“คนอ้อมน้อย-เพชรเกษม” ร้องเพลงรอ พับแผนขยาย “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน”

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ได้ชะลอโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ด้วยเหตุผลเพราะมองว่าอาจไม่มีเอกชนสนใจลงทุน เพราะเป็นเส้นทางชานเมืองที่มีผู้โดยสารไม่มากนัก

เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ชะลอแผนลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 13,700 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยาย ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 11,900 ล้านบาท

สาเหตุเพราะต้องการรอให้รถไฟฟ้าสายใหม่ เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) เปิดบริการก่อน แล้วจะประเมินทิศทางผู้โดยสารอีกครั้ง

หากเป็นไปตามรายงานข่าวดังกล่าว ประชาชนในพื้นที่เขตบางแค เขตหนองแขม เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ และเทศบาลนครอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร อาจต้องรอไปอีกนานกว่าจะได้เห็นรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเส้นนี้

หนังสือพิมพ์แนวหน้า 8 กรกฎาคม 2562

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 เป็นหนึ่งในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553

เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของ และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้รับสัมปทาน

มีจุดเริ่มต้นจากสถานีหลักสอง ยกระดับไปตามเกาะกลางของถนนเพชรเกษม สิ้นสุดที่รอยต่อระหว่างเขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร และเทศบาลนครอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร

มีสถานีรถไฟฟ้าทั้งหมด 4 สถานี ได้แก่ สถานีพุทธมณฑล สาย 2 (BL21) บริเวณหน้าศูนย์การค้าเพชรเกษม พาวเวอร์ เซ็นเตอร์ (บิ๊กซี เพชรเกษม), สถานีทวีวัฒนา (BL22) บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า หนองแขม

สถานีพุทธมณฑล สาย 3 (BL23) บริเวณหน้าสำนักงานเขตหนองแขม ใกล้มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ และ สถานีพุทธมณฑล สาย 4 (BL24) บริเวณหน้าหมู่บ้านหรรษา ก่อนถึงเขตจังหวัดสมุทรสาคร และแยกสาครเกษม ใกล้กันยังมีอาคารจอดแล้วจร 2 อาคาร

วงเงินลงทุนรวม 21,197 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,920 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา 10,870 ล้านบาท และค่างานระบบไฟฟ้า 6,407 ล้านบาท

เมื่อทำเลถนนเพชรเกษมจะมีโครงการรถไฟฟ้าผ่าน แน่นอนว่าฉุดราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการที่ดินเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวไปในพื้นที่จังหวัดปริมณฑล และชานเมืองมากขึ้น

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เคยระบุว่า ในไตรมาส 1 ปี 2561 ที่ดินทำเลจังหวัดนครปฐม บริเวณอำเภอสามพราน และอำเภอเมือง ราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด 67.4% เนื่องจากมีแผนโครงการรถไฟฟ้าในอนาคต

รองลงมาคือ ทำเลจังหวัดสมุทรสาคร ราคาเพิ่มขึ้น 52.1% ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณอำเภอเมืองและอำเภอกระทุ่มแบน เนื่องจากจะมีการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ยกระดับถนนพระราม 2

นอกจากนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ถือเป็นทำเลที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด 46.6%

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม 2562 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 จะประเมินจำนวนผู้โดยสารหลังเปิดสายสีน้ำเงินครบตลอดสาย

หากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 1 ล้านคนต่อวัน ภายใน 1-2 ปี จะเจรจากับ BEM ผู้รับสัมปทานสายสีน้ำเงินเพื่อให้ลงทุนในส่วนดังกล่าวทั้งงานโยธาและระบบการเดินรถ ในลักษณะการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก BEM ระบุว่า ในปี 2561 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ-เตาปูน มีผู้โดยสารเฉลี่ย 311,538 เที่ยวต่อวัน มากกว่าปี 2560 เฉลี่ย 295,302 เที่ยวต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 5.50%

แต่ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายจำนวนผู้โดยสาร 1 ล้านคนต่อวัน ตามที่ ผู้ว่าการ รฟม. เคยตั้งเป้าหมายไว้

ภาพ : MRT Bangkok Metro

อย่างไรก็ตาม ประชาชนย่านถนนเพชรเกษม ยังสามารถเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่น เช่น รถโดยสารประจำทาง ซึ่งสถานีหลักสองมีรถประจำทางสายที่ผ่านมากกว่า 15 เส้นทาง

รวมทั้ง “อาคารจอดแล้วจร” ที่สถานีหลักสอง 2 อาคาร จอดรถยนต์ได้ประมาณ 1,000 คัน แยกเป็นอาคาร 10 ชั้น รวม 650 คัน และอาคาร 8 ชั้น รวม 350 คัน อาจช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมจอดรถส่วนตัวแล้วนั่งรถไฟฟ้าไปทำงานได้

ส่วนโครงการส่วนต่อขยายถึงพุทธมณฑลสาย 4 ที่พับไว้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่อย่าง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ว่าจะผลักดันโครงการนี้หรือไม่?

เพราะ รฟม. เคยมีบทเรียนจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ที่เปิดตัวด้วยจำนวนผู้โดยสารเพียงแค่ไม่กี่หมื่นคนต่อวันเท่านั้น กระทั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเชื่อมต่อ 1 สถานี จึงกระเตื้องขึ้นมาบ้าง ประมาณ 6 หมื่นคนต่อวัน

สถานีหลักสอง (ภาพ : Thailand Electrified Train Club)

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค BEM ได้เริ่มทดลองเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trial Run) จากหัวลำโพง-บางแค เป็นการภายใน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เพื่อตรวจสอบระบบต่างๆ

ถ้าไม่มีอะไรติดขัด ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ จะเปิดทดลองนั่งฟรีในรูปแบบวิ่งไป-กลับ (Shuttle service) จากสถานีหัวลำโพงถึงสถานีท่าพระ และขยายถึงสถานีหลักสอง ก่อนเปิดให้บริการจริงในเดือนกันยายน 2562

ส่วนช่วงเตาปูน-ท่าพระ มีแผนที่จะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทำการเดินรถได้เต็มรูปแบบเสียที หลังประชาชนเฝ้ารอคอยมานาน

-กิตตินันท์ นาคทอง-

2 Replies to ““คนอ้อมน้อย-เพชรเกษม” ร้องเพลงรอ พับแผนขยาย “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน””

  1. ค่าโดยสารแพงกว่าประเทศอื่นไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ ยังจะร้องขาดทุน แบบนี้ระบบคมนาคมไทยกว่าจะเจริญเท่าประเทศอื่น รอยันชาติหน้า อาจจะยังไม่ได้เห็น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *