ย้อนรอย “สถานีปากคลองสาน” ต้นกำเนิดรถไฟ “วงเวียนใหญ่ – มหาชัย”

สถานีรถไฟปากคลองสาน
ภาพจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

กิจการรถไฟในประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กรมรถไฟ” ขึ้นเป็นครั้งแรก สังกัดกระทรวงโยธาธิการ ในเดือนตุลาคม 2433

ต่อมาพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังสถานีรถไฟหลวงกรุงเทพ เมื่อ 26 มีนาคม 2439 เพื่อประกอบพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่างสถานีกรุงเทพ – สถานีกรุงเก่า (สถานีอยุธยา) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายกรุงเทพ – นครราชสีมา เส้นทางรถไฟหลวงสายแรกของไทย ก่อนจะเปิดให้ประชาชนได้เดินทางในอีกสองวันถัดมา โดยรถไฟสายกรุงเทพ – นครราชสีมา ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2443

การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ได้ถือเอาวันที่ 26 มีนาคม เป็น “วันสถาปนากิจการรถไฟ” สืบมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพิธีเปิดบริการ “รถไฟสายปากน้ำ” และเสด็จขึ้นประทับโดยสารขบวนรถไฟพระที่นั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ จากสถานีปากน้ำ – สถานีหัวลำโพง นับเป็นรถไฟสายแรกในประวัติศาสตร์ที่เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการ

ซึ่งรถไฟสายปากน้ำ ก่อสร้างและดําเนินการเดินรถไฟโดยเอกชน คือ “บริษัท รถไฟปากน้ำทุน จำกัด” หรือ “กอมปานีรถไฟ” มี พระยาชลยุทธโยธินทร์ (อังเดร เดอ ริเชอลิเออ) ชาวเดนมาร์ก และพระนิเทศชลธี (แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช) ชาวอังกฤษ เป็นผู้บริหารงาน ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2429 เป็นระยะเวลา 50 ปี  หลังสิ้นสุดสัมปทานในปี 2479 กรมรถไฟ ก็ได้นำเส้นทางดังกล่าวไปบริหารกิจการต่อ

ภายหลัง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2503 โดยให้รื้อทางรถไฟและถมคลองสร้างเป็นถนนพระราม 4 และถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำในปัจจุบัน

หลังจากการเปิดเดินรถไฟหลวง สายกรุงเทพ – นครราชสีมา และรถไฟเอกชนสายปากน้ำเป็นครั้งแรก ก็ได้มีการก่อสร้างทางรถไฟสายหลักของไทยหลายสายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ

หนึ่งในนั้นคือ  คือ “รถไฟสายท่าจีน” หรือ “สายมหาชัย” รถไฟเอกชนสายที่สองของไทย ซึ่งปัจจุบันคือรถไฟสายแม่กลอง

โดย “พระยาพิพัฒน์โกษา” (เซเลสติโน ซาเวียร์) ปลัดทูลฉลองกรมท่า (ปลัดกระทรวงต่างประเทศ) และชาวต่างประเทศถือหุ้นรวมกัน 11 คน ขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อสร้างและดำเนินกิจการรถไฟ เริ่มจากสถานีปากคลองสาน ฝั่งธนบุรี ถึงสถานีมหาชัย เมืองสมุทรสาคร ระยะทาง 33.1 กิโลเมตร

ภายใต้ชื่อ “บริษัท รถไฟท่าจีนทุน จำกัด” หรือ “บริษัทท่าจีนเรลเวกัมปนีลิมิเต็ดทุนจำกัด” โดยได้รับสัมปทานเดินรถตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2444 เป็นระยะเวลา 40 ปี

ภายหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดเส้นทางปากคลองสาน – มหาชัย เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2447 แล้วต่อมาได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเริ่มใช้บริการเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2447

ต่อมาการดําเนินงานของบริษัท รถไฟท่าจีนทุน จํากัด ประสบความสําเร็จด้วยดี จึงมีแนวคิดที่จะทําทางรถไฟอีกสาย คือ “สายแม่กลอง” จึงได้จัดตั้ง “บริษัท รถไฟแม่กลองทุน จํากัด” ขึ้น และได้รับสัมปทานเดินรถช่วงที่ 2 จากสถานีบ้านแหลม ที่อยู่ฝั่งท่าฉลอม ถึงสถานีแม่กลอง เมืองสมุทรสงคราม ระยะทาง 33.8 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2448 เป็นระยะเวลา 40 ปี

จากนั้น บริษัท รถไฟท่าจีนทุน จํากัด และบริษัท รถไฟแม่กลองทุน จํากัด ได้รับพระบรมราชานุญาตให้รวมเป็นบริษัทเดียวกัน ใช้ชื่อว่า บริษัท รถไฟแม่กลองทุน จํากัด เมื่อวันที 12 กรกฎาคม 2450 และเดินรถจนกระทั่งหมดสัมปทานในปี 2488 จึงได้ขายกิจการให้กับกรมรถไฟ แต่รวมเฉพาะหลักการเท่านั้น ส่วนการบริหารและวิธีดําเนินงานคงปฏิบัติตามเดิมต่อไป ภายใต้ “องค์กรรถไฟสายแม่กลอง”

ต่อมาเปลี่ยนสถานะเป็นสํานักงานรถไฟสายแม่กลอง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2495 และรวมเข้ากับการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที 1 กุมภาพันธ์ 2498

สถานีรถไฟมหาชัย พ.ศ. 2488
ขอขอบคุณภาพจากเพจ “ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย”

นับได้ว่า “สถานีปากคลองสาน” ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเดินทาง และการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพ กับสมุทรสาคร เปลี่ยนพื้นที่คลองสานให้กลายเป็นตลาดการค้าที่มีความเจริญมากยิ่งขึ้น

นอกจากจะเดินรถรับส่งผู้โดยสารระหว่างสองจังหวัดแล้ว ก็ยังบรรทุกสินค้าอาหารทะเลจำนวนมากจากสถานีมหาชัย นำไปส่งที่สถานีปากคลองสาน แล้วขนถ่ายไปยังท่าเรือคลองสานเพื่อนำไปจำหน่ายตามตลาดต่าง ๆ ในกรุงเทพ ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าก็จะนำผลไม้ต่าง ๆ ที่ปลูกอยู่ตามเรือกสวนในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ขึ้นรถไฟส่งกลับมาขายที่มหาชัย

นอกจากนี้ รถไฟเส้นทางปากคลองสาน – มหาชัย ยังมีความสำคัญในแง่ของประวัติศาสตร์ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินประทับรถไฟพระที่นั่งผ่านทางรถไฟสายนี้ เพื่อทรงทำพิธีเปิดถนนถวาย ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2448

และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ขณะทรงเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวสมุทรสาครด้วยขบวนรถไฟพระราชพาหนะ จากสถานีคลองสานเข้าเทียบสถานีมหาชัย เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2489

สถานีรถไฟปากคลองสาน

หลังจากเปิดให้บริการมากว่า 56 ปี สถานีปากคลองสาน ก็ถึงคราวอวสาน ตามรอยรถไฟสายปากน้ำ ซึ่งถูกยกเลิกเส้นทางมาก่อนหน้า

เนื่องจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2502 ให้ยกเลิกเส้นทางช่วงปากคลองสาน – วงเวียนใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาด้านการจราจร โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณา และเทศบาลนครธนบุรี มีความประสงค์ใช้ต้นทางเดิมสร้างเป็นถนนรถยนต์ระหว่างสถานีคลองสาน – ตลาดพลู ให้แล้วเสร็จโดยด่วน

กระทรวงมหาดไทย จึงเสนอให้กระทรวงคมนาคมแจ้งการรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาเรื่องดังกล่าว และนำเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2503 และมีมติให้ย้ายต้นทางรถไฟช่วงปากคลองสาน – มหาชัย ไปอยู่ที่สถานีตลาดพลู โดยให้การรถไฟฯ เลิกการเดินรถ รื้อถอนราง และมอบให้เทศบาลนครธนบุรี สร้างเป็นถนนรถยนต์

สถานีวงเวียนใหญ่ในปัจจุบัน

จากมติคณะรัฐมนตรีเดิม ที่ให้สถานีตลาดพลูเป็นสถานีต้นทางของรถไฟสายแม่กลองนั้น ปรากฎว่า ทางเข้า – ออกสถานีดังกล่าวคับแคบมาก และมีถนนสู่ตัวสถานีเพียงสายเดียว คือ ถนนเทอดไท ไม่สะดวกต่อการเดินทางต่อรถของผู้โดยสารรถไฟ

พล.ต.อ.ไสว ไสวแสนยากร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ในขณะนั้น ได้หาโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงปัญหาอุปสรรคข้อยุ่งยากต่าง ๆ พร้อมเสนอขอเปลี่ยนที่ตั้งสถานีต้นทางมาอยู่ริมฝั่งตะวันตกของถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่ ซึ่งมีรถรับจ้างสาธารณะพร้อมให้บริการ และมีรถประจำทางผ่านหลายสาย

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2503 ผู้ว่าการรถไฟฯ ได้เข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดและข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง และได้ลงมติให้ย้ายสถานีปากคลองสาน ไปตั้งอยู่ที่วงเวียนใหญ่ ตามที่ผู้ว่าการรถไฟฯ เสนอ โดยให้เริ่มลงมือดำเนินการอย่างเร่งด่วน

หลังจากทราบมติดังกล่าว การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้เร่งก่อสร้างชานชาลาชั่วคราวสถานีวงเวียนใหญ่ และใช้อาคารเดิมจำนวน 2 หลัง เป็นที่ทำการสถานีชั่วคราว รวมถึงยกเลิกการเดินรถช่วงสถานีคลองสาน – วงเวียนใหญ่ ทำให้ระยะทางลดลงเหลือ 31.22 กิโลเมตร

แล้วสถานีวงเวียนใหญ่ ก็ทำหน้าที่สถานีต้นทาง แทนสถานีปากคลองสาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2504 เป็นต้นมา

ส่วนทางรถไฟตั้งแต่สถานีปากคลองสานนั้น เป็นแนวถนนเจริญรัถ เชื่อมระหว่างถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินกับถนนเจริญนคร เดิมราดยางมะตอยทับรางรถไฟและไม้หมอนไว้ใต้พื้นถนน ภายหลังเมื่อมีรถยนต์วิ่งกันมากเข้า ยางมะตอยทรุดตัวลงไปตามไม้หมอนรถไฟเดิม จึงต้องรื้อรางรถไฟเก่าออก แล้วสร้างเป็นถนนคอนกรีต

ทางเข้า “คลองสานพลาซ่า” อดีตพื้นที่สถานีปากคลองสาน
บริเวณแยกเจริญนคร ด้านบนเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง

ด้วยสภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันสถานีปากคลองสานกลายเป็นตลาด “คลองสานพลาซ่า” แหล่งรวมอาหารและเสื้อผ้า ไม่เหลือเค้าโครงสถานีรถไฟในอดีต ถัดมาด้านในเป็นท่าเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างคลองสานกับสี่พระยา

ส่วนบริเวณถนนเจริญนคร กำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง ระยะที่ 1 เพื่อรองรับสถานที่สำคัญในย่านคลองสาน อาทิ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ สำนักงานเขตคลองสาน โรงพยาบาลตากสิน ฯลฯ ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2563

ถนนเจริญรัถ บริเวณปากทางถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน

ถนนเจริญรัถ ยังคงปรากฎร่องรอยว่าเคยเป็นทางรถไฟมาก่อน จากช่องตรงกลางพื้นผิวถนน และสภาพถนนที่แคบตามเขตทางรถไฟในอดีต มีรถโดยสารประจำทางสาย 57 เพียงสายเดียวที่วิ่งให้บริการตลอดทั้งสาย ปัจจุบันเป็นย่านร้านค้าวัสดุเครื่องหนังที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของตลาดวงเวียนใหญ่ และวิทยาลัยเทคโนโลยีมิตรพลบริหารธุรกิจ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2512

เส้นจราจรกึ่งกลางร่องพื้นถนนเจริญรัถ ซึ่งน่าจะเคยเป็นแนวของรางรถไฟมาก่อน

และนี่คือเรื่องราวของ “สถานีปากคลองสาน” และเส้นทางรถไฟที่ถูกแทนที่ด้วยถนน มาเป็นเวลากว่า 59 ปีแล้วในวันนี้

– กิตติกร นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *