มาตรา 44 ต่อลมหายใจยาแรง พ.ร.ก. ต่างด้าว ก่อนเศรษฐกิจสมุทรสาครพัง

ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ให้ 4 มาตราของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว ปี 2560 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

ระหว่างนี้ ให้นายจ้างและคนต่างด้าวเร่งดําเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตาม พ.ร.ก. คนต่างด้าว ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ใช้บังคับ และให้กระทรวงแรงงานแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ

นับเป็นการปลดล็อกความปั่นป่วน หลังเกิดปัญหานับตั้งแต่ พ.ร.ก. คนต่างด้าวฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา สร้างความวุ่นวายให้กับธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องขาดแรงงานต่างด้าวเหลานี้

โดยเฉพาะ 4 มาตราหลัก ได้แก่ มาตรา 101 ว่าด้วยการเอาผิดลูกจ้าง, มาตรา 102 ว่าด้วยการเอาผิดนายจ้างที่รับคนมาทำงานในอาชีพพิเศษบางอย่างโดยไม่ได้รับอนุญาต, มาตรา 119 ว่าด้วยการทำงานโดยไม่มีหนังสือแจ้งนายทะเบียน และ มาตรา 122 ว่าด้วยการรับคนที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงาน

นอกจากนี้ อัตราค่าธรรมที่สูงเกินเหตุ เฉพาะใบอนุญาตนำคนต่างด้าวทำงาน ฉบับละ 20,000 บาท การจ้างคนต่างด้าวรายละ 20,000 บาท รวมทั้งใบอนุญาตทำงาน ที่คิดฉบับละ 20,000 บาท เมื่อรวมกับกำหนดค่าปรับทั้งคนต่างด้าวและนายจ้าง ที่สูงตั้งแต่ 4-8 แสนบาท ทำให้เกิดสภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก

รัฐบาลอ้างว่า ต้องการป้องกันการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานผิดประเภท ถือเป็นพันธะสัญญาข้อตกลงร่วม 4 ประเทศ ในอาเซียน หลังจากที่ผ่านมารายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ที่ออกโดยสหรัฐอเมริกา ยังคงจัดอันดับให้ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 เป็นปีที่ 2 และประเทศไทยถูกเพ่งเล็งปัญหาค้ามนุษย์เป็นพิเศษ

แต่เสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีแรงงานต่างด้าวนับแสนคน แม้ผู้ประกอบการรายใหญ่จะไม่ค่อยมีปัญหา แต่กรรมจะไปตกอยู่กับเอสเอ็มอี หรือ ผู้ประกอบการขนาดกลางบางแห่ง จะมีปัญหาเรื่องเอกสารที่ทำให้กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

สุดท้ายก็ต้องปิดกิจการลง พร้อมกับเลิกจ้าง แรงงานส่วนหนึ่งก็ต้องเดินทางกลับประเทศ หนำซ้ำอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แรงงานต่างด้าวบางส่วนที่ถือบัตรสีชมพูจะหมดอายุลง ก็ต้องเดินทางกลับไปประเทศต้นทาง เพื่อเข้ามาใหม่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้แรงงานอีกส่วนหนึ่งหายไปอีก

ปัจจุบันจากผลกระทบของ พ.ร.ก. คนต่างด้าว ฉบับนี้ มีคนต่างด้าวออกนอกประเทศไปแล้วมากกว่า 6 หมื่นคน เฉพาะด่านแม่สอด-เมียวดี จ.ตาก มากถึง 2.2 หมื่นคน หนำซ้ำยังมีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนรีดส่วยจากแรงงานเหล่านี้ซ้ำเติมก่อนเข้าประเทศ จนผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี พม่า ส่งหนังสือร้องเรียนมาแล้ว

หลังจากมาตรา 44 ชะลอบังคับใช้กฎหมายออกไป พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน มอบหมายให้นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน แถลงรายละเอียดมาตรการต่างๆ พร้อมเชิญเชิญหน่วยงานต่างๆ มาร่วมเสวนาเกี่ยวกับเหตุผลการออก พ.ร.ก. บทลงโทษ ผลกระทบ และมาตรการบรรเทาผลกระทบ

ผลของการใช้ยาแรงแบบกะทันหัน ทำให้ภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน ได้รับความเสียหายกันถ้วนหน้า นอกจากการออกมาตรา 44 เพื่อยืดเวลาให้แล้ว ข้อเสนออื่นๆ จากภาคส่วนธุรกิจต่างๆ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณา เพราะที่ผ่านมาการออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ ประชาชนทุกภาคส่วนไม่เคยรู้หรือมีส่วนร่วมมาก่อนเลยแม้แต่นิดเดียว

นอกเสียจากว่า หากรัฐบาลไม่ได้ฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนจริง ผลที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างก็พังลงด้วยน้ำมือของรัฐบาลเอง

– กิตตินันท์ นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *