นักการเมืองสายเลือดสมุทรสาคร บนเส้นทาง “ผู้แทนปาร์ตี้ลิสต์”

การเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ นอกจากจะมีผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คนจากทั่วประเทศแล้ว ก็ยังมีในส่วนของผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” อีก 150 คน ของแต่ละพรรคการเมือง

ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้ระบบที่เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” หรือ Mixed Member Apportionment System (MMA)

ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้ “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” ให้ตัดสินใจเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต รวมทั้งนำคะแนนดังกล่าวไปคำนวณอีกครั้ง เพื่อหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงจะได้รับ 

“สาครออนไลน์” ไล่เรียงผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ผู้สมัครมีภูมิลำเนา หรือเป็นลูกหลานสายเลือดชาวสมุทรสาคร ซึ่งแต่ละคนนั้นมีที่มาที่ไปน่าสนใจ ดังต่อไปนี้

พงศ์เทพ เทพกาญจนา (ขวาสุดของภาพ) ร่วมลงพื้นที่บ้านแพ้วกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

พงศ์เทพ เทพกาญจนา
พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 13

อดีตรองนายกรัฐมนตรี และกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย มือกฎหมายคนสำคัญของพรรคฯ ทายาทของ “สุรินทร์ เทพกาญจนา” อดีต รมว.อุตสาหกรรม ส.ส. สมุทรสาคร 2 สมัย และนายกเทศมนตรีเมืองสมุทรสาคร

เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2499 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท สาขากฎหมายเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา และเนติบัณฑิตไทย รุ่น 34 โดยสอบได้อันดับ 2 ของรุ่น

เป็นอดีตผู้ช่วยผู้พิพากษา และผู้พิพากษาศาลในหลายจังหวัด ระหว่างปี 2527 – 2538 ตำแหน่งสุดท้าย คือ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ก่อนที่จะลาออกจากราชการ

เข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรก ในการเลือกตั้ง 2 กรกฎาคม 2538 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 8 สังกัดพรรคพลังธรรม ร่วมกับ พีรพงศ์ ถนอมพงษ์พันธุ์ แต่เจ้าตัวแพ้ให้กับ ปราโมทย์ สุขุม จากพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อ 7 สิงหาคม 2538 แทน เรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์ ที่ลาออกจากตำแหน่ง

26 ธันวาคม 2539 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จังหวัดสมุทรสาคร มีส่วนร่วมในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หลังจากนั้นได้เข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย ในตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคฯ เมื่อปี 2542 และเป็นรองหัวหน้าพรรคฯ เมื่อ 19 พฤษภาคม 2543 ตามลำดับ

ได้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ลำดับที่ 22 ในการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 และได้รับตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้แก่ รมว.กระทรวงยุติธรรม เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2544 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 5 มีนาคม 2545 และ รมว.พลังงาน เมื่อ 3 ตุลาคม 2545

ในการเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 ได้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ลำดับที่ 8 แต่เกิดวิกฤตทางการเมือง จนนำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

ทำหน้าที่หัวหน้าคณะสู้คดียุบพรรคไทยรักไทย แต่สุดท้าย 30 พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคฯ ส่งผลให้คณะกรรมการพรรค 111 คน ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

แม้จะเป็นหนึ่งในสมาชิก “บ้านเลขที่ 111” แต่ยังคงมีบทบาททางการเมืองอยู่บ้างในช่วงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยเฉพาะการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

กระทั่งพ้นโทษแบนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ เมื่อ 27 ตุลาคม 2555 แต่แล้วการเมืองไทยก็เกิดวิกฤตใหญ่อีกครั้ง จนเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินมาจนถึงปัจจุบัน

การเลือกตั้งครั้งนี้ แม้พรรคเพื่อไทยจะส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต จ.สมุทรสาคร เพียงคนเดียว คือ พ.ต.อ.วิเลข ศรีนิเวศน์ ในวัย 73 ปี ลงเลือกตั้งในเขต 3 บ้านแพ้ว

แต่ด้วยมีชื่อลำดับต้น ๆ ในปาร์ตี้ลิสต์ ก็น่าจะมีโอกาสได้รับเลือกเป็น ส.ส. อีกครั้งแบบไม่ยากเย็นนัก


น.ต.สุธรรม ระหงษ์

น.ต.สุธรรม ระหงษ์
พรรคประชาธิปัตย์ ลำดับที่ 31

ผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส. สมุทรสาคร 2 สมัย เกิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2505 เป็นชาว ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน หลานของ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายกระทรวง

สำเร็จการศึกษาบัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นเข้ารับราชการเป็นทหารเรือ ปี 2528 ต่อมาโอนย้ายมาเป็นปลัดอำเภอ

เข้าสู่สนามการเมือง โดยสมัครเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร เขตกระทุ่มแบน ในปี 2543 สมัยที่ “อัคคเดช สุวรรณชัย” เป็นนายกฯ ก่อนที่จะลาออกเพื่อสังกัดพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผม ชิมลางสมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เขต 2 ในการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544

เบียดเอาชนะอดีต ส.ส. สมุทรสาครหลายสมัย อย่าง “เจี่ย ก๊กผล” พรรคไทยรักไทย และ “ศุภพรพงษ์ ชวนบุญ” พรรคชาติพัฒนา กลายเป็น ส.ส. หน้าใหม่ เข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรสมุทรสาคร ในฐานะ ส.ส. ฝ่ายค้าน ของพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับ “เอนก ทับสุวรรณ” อดีต ส.ส. สมุทรสาคร 7 สมัย ที่ชนะการเลือกตั้งในเขต 1

ในการเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 กลับมาลงสมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เขต 2 ในนามพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง แต่เนื่องจากความนิยมของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ขณะที่กระแสพรรคพระแม่ธรณีฯ อยู่ในช่วงขาลง ทำให้เก้าอี้ ส.ส. สมุทรสาคร เป็นของพรรคไทยรักไทยทั้ง 3 เขต โดยเขต 2 แพ้ให้กับ ศุภพรพงษ์ ชวนบุญ

ลงสมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เป็นครั้งที่สาม ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 แต่กติกาคราวนี้เป็นแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ โดยให้ทั้งจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งเดียว แล้วให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร 3 รายลงเลือกตั้ง

ซึ่งผลการเลือกตั้ง คราวนี้ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง ถึง 108,013 คะแนน เป็น ส.ส. สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับ “ครรชิต ทับสุวรรณ” ที่คะแนนมาเป็นอันดับสอง อย่างไรก็ตามต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภา เนื่องจากทางพรรคฯ แพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคพลังประชาชน

กลับมาลงสมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เป็นครั้งที่ 4 ในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ด้วยกติกาเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเบอร์เดียวอีกครั้ง เจ้าตัวขอลงพื้นที่เขต 2 เหมือนเดิม ผลปรากฎว่า “กำนันหลอ” บุญชู นิลถนอม ส.ส. หน้าใหม่จากพรรคเพื่อไทย เฉือนเอาชนะไปสองพันกว่าคะแนน

ปัจจุบันทำหน้าที่ผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี 2557 โดยรับตำแหน่งต่อจาก ณัฐพล ทีปสุวรรณ ที่ลาออกจาก ส.ส. และสมาชิกพรรคฯ เพื่อร่วมเป็นแกนนำในการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ เจ้าตัวไม่ได้ลง ส.ส. สมุทรสาคร เขต 2 เหมือนครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ยังให้การสนับสนุน “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง ที่ลงเลือกตั้งในเขต 2 แทน

สุวิศว์ เมฆเสรีกุล

สุวิศว์ เมฆเสรีกุล
พรรคประชาธิปัตย์ ลำดับที่ 71

อีกหนึ่งผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ สังกัดพรรคพระแม่ธรณีฯ อดีต ส.ว. สมุทรสาคร เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2492 เป็นชาว ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เริ่มต้นประกอบธุรกิจร้านขายวัสดุก่อสร้าง หจก.ทรัพย์เจริญวัสดุก่อสร้าง ที่บริเวณ ถ.พุทธมลฑลสาย 4 เมื่อปี 2523 สิบปีต่อมาได้ขยายกิจการโดยเปิดโรงงานแห่งแรกเพื่อผลิตเหล็กโครงสร้าง คือ บริษัท เหล็กทรัพย์สยาม จำกัด ปัจจุบันขยายกิจการและมีบริษัทในเครือหลายแห่ง ผลิตเหล็กครบวงจร มีกำลังการผลิตรวมกันมากกว่า 1.2 ล้านตันต่อปี

รับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างปี 2541 – 2543 และในปี 2544 ได้รับรางวัล “คนดีศรีสาคร” สาขาวิถีครอบครัวและชุมชนไทย

เข้าสู่แวดวงการเมือง โดยเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร เขตกระทุ่มแบน เมื่อปี 2542 อีก 7 ปีต่อมาก้าวกระโดดสู่การเมืองระดับชาติ ด้วยการเป็น 1 ใน 7 ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดสมุทรสาคร มี “เจี่ย ก๊กผล” อดีต รมช.พาณิชย์ และ ส.ส. สมุทรสาคร 6 สมัยเป็นตัวเต็ง

ซึ่งผลการเลือกตั้ง ส.ว. สมุทรสาคร 19 เมษายน 2549 ปรากฎว่าได้รับเลือกด้วยคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง ถึง 63,033 คะแนน จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งจังหวัด 221,052 คน แต่หลังจากนั้นอีก 6 เดือนต่อมา เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา

ต่อมาในการเลือกตั้ง ส.ว. สมุทรสาคร 2 มีนาคม 2551 เจ้าตัวลงสมัครเลือกตั้งอีกเป็นคำรบที่สอง สุดท้ายสมหวังไปด้วยคะแนน 68,325 คะแนน เอาชนะ “ประดิษฐ (พิภู) สุโชคชัยกุล” ซึ่งมี 44,550 คะแนน ทำหน้าที่ ส.ว. จนหมดวาระเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ก่อนการรัฐประหารโดยคณะ คสช. เพียง 20 วัน

หลังหายหน้าไปจากแวดวงการเมืองอยู่หลายปี ก็ได้เปิดตัวในช่วงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าตัวหมายมั่นปั้นมือจะลง ส.ส. สมุทรสาคร เขต 2 แต่แล้วชะตาพลิกผัน ทางพรรคมีการเปลี่ยนตัวผู้สมัครเป็น สมชัย ศรีสุทธิยากร แล้วนำชื่อย้ายมาลงในบัญชี ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์แทน

คอการเมืองคาดการณ์กันว่า หากผิดหวังจากเวทีการเมืองระดับชาติ ก็อาจจะหันไปลงเล่นการเมืองในระดับท้องถิ่นก็เป็นได้

อนุสรี ทับสุวรรณ ถ่ายภาพคู่กับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรค รปช.

อนุสรี ทับสุวรรณ
พรรครวมพลังประชาชาติไทย ลำดับที่ 4

หนึ่งในนักการเมืองหน้าใหม่สายเลือด “ทับสุวรรณ” ตระกูลเก่าแก่แห่งเมืองมหาชัย เป็นบุตรีของ พล.ต.ต.อนุชา ทับสุวรรณ อดีตผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ซึ่งเคยเป็นนายตำรวจติดตาม พล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ นายกรัฐมนตรี และเป็นพี่สาวของ “ทนายกันต์” กันต์กวี ทับสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เขต 2 กระทุ่มแบน

เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2512 จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์ (เกียรตินิยม) สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 40 ปริญญาโทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านนโยบายการพัฒนา จาก United States International University, Europe กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศยาวนานถึง 17 ปี เคยประจำการเป็นกงสุล ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ระหว่างปี 2547-2551 ดูแลคนไทยในต่างประเทศ ตำแหน่งสุดท้ายในกระทรวงบัวแก้ว คือ เจ้าหน้าที่การทูต 6 กรมเอเชียตะวันออก

ถูกทาบทามให้เป็นเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัย “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตั้งแต่ 14 ธันวาคม 2553 – 11 กุมภาพันธ์ 2557 จากนั้นเข้ารับตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามมาด้วยกระทรวงแรงงาน

ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากข้าราชการการเมือง เมื่อ 14 ธันวาคม 2561 เพื่อทำงานให้พรรครวมพลังประชาชาติไทยอย่างเต็มตัว ในฐานะผู้อำนวยการพรรคฯ และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคฯ ซึ่งสนามเลือกตั้ง จ.สมุทรสาคร ทางพรรคฯ ได้ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตครบทั้ง 3 เขต

ในส่วนของ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ทางพรรคฯ สร้างความฮือฮาด้วยการส่งบัญชีรายชื่อ 150 คน แบบเรียงลำดับสลับชายหญิง เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมทางเพศและกลุ่มอายุ โดย “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรคฯ คาดหวังให้ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 ที่นั่ง เพื่อสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ และมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ

จากบัญชีรายชื่อซึ่งอยู่ในลำดับต้น มีโอกาสสูงที่จะได้นั่งเป็นผู้แทนในสภา ขึ้นอยู่กับว่าผู้สนับสนุน “พรรคลุงกำนัน” จากทั่วประเทศ จะเทคะแนนมาให้ทางพรรคมากน้อยขนาดไหน

– กิตติกร นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *