่มองว่าจะสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ โครงการที่นักการเมืองมักหยิบมาหาเสียง และโครงการที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์พากันชูโรง เฉกเช่นโครงการรถไฟสายสีแดง หัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย สุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝัน เพราะวันนี้การรถไฟฯ ดับฝันคนมหาชัยเรียบร้อยแล้ว

– กิตตินันท์ นาคทอง –

One Reply to “ดับฝันคนมหาชัย เบรก “รถไฟฟ้าสายสีแดง” การรถไฟฯ อ้างประชาชนคัดค้าน”

  1. ก็เพราะ คนที่อยู่แถวลาดหน้า วงเวียนใหญ่ คลองสาน รวมไปถึงตลาดพลูนี่แหละ ประกาศตัวเป็น ไอ้เข้ขวางคลอง ชนิดว่าถ้าไม่เอาลงใต้ดิน จนพ้นตลาดพลุหละก็ ไม่ยอมให้ผ่านเป็นอันขาด แต่ ค่าเอาลงใต้ดินมันแพงกว่าลอยฟ้า ร่วม 2 – 3 เท่า จะเอาไหมหละครับ

Leave a Reply to Wisarut Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *