“ทีทีดับบลิว” เดินเครื่องทดสอบ “โรงผลิตน้ำกระทุ่มแบน” – กำไรปี 60 โต 2.68 พันล้าน

บมจ.ทีทีดับบลิว แนะนำ กก.ผจก. คนใหม่ “วลัยณัฐ ตรีวิศวเวทย์” เผยเดินเครื่องโรงผลิตน้ำกระทุ่มแบนสำรองแล้ว กำลังเจรจาซื้อขายน้ำเพิ่ม รองรับ “อสังหาฯ – อุตสาหกรรม” ใช้น้ำประปาเพิ่ม กำไรสุทธิ 2.68 พันล้าน พม่าไฟเขียวลงทุนเมาะลำไย กำลังศึกษา เมียวดี-ผาอัน ส่วน “อีอีซี” เผยสนใจ แต่รอภาครัฐไฟเขียว

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ถนนราชดำริ กทม. บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานแถลงข่าว “จิบน้ำชายามบ่ายกับ วลัยณัฐ ตรีวิศวเวทย์” เพื่อแนะนำ น.ส.วลัยณัฐ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ คนใหม่ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติแต่งตั้ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยมี น.ส.สุดารัตน์ เจียมจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมองค์กร และนายสมเกียรติ ปัทมมงคลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน เป็นผู้ร่วมแถลงข่าว

น.ส.วลัยณัฐ กล่าวว่า ตนได้เข้ามาทำงานกลุ่ม ช.การช่าง หลายปีแล้ว เริ่มจากผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการเงิน บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีซีแอล และได้มาอยู่ที่ทีทีดับบลิว ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหาร

ส่วนแผนงานของบริษัทฯ ระยะยาวได้ลงทุนก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปาแห่งที่ 2 ที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เพื่อเป็นโรงผลิตน้ำสำรอง มั่นใจว่าการส่งน้ำดิบและการผลิตน้ำประปาจะมีอย่างต่อเนื่อง สามารถทำให้ผู้ใช้น้ำมีน้ำใช้ตลอดเวลา และรองรับการเติบโตของคนในพื้นที่อีกด้วย

ส่วนแผนระยะต่อไป จะมีการลงทุนที่ประเทศเมียนมา โดยได้ยื่นข้อเสนอที่จะเข้าไปก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำข้อสัญญาและรายละเอียดให้เรียบร้อย

– เริ่มเดินเครื่อง “โรงผลิตน้ำกระทุ่มแบน” ทดสอบกำลังการผลิต

ด้านนายสมเกียรติ กล่าวว่า การก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปาแห่งที่ 2 อ.กระทุ่มแบน แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 กำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน และได้สร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รองรับการขยายกำลังการผลิตเป็น 4 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งมีแผนรองรับการใช้น้ำในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบกำลังการผลิตว่าจะบริหารต้นทุนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าสารเคมี

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการวางท่อจากสถานีสูบน้ำดิบไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นระยะทาง 15 กิโลเมตร บนถนนเศรษฐกิจ 1 ประสบปัญหาน้ำท่วมขังเวลาฝนตก จึงได้จัดทำซีเอสอาร์ ด้วยการก่อสร้าง “บ็อกซ์ คอนเวิร์ส” เพื่อช่วยระบายน้ำบนถนนให้ระบายได้รวดเร็วขึ้น โดยลงทุน 38 ล้านบาท ช่วยเหลือชุมชนและสังคมในพื้นที่

– คาด “อสังหาฯ – อุตสาหกรรม” ใช้น้ำประปาเพิ่ม อานิสงส์ “อียู” แบนน้ำบาดาล

น.ส.วลัยณัฐ กล่าวว่า สำหรับสัญญาการซื้อขายน้ำจากโรงผลิตน้ำประปาแห่งที่ 2 กับการประปาส่วนภูมิภาค ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา ซึ่งในสัญญาไม่ได้ระบุว่าจะจำหน่ายน้ำจากโรงผลิตน้ำประปาแห่งไหน เพราะฉะนั้นสามารถจำหน่ายได้ไม่มีปัญหา ซึ่งสัญญาซื้อขายน้ำประปาจะมีไปจนถึงปี 2577

ส่วนแหล่งน้ำดิบถือว่าดีขึ้น และไม่เป็นห่วงเรื่องน้ำเค็ม เพราะระบบจัดการผลักดันน้ำของกรมชลประทานเป็นระบบดีขึ้น ส่วนความต้องการใช้น้ำในปีนี้ ประมาณ 4.0 – 4.4 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งเป็นกำลังการผลิตของโรงผลิตน้ำประปาบางเลน

ส่วนความต้องการใช้น้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีแผนก่อสร้างระบบคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะรถไฟฟ้า เพราะฉะนั้นการเติบโตในพื้นที่ของอสังหาริมทรัพย์จะมีมากขึ้น ส่วนการส่งออก ที่โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มกำลังการผลิต และข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (อียู) ที่กำหนดว่าสินค้าที่จะส่งออกไปขายให้กับประเทศในกลุ่มอียู จะไม่อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาล เพราะฉะนั้น จะต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำประปา ซึ่งกำลังการผลิตน้ำประปาก็คงค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีหลายปัจจัย

– ย้ายสถานีสูบน้ำดิบบางปะอินทำคุณภาพน้ำดีขึ้น

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับระบบผลิตและจ่ายน้ำประปาให้กับนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้มีการย้ายสถานีสูบน้ำดิบ เพราะที่ผ่านมาประสบปัญหาคุณภาพน้ำดิบ จากการผันน้ำจากคลองสู่แม่น้ำของกรมชลประทาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำไปยังผู้ใช้น้ำในนิคมอุสาหกรรมได้อย่างเพียงพอ

จึงมีการศึกษาผลกระทบ รวมทั้งศึกษาสถานที่ตั้งสถานีสูบน้ำดิบ และพบว่าต้องย้ายไปที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้มีการก่อสร้าง แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2560 ทำให้คุณภาพน้ำดิบดีขึ้น สามารถส่งน้ำได้อย่างต่อเนื่อง และลดการใช้สารส้มและสารเคมี แม้ในช่วงผันน้ำของกรมชลประทานก็ไม่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดทำซีเอสอาร์ภายใต้ชื่อ โครงการ 1 ล้านกล้า สร้างป่าต้นน้ำ ซึ่งได้ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2554 – 2559 เป็นระยะเวลา 5 ปี รวม 5,000 ไร่ และส่งมอบให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไปเมื่อปี 2560 จากเดิมเป็นป่าเสื่อมโทรมก็เข้าไปซ่อมแซมดูแล

อีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนที่ด้อยโอกาส โดยมอบอุปกรณ์กีฬา ให้กับโรงเรียนที่ด้อยโอกาส ซึ่งมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ

– “นครปฐม – สมุทรสาคร” ปี 60 ใช้น้ำเพิ่ม 7.5 ล้าน ลบ.ม.

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2560 มียอดขายน้ำประปา 282 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 4.4% เนื่องจากมีการขายน้ำประปาใน 2 พื้นที่ โดยย่านปทุมธานี – รังสิต ยอดขายน้ำประปาเพิ่มขึ้น 4.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนย่านนครปฐม – สมุทรสาคร ยอดขายน้ำประปาเพิ่มขึ้น 7.5 ล้านลูกบาศก์เมตร

สาเหตุหลักเนื่องจากต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น แต่บริษัทฯ ไม่ได้ขายให้กับผู้ใช้น้ำ (End User) โดยตรง แต่ขายผ่านการประปาส่วนภูมิภาค เมื่อมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น กปภ. ก็จะซื้อน้ำจากบริษัทฯ เพิ่มขึ้นตามลำดับ ทำให้รายได้จากขายน้ำประปา 5,475 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9%

– กำไรสุทธิ “ทีทีดับบลิว” ปี 60 อยู่ที่ 2.68 พันล้าน

ส่วนต้นทุนขาย (COGS) อยู่ที่ 1,564.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% เนื่องจากเป็นไปตามยอดขายที่เพิ่มขึ้น มีการปรับปรุงโรงผลิตน้ำประปาบางเลนบางส่วน แต่เมื่อก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปาที่กระทุ่มแบนแล้วเสร็จ ได้มีการบริหารต้นทุน ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ส่วนกำไรสุทธิในปี 2560 อยู่ที่ 2,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% เนื่องจากยอดขายเพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยจ่ายลดลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2560 ได้มีการทบทวนว่าจะลดต้นทุนการเงิน เนื่องจากมีเงินสดคงเหลือมากพอที่จะจ่ายเงินกู้ยืมก่อนกำหนด จึงได้จ่ายเงินกู้ก่อนกำหนด 1,700 ล้านบาทเพื่อให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลง ส่วนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 1,000 ล้านบาท โดยมีผลตอบแทน 3% เศษ ตัดสินใจออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทน โดยมีผลตอบแทน 2% จะทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง

– พม่าไฟเขียวลงทุนน้ำประปา “เมาะลำไย” เผยกำลังศึกษา “เมียวดี – ผาอัน”

น.ส.วลัยณัฐ กล่าวว่า การลงทุนในประเทศพม่า ที่เมืองเมาะลำไยได้รับการอนุมัติแล้ว แต่อยู่ในระหว่างการเจรจาเรื่องข้อกำหนดในสัญญาและเงื่อนไข ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและประเด็นบางประการ คาดว่าจะเซ็นสัญญาและลงทุนก่อสร้างในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เริ่มต้นกำลังการผลิตที่ 40,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จำหน่ายให้รัฐและจ่ายน้ำให้แก่ผู้ใช้น้ำ 12 เขต ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน งบลงทุน 400 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาเมืองเมียวดีและเมืองผาอันเพิ่มเติม โดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา เข้าไปศึกษาความต้องการใช้น้ำอย่างชัดเจนว่าจะลงทุนอย่างไรบ้าง และกำลังศึกษาเพิ่มเติมถึงคุณภาพน้ำดิบในแต่ละฤดูกาลให้ชัดเจนก่อนการลงทุน

ขณะที่เมืองอื่นๆ เช่น ย่างกุ้งไปศึกษาแล้ว พบว่ามีหลายปัจจัยไม่คุ้มค่าการลงทุน เมืองมัณฑะเลย์พบว่ามีผู้ผลิตน้ำประปาหลายราย ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น กัมพูชากำลังเข้าไปศึกษาที่เมืองเสียมราฐ

– สนใจ “อีอีซี” ภาคตะวันออก ยันไม่ทับซ้อน “อีสต์ วอเตอร์” รอรัฐไฟเขียว

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) น.ส.วลัยณัฐ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอความชัดเจนอยู่ บริษัทฯ พร้อมจะเข้าไปลงทุน ยืนยันว่าจะไม่ทับซ้อนกับ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสต์ วอเตอร์ เพราะทำหน้าที่ส่งน้ำดิบ ขณะที่ทีทีดับบลิวเป็นผู้ผลิตน้ำประปา

ขณะที่การลงทุนในธุรกิจระบบบำบัดน้ำเสีย ให้กับนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี พบว่าประสบความสำเร็จ และกำลังศึกษาในพื้นที่อื่น โดยนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จะให้ขยายกำลังการผลิต ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างเจรจา

นายสมเกียรติ กล่าวว่า บริษัทฯ สนใจ ถ้ามีโอกาสลงทุนโรงผลิตน้ำประปา เพื่อสนับสนุนในพื้นที่อีอีซี แต่ท้ายที่สุดต้องรอนโยบายจากภาครัฐที่ออกมา ซึ่งขณะนี้ลำดับความสำคัญในเรื่องการคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟฟ้า เป็นหลัก แต่บริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตน้ำประปา เข้าใจว่าภาครัฐกำลังเตรียมการอยู่

– เผยท่อน้ำแตกที่บางเลนปี 60 “โรงผลิตน้ำกระทุ่มแบน” ช่วยชีวิต

แหล่งข่าวจากบริษัท ทีทีดับบลิว เปิดเผยกับ “สาครออนไลน์” ว่า สำหรับโรงผลิตน้ำแห่งที่ 2 ที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร นั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบเดินเครื่อง (Test Run) และเป็นโรงผลิตน้ำสำรอง (Backup) จากโรงผลิตน้ำประปาบางเลน ในกรณีที่เต็มกำลังการผลิต 4.4 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน

หรือกรณีฉุกเฉินที่โรงผลิตน้ำประปาบางเลนไม่สามารถทำการผลิตได้ เช่น อุบัติเหตุท่อน้ำแตกเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา ก็ได้ใช้โรงผลิตน้ำแห่งที่ 2 ผลิตและจ่ายน้ำให้แก่ผู้ใช้น้ำในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร โดยมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับการผลิตน้ำประปาอย่างเป็นทางการ อยู่ในระหว่างการเจรจากับการประปาส่วนภูมิภาค โดยในขณะนี้กำลังการผลิตโรงผลิตน้ำประปาบางเลนอยู่ที่ 4.2 – 4.3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง และ กิตตินันท์ นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *