เจาะธุรกิจห้องเย็นสมุทรสาคร นำเทคโนโลยี ASRS ลดแรงงานคน-เพิ่มเทคโนโลยี

ข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร มีห้องเย็นรับฝากเอกชนประมาณ 40 แห่ง ท่ามกลางการแข่งขันบนพื้นที่ศูนย์กลางการประมงที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ก็คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจห้องเย็น เพื่อลดต้นทุน ลดการใช้แรงงานคน เพื่อความรวดเร็วในการจัดเก็บและค้นหาสินค้า รวมทั้งสินค้าอยู่ในสภาพดีตลอดการอายุฝากสินค้า

มีผู้ประกอบการห้องเย็นในจังหวัดสมุทรสาคร 2 แห่ง กำลังลงทุนด้านเทคโนโลยีในธุรกิจห้องเย็นที่น่าสนใจ

รายแรก คือ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มานานกว่า 3 ปี หนึ่งในนั้นคือธุรกิจห้องเย็น

โดยรวมกิจการ “แปซิฟิค ห้องเย็น” ซึ่งมี “จิตชัย นิมิตรปัญญา” นักธุรกิจอาหารทะเล แห่งโรงงานโชคสมุทรมารีน เป็นเจ้าของ และดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2539 นานกว่า 22 ปี ก็นำธุรกิจห้องเย็นเข้ามาอยู่เป็นกลุ่มเดียวกับ JWD

ปัจจุบัน เจดับเบิ้ลยูดี กำลังก่อสร้างห้องเย็นมหาชัย ที่ถนนวัดเทพนรรัตน์ ต.นาดี อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เพิ่มขึ้นอีก 1 อาคาร (อาคาร 8) ชูการนำ “เทคโนโลยีโรบอท”  (ASRS) มาใช้เพื่อทดแทนแรงงาน

โดยใช้งบลงทุนรวมกว่า 460 ล้านบาท แบ่งการพัฒนาเป็น 2 เฟส พื้นที่รวม 5,620 ตารางเมตร เฟสแรกมีพื้นที่ 4,300 ตารางเมตร ส่วนเฟสที่สองมีพื้นที่ 1,320 ตารางเมตร

อาคาร 8 จะบรรจุสินค้าได้ราว 14,000-15,000 พาเลท โดยมีความสูงเพิ่มขึ้นจาก 12 เมตร เป็น 15 เมตร การจัดเก็บสินค้าจะใช้เครนขนส่งเต็มรูปแบบ โดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน มีความแม่นยำสูง

และด้วยเทคโนโลยีโรบอท  ผู้ใช้บริการยังสามารถตรวจสอบการเข้า-ออกของสินค้าภายในคลังดังกล่าวได้ผ่านทางแท็บเล็ต โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดการพื้นที่จัดเก็บสินค้า

อาคารดังกล่าวยังช่วยลดต้นทุนด้านต่างๆ อาทิ ค่าไฟฟ้าจากเดิมที่เฉลี่ยราว 2 ล้านบาทต่อเดือน จะประหยัดต้นทุนได่ราว 70-80% เหลือเพียงหลักแสนบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นห้องเย็นแห่งแรกและแห่งเดียวในสมุทรสาคร ที่ได้รับใบอนุญาต MSC License รับรองการทำประมงจากธรรมชาติอย่างยั่งยืน และมาตรฐาน ASC รับรองอาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน

ส่วนกลุ่มเป้าหมายจะเจาะตลาดทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่, ผู้ประกอบการอาหารขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ที่เป็นโรงงานและไม่มีห้องเย็นเป็นของตนเอง

ความคืบหน้าในการก่อสร้างผ่านไปแล้ว 40% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 3/2562 โดยในช่วงแรกจะใช้รองรับลูกค้าเดิมกว่า 50% ที่เหลือจะทำตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ประเภทโรงงานผลิตอาหารและผู้สนใจ

ห้องเย็นอีกแห่งหนึ่งที่ประกาศตัวว่าได้นำเทคโนโลยีมาใช้ ก็คือ บริษัท รักชัยห้องเย็น จำกัด หนึ่งในธุรกิจเครือรักชัยกรุ๊ป ซึ่งดำเนินกิจการห้องเย็นมากนานกว่า 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา

ปัจจุบันบริหารงานโดย “ละมูล ลือสุขประเสริฐ” นักธุรกิจหญิง ที่มีธุรกิจหลากหลายในจังหวัด ทั้งธุรกิจห้องเย็น ธุรกิจผลิตน้ำแข็ง ธุรกิจแปรรูปอาหาร ธุรกิจพลังงานทดแทน มีบริษัทในเครือมากกว่า 9 บริษัท

เมื่อปลายปี 2560 ใช้งบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท จัดสร้างและเปิดให้บริการรับฝากสินค้าด้วยห้องเย็นระบบ ASRS บนพื้นที่กว่า 3,500 ตารางเมตร สูง 27 เมตร มีพื้นที่ในการจัดเก็บมากกว่า 18,400 พาเลต

ห้องเย็นระบบ ASRS ของรักชัยห้องเย็นแตกต่างจากห้องเย็นระบบอื่น ตรงที่ จัดเก็บสินค้าด้วยระบบอัตโนมัติ ปลอดภัยกับสินค้า ลดเวลาการหาสินค้า ทำให้ลูกค้าไม่เสียเวลารอจากการค้นหาสินค้านานเกินความจำเป็น

จากเดิม การจัดเก็บ หรือเบิกสินค้าออกจากห้องเย็นทั้งแบบห้องชั้น ห้องโล่ง หรือแบบโมบาย ยังคงอาศัยคนขับรถโฟล์คลิฟท์ ที่มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้และมีความเสี่ยงระหว่างเคลื่อนย้ายสูง

แต่ห้องเย็นแบบใหม่ จะเพิ่มความแม่นยำด้วยการไม่ใช้คนแต่ให้เครื่องจักรและระบบซอฟท์แวร์ ทำหน้าที่เคลื่อนย้าย ลำเลียงและจัดวางสินค้าทั้งขาเข้า ขาออก และบริหารการจัดเก็บในห้องเย็น

เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ และได้จัดเรียงสินค้าลงบนพาเลตพลาสติก จะเคลื่อนย้ายไปที่สายพาน โดยจะมีเซนเซอร์ตรวจจับการจัดเก็บสินค้าว่าเหมาะสม และปลอดภัยในการจัดเก็บหรือไม่

หากเกินเกณฑ์ค่าความปลอดภัยที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเรื่องน้ำหนัก หรือการจัดเรียง ระบบจะทำการตีคืนเพื่อให้ทำการจัดเรียงสินค้าใหม่อีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่การจัดเก็บในห้องเก็บสินค้าอย่างปลอดภัย

ขณะเดียวกัน ยังมีระบบรายงานแจ้งการเข้า-ออกสินค้าแบบรายวัน (In-Out-Stock Remaining Report) ทำให้ลูกค้าได้รับและตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น

ส่วนระบบทำความเย็น ใช้ระบบ NH3 ลดอุณหภูมิภายนอกห้องเก็บสินค้า และ Cascade Co2 ในการทำความเย็นภายในห้องเก็บสินค้า มีทีมงานที่คอยมอนิเตอร์อุณหภูมิห้องเย็นให้ได้ตามมาตรฐาน

โดยต้องไม่สูงกว่าอุณหภูมิติดลบ -20 องศาเซลเซียสผ่านหน้าจอ ส่วนบริเวณลานโหลดเป็นระบบปิดและควบคุมอุณหภูมิไม่สูงกว่า 15 องศาเซลเซียส ลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายของกล่องสินค้าที่เปียกชื้นอีกด้วย

การปรับตัวของธุรกิจห้องเย็น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทดแทนแรงงานคน ถือเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในยุคที่เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่การแข่งขันที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

เมื่อสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน การแข่งขันเปลี่ยน หากไม่ปรับตัวจะแข่งขันกันลำบาก

– กิตตินันท์ นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *