รถไฟฟ้าชานเมือง “มหาชัย-ปากท่อ” ไม่ง่าย “สายสีแดง” ยังไม่มา-คนพื้นที่ไม่เอาด้วย

รถไฟฟ้าสายสีแดง (ภาพ : การรถไฟแห่งประเทศไทย)

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังทบทวนศึกษาโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองร่วมกับรถไฟทางไกล เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (มหาชัย-ปากท่อ)

สาเหตุเนื่องจากโครงการอยู่ระหว่างพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และเพื่อให้ข้อมูลที่นำเสนอมีความครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน

อันที่จริงโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง มหาชัย-ปากท่อ ศึกษาโครงการไปแล้วในช่วงปี 2542-2550 และทบทวนศึกษาโครงการเมื่อปี 2558 เท่ากับว่าเป็นการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนระยะที่ 3

โดยกำหนดให้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยทั้งสิ้น 14 เวที ครอบคลุมทุกตำบลในพื้นที่รัศมีศึกษา 500 เมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทาง พาดผ่าน 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรี ในเดือนธันวาคม 2562

โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายใต้ ช่วงมหาชัย-ปากท่อ มีระยะทางรวม 56 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นก่อสร้างตามแนวเส้นทางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลองเดิม และก่อสร้างทางรถไฟใหม่ช่วงแม่กลอง-ปากท่อ

จุดเริ่มต้นโครงการจะอยู่ที่สถานีรถไฟมหาชัยใหม่ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง-มหาชัย ใกล้ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี มหาชัย และทางหลวงหมายเลข 3091 (ถนนเศรษฐกิจ 1)

จากนั้นข้ามสะพานแม่น้ำท่าจีน ข้ามถนนพระราม 2 เข้าสู่สถานีท่าฉลอมใหม่ ข้างโครงการเคหะชุมชนสมุทรสาคร (ท่าจีน) ข้ามคลองสุนัขหอน ก่อนจะบรรจบกับทางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลองเดิม ที่สถานีนกเล็ก

จากนั้นผ่านสถานีบางสีคต สถานีบางกระเจ้า สถานีบ้านบ่อ สถานีบางโทรัด สถานีบ้านกาหลง สถานีบ้านนาขวาง ข้ามถนนพระราม 2 สถานีบ้านนาโคก ซึ่งจะเป็นที่ตั้งโรงซ่อมบำรุง

ศูนย์ซ่อมบำรุง สถานีบ้านนาโคก

เข้าเขตจังหวัดสมุทรสงคราม ผ่านสถานีบ้านเขตเมือง สถานีลาดใหญ่ สถานีบางตะบูน ก่อนเบี่ยงเส้นทางรถไฟเดิม ใกล้กับทางหลวงหมายเลข 3643 (ทางเลี่ยงเมืองสมุทรสงคราม) ข้ามคลองแม่กลองและแม่น้ำแม่กลอง

จากนั้นจะเป็นทางรถไฟสายใหม่ ซึ่งจะเวนคืนพื้นที่สวนมะพร้าวเดิม ห่างจากทางหลวงหมายเลข 3093 (ถนนสมุทรสงคราม-ปากท่อ) ไปทางทิศเหนือประมาณ 200 เมตร ผ่านสถานีบางขันทอง

เข้าเขตจังหวัดราชบุรี ผ่านสถานีปลายโพงพาง สถานีวัดเพลง บริเวณใกล้กับ รพ.สต.วัดยางงาม และทางหลวงหมายเลข 3088 (ถนนราชบุรี-วัดเพลง) ก่อนบรรจบกับทางรถไฟสายใต้เดิมที่สถานีปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี

รูปแบบสถานีทั่วไป

รูปแบบเส้นทางรถไฟจะยกระดับจากสถานีมหาชัยใหม่ ถึงสถานีวัดเพลง ก่อนจะลดลงระดับดินเพื่อเข้าสู่สถานีปากท่อ โดยช่วงทางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลองจะเป็นโครงสร้างยกระดับแบบตอม่อคู่ คร่อมทางรถไฟเดิม

สำหรับสถานีรถไฟฟ้ามีทั้งหมด 17 สถานี (ไม่รวมสถานีมหาชัยใหม่) แบ่งเป็นสถานียกระดับ 16 สถานี และสถานีระดับพื้นดิน 1 สถานี ได้แก่ สถานีปากท่อ จ.ราชบุรี และศูนย์ซ่อมบำรุงที่สถานีบ้านนาโคก

หากวัดระยะทางรถไฟสายใต้ จากกรุงเทพฯ ถึงสถานีปากท่อ ปัจจุบันจะมีระยะทาง 118.62 กิโลเมตร แต่หากก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ จะมีระยะทาง 92.6 กิโลเมตร เท่ากับจะย่นระยะทางได้ถึง 26 กิโลเมตร

รูปแบบสถานีปลายทาง สถานีปากท่อ

อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนระยะที่ 2 ปี 2558 หรือเมื่อ 4 ปีก่อน มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ได้แก่

  • ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางโดยรถไฟน้อย เนื่องจากมีรถสาธารณะ และเดินทางในระยะใกล้ระหว่างมหาชัย-แม่กลอง โดยการใช้งานส่วนใหญ่เป็นเชิงอนุรักษ์ และในการใช้ประโยชน์มีไม่มาก
  • โครงการมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้าน เนื่องจากโครงสร้างค่อนข้างสูง ทำให้บดบังทัศนียภาพ บดบังทิศทางลม ซึ่งการประกอบอาชีพนาเกลือต้องใช้ลม
  • เห็นด้วยกับโครงการ เนื่องจากการขนส่งระบบรางเป็นสิ่งจำเป็น และเหมาะสมที่สุดในการเดินทาง แต่มีข้อวิตกกังวลในเรื่องของทัศนียภาพ เพราะโครงสร้างค่อนข้างสูง
  • โครงการควรมีการจัดการระบายน้ำอย่างมีรูปแบบ และเป็นมาตรฐาน เนื่องจากพื้นที่สมุทรสงคราม ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ
  • โครงการอาจมีผลกระทบในเรื่องของการประกอบอาชีพทำนาเกลือ เนื่องจากโครงสร้างมีลักษณะสูงอาจบดบังทิศทางลม
  • วิตกกังวลในเรื่องของการเวนคืนที่ดินและที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่ใกล้แนวเส้นทาง นอกจากนี้มีประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟ ซึ่งอาจมีการบุกรุกหรือเป็นการเช่าพื้นที่ของการรถไฟ โดยหากประชาชนดังกล่าวต้องย้ายออก อาจเกิดปัญหาได้
  • ไม่เห็นด้วยกับโครงการ เนื่องจากไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และเห็นว่าควรที่จะยกเลิกรถไฟเส้นดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ใช้บริการน้อย โดยส่วนใหญ่จะเน้นในการอนุรักษ์ และเรื่องการท่องเที่ยว
  • มีข้อวิตกกังวลในเรื่องของจุดตัดทางรถไฟ เนื่องจากมีอุบัติเหตุจากการที่ประชาชนใช้จุดตัดทางรถไฟบ่อยครั้ง
ถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลองปัจจุบัน (แฟ้มภาพ)

อีกสิ่งหนึ่งที่โครงการรถไฟฟ้าชานเมือง มหาชัย-ปากท่อ อาจเกิดขึ้นได้ยากก็คือ เนื่องจากเจ้าของโครงการ คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็เคยพับแผนศึกษารถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย

อ้างผลการจัดทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่พบว่า ประชาชนไม่ตอบสนองและคัดค้านการก่อสร้าง ทำให้โครงการดังกล่าวจัดอยู่ใน “โครงการที่ไม่เร่งด่วนในการลงทุน” อาจจะไปอยู่ในช่วงท้ายๆ ของการพัฒนาแผนแม่บทระยะ 20 ปี

เรื่องนี้ทำเอาคนมหาชัยไม่พอใจอย่างมาก เพราะเป็นโครงการที่รอคอยมากว่า 20 ปี มีนักการเมืองหลายยุคหลายสมัยหยิบมาหาเสียงเลือกตั้ง ถึงขนาดมีภาคธุรกิจทนรอไม่ไหว เสนอให้ก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้ารางเบา (Tram) แทน

สุดท้ายกระทรวงคมนาคมต้องออกมาแก้ข่าวว่า จะดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มต่อไป ในปีงบประมาณ 2563 จ้างที่ปรึกษาทบทวนแบบรายละเอียดและจัดทำเอกสารประกวดราคา วงเงิน 90 ล้านบาท

โดยจะออกแบบในส่วนเฉพาะที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อาจจะปรับเป็นอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมต่อระหว่างหัวลำโพง ถึงวงเวียนใหญ่ก่อน จากนั้นจะก่อสร้างเป็นทางวิ่งระดับดินและยกระดับถึงมหาชัย

โครงการรถไฟฟ้าชานเมือง มหาชัย-ปากท่อ จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ นอกจากต้องรอปฏิกิริยาของคนในพื้นที่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านแล้ว ยังต้องรอให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง-มหาชัย เกิดขึ้นได้จริงเสียก่อน

โดยที่ยังไม่รู้ว่า ชาตินี้เราจะได้เห็นหรือไม่?

กิตตินันท์ นาคทอง

One Reply to “รถไฟฟ้าชานเมือง “มหาชัย-ปากท่อ” ไม่ง่าย “สายสีแดง” ยังไม่มา-คนพื้นที่ไม่เอาด้วย”

  1. Hello
    ผมขอปรึกษาแนวเส้นทางนี้ เพื่อผลักดันได้ไหม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *